กลยุทธ์เอาตัวรอดในตลาด Red Ocean จาก 3 ผู้ประกอบการชั้นนำ งาน DSME 2024

กลยุทธ์เอาตัวรอดในตลาด Red Ocean จาก 3 ผู้ประกอบการชั้นนำ งาน DSME 2024

ในยุคที่ธุรกิจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวและการสร้างความแตกต่างเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่รอดและเติบโต บทความนี้จะพามาสรุปบทสัมภาษณ์ 3 ผู้ประกอบการได้แก่ คุณโธมัส พิเชียนทร์ หงษ์ภักดี Anitech, คุณก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน The Cloud, และคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CTC จากงาน DSME 2024 ใน Session: Red Ocean Strategy: Survive and Thrive Playbook ซึ่งทั้งสามท่านได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับความท้าทายที่ต้องเผชิญในตลาด Red Ocean และ กลยุทธ์การ เอาตัวรอดใน Red Ocean จะเป็นยังไงติดตามในบทความได้เลยครับ

คุณโธมัสกล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความโหดร้ายอันดับต้น ๆ เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงทั้งในด้านผู้ผลิตและผู้ขาย ปัจจุบันตลาดมีภาวะ Oversupply ผู้ผลิตมีจำนวนมากกว่าผู้ซื้อ ทำให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดในการแย่งชิงลูกค้า และความท้าทายไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาในระดับสากล เช่น การแข่งขันกับแบรนด์ต่างประเทศด้วยครับ

เอาตัวรอดใน Red Ocean

หนึ่งในปัญหาที่สำคัญคือการเข้ามาของสินค้าจากจีน ด้วยกำลังการผลิตที่มากและความต้องการภายในประเทศจีนลดลง ผู้ผลิตจีนจึงเลือกส่งออกมาที่ประเทศไทย เนื่องจากไทยมีชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมาก และเป็นตลาดที่เข้าถึงได้ง่าย ทำให้ Supply เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในขณะที่กำลังซื้อในไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่าง Supply และ Demand

คุณก้องบรรยายถึงสภาพของสื่อมวลชนในปัจจุบันประมาณว่า “สนุกมากเพราะมั่วซั่วมาก” สงครามในการแย่งชิงความสนใจของผู้บริโภคเกิดขึ้นแบบที่เราไม่รู้เลยว่าจะสู้กับใครดี เพราะคู่แข่งมาจากทุกทิศทาง จากที่เคยแข่งขันกับสื่อในหมวดหมู่เดียวกัน ปัจจุบันต้องแข่งขันกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพจบน Facebook, YouTuber หรือแม้แต่ TikToker

ทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์และแย่งชิงยอดวิวได้ ทำให้ยอดวิวกลายเป็นเหมือนสกุลเงินหลักของสื่อ และอะไรก็ตามที่แย่งเวลาจากจากผู้บริโภคไปจากสื่อ เช่น การถ่ายทอดสดกีฬา หรือคอนเสิร์ต ก็กลายมาเป็นคู่แข่งโดยตรง สื่อจึงต้องแข่งขันกับทุกอย่างที่ดึงความสนใจของผู้ชม

เอาตัวรอดใน Red Ocean

ดังนั้นสื่อจึงต้องหาแนวทางในการโฟกัสและค้นหา Value ของตัวเอง ต้องรู้ว่าอยากพูดอะไร และทำสิ่งนั้นให้แม่นยำและลึกซึ้ง การปรับตัวไม่เพียงแต่ในเนื้อหา แต่รวมถึงรูปแบบการนำเสนอ เช่น การขยายไปสู่อีเวนต์ สัมมนา และกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากนี้ การทำงานร่วมกับพันธมิตรกลายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการทำงานคนเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป

คุณเก่งได้จัดงาน Conference มาแล้วกว่า 15 ครั้ง ในช่วงแรก ๆ การแข่งขันยังไม่รุนแรงมาก แต่ปัจจุบันมีงานสัมมนาและ Conference เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลาย มากไปกว่านั้นความรู้และเนื้อหาที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของงานสัมมนา สามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านสื่อออนไลน์ เช่น YouTube

นอกจากผู้จัดงาน Conference อื่น ๆ สื่อและมีเดียต่าง ๆ เองก็กลายเป็นคู่แข่งในการนำเสนอคอนเทรนต์เนื้อหาเดียวกัน ทำให้ต้องหาจุดแข็งและความแตกต่างเพื่อดึงดูดผู้เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงาน Conference ก็ยังสามารถหาเนื้อหาเดียวกันได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ความนิยมในการเข้าร่วมงานลดลง

โฟกัสที่จุดแข็งและความถนัด

คุณโทมัสเน้นว่าการรู้จักจุดแข็งและความถนัดของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ จากที่เคยมีสินค้ากว่า 1,000 ชนิด แต่พบว่าการมีสินค้ามากเกินไปอาจไม่ใช่จุดแข็ง เพราะอาจทำให้ลูกค้าคิดว่าไม่ได้เก่งในสิ่งใดเลย จึงต้องกลับมามองว่า บริษัทถนัดและเชี่ยวชาญในด้านใด และโฟกัสที่สินค้าที่เป็นฮีโร่

3 เช็คลิสต์สินค้าที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้

  1. อัตรากำไรสูง (GP สูง): มีอัตรากำไรที่ดี ทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและมีกำไร
  2. ขายได้ในปริมาณมาก: มีความต้องการในตลาดสูง ทำให้สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง
  3. ต้นทุนการบริการต่ำ: สามารถประหยัดต้นทุนในการจัดการและบริการ ด้วยการอาศัย Economies of Scale

ควบคุมต้นทุนและปรับปรุงคุณภาพ

แม้การลดค่าใช้จ่ายจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่การลดคุณภาพหรือค่าจ้างพนักงานอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี คุณโธมัสแนะนำให้ควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นที่การปรับปรุงคุณภาพสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาสินค้าที่มีคุณภาพ

เข้าใจตลาดและผู้บริโภค

การศึกษาและเข้าใจความต้องการของตลาดเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อปรับตัวและเสนอสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยไม่เน้นการแข่งขันด้านราคาอย่างเดียว แต่สร้างความแตกต่างด้วยคุณภาพและการออกแบบ

โฟกัสและหา Value ของตัวเอง

ในสภาพที่คู่แข่งมากมาย คุณก้องแนะนำให้สื่อโฟกัสที่เนื้อหาที่ตนเองเชี่ยวชาญ และสร้าง Value ที่ชัดเจน ให้รู้ว่าอยากสื่อสารอะไร และทำสิ่งนั้นให้ลึกซึ้งและแตกต่าง การทำคอนเทนต์ที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

เอาตัวรอดใน Red Ocean

ปรับตัวในรูปแบบการนำเสนอ

การขยายรูปแบบการนำเสนอจากบทความไปสู่อีเวนต์ สัมมนา และกิจกรรมต่าง ๆ เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างความแตกต่างและเพิ่ม Value ให้กับเนื้อหา การนำเสนอในรูปแบบใหม่ ๆ จะช่วยดึงดูดผู้ชมและสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจ นอกจากนี้การทำงานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมช่วยเสริมความแข็งแกร่งและขยายขอบเขตการเข้าถึง การรวมกลุ่มคนที่เก่งและมีความสามารถมาทำงานร่วมกัน ทำให้งานที่สร้างขึ้นมีคุณภาพและน่าสนใจยิ่งขึ้น

มองที่ประโยชน์ของชุมชนและสังคม

คุณก้องเน้นว่าการมองที่ประโยชน์ของชุมชนและสังคมเป็นสิ่งสำคัญ เปลี่ยนจากการมองที่ ‘ฉัน’ เป็น ‘เรา’ และสร้างเนื้อหารวมไปถึงกิจกรรมที่มีความหมายและแก้ไขปัญหาที่ใหญ่กว่าของชมชุนมากกว่าจะเป็นของตัวเอง

โฟกัสที่ลูกค้าของตนเอง

คุณเก่งแนะนำให้โฟกัสที่ลูกค้าของตนเองเป็นหลัก คล้าย ๆ กับหลักการ Customer Centric เข้าใจความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้กับพวกเขา แทนที่จะมุ่งเน้นแต่การดึงลูกค้าจากคู่แข่ง การรักษาลูกค้าเดิมให้มีความภักดีเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากลูกค้าเหล่านี้รู้จักและไว้วางใจในแบรนด์อยู่แล้ว

เอาตัวรอดใน Red Ocean

สร้างความแตกต่างด้วยประสบการณ์ที่สดใหม่

เนื่องจากเนื้อหาและความรู้สามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านสื่อออนไลน์ การสร้างประสบการณ์ที่สดใหม่และไม่สามารถหาได้จากที่อื่นกลายเป็นจุดแข็งของงาน Conference เน้นความสนุก ความมีส่วนร่วม และการสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ดีให้กับผู้เข้าร่วมงาน

เน้น Emotional และ Function

เข้าใจว่าผู้บริโภค “ชอบ” เพราะ Emotional แต่ “รัก” เพราะ Function การสร้างสรรค์งานที่ตอบสนองทั้งสองด้านจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานกลับมาอีกครั้ง ตัวอย่างเช่น การนำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจควบคู่กับการจัดกิจกรรมที่มีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้จริง

สร้าง Wow Moment

การสร้างความประทับใจด้วยการเซอร์ไพรส์และการนำเสนอที่แตกต่าง ทำให้ผู้เข้าร่วมงานรู้สึก ‘ว้าว’ และจดจำงานได้ นี่เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และทำให้ผู้เข้าร่วมงานมีประสบการณ์ที่น่าจดจำ

ขอบคุณภาพจาก Shutterstock (AI Generator Prompt: A small SME boat navigating through turbulent red seas with towering waves and sharks circling around, symbolizing survival in a highly competitive market. A light glows on the horizon, representing hope and new opportunities.)

ทั้งสามคนได้แชร์ประสบการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาในตลาด Red Ocean ที่พวกเค้าเผชิญ แม้จะมาจากอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน แต่หลักการที่ใช้มีความคล้ายคลึงกันครับ เช่น

  • การรู้จักจุดแข็งและความถนัดของตนเอง: โฟกัสที่สิ่งที่ทำได้ดีและสร้างความแตกต่าง ไม่พยายามทำทุกอย่าง แต่เลือกทำสิ่งที่มีศักยภาพสูง
  • การปรับตัวและสร้างสรรค์: ปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด และความต้องการของผู้บริโภค
  • การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและชุมชน: มองที่ประโยชน์ของลูกค้าและสังคม เพื่อสร้างความยั่งยืนและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น
  • การทำงานร่วมกับพันธมิตร: การร่วมมือกับผู้อื่นช่วยเสริมความแข็งแกร่งและขยายขอบเขตการเข้าถึง รวมถึงการแบ่งปันทรัพยากรและความรู้

การเผชิญหน้ากับ Red Ocean ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความเข้าใจตลาด การปรับตัว และการสร้างความแตกต่าง ธุรกิจก็สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในสภาวะที่มีการแข่งขันรุนแรง ความสำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่นำเสนอ

การปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพและการมุ่งเน้นที่คุณภาพจะช่วยให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดได้ในตลาดที่เต็มไปด้วยความท้าทาย การร่วมมือและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีทั้งภายในและภายนอกองค์กรจะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในระยะยาวครับ

บทความที่แนะนำให้อ่านต่อ

Tlee Krit

ชื่อเติ้ลครับ ทำงานเป็น Data Research Insight & Marketing Content Creator แห่งการตลาดวันละตอนครับ ^^

One thought on “กลยุทธ์เอาตัวรอดในตลาด Red Ocean จาก 3 ผู้ประกอบการชั้นนำ งาน DSME 2024

  1. อยากเป็นนักการตลาดชื่อดัง says:

    เนื้อหาเน้นๆ ขอบคุณครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *