สรุป Inbound Marketing Trends 2025 ทำยังไงให้ลูกค้าเดินมาหาเราเอง

สรุป Inbound Marketing Trends 2025 ทำยังไงให้ลูกค้าเดินมาหาเราเอง

ปัจจุบันในทุกอุตสาหกรรมของธุรกิจต่างก็มีการแข่งขัน แถมคู่แข่งก็มาจากทุกทิศทุกทาง ทำให้ธุรกิจต้องพยายามที่จะดึงความสนใจของผู้บริโภคและเปลี่ยนเขาเหล่านี้ให้กลายเป็นลูกค้า ซึ่งวิธีการที่เราเห็นกันบ่อยก็คงหนีไม่พ้นการโฆษณา (Advertising) แต่ในยุคนี้มันเริ่มไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ในบทความนี้เลยจะสรุป Inbound Marketing Trends 2025 กลยุทธ์ที่จะทำให้ลูกค้าเดินมาหาธุรกิจด้วยตัวเอง จากงาน MITCON2024

โดยผู้ที่มาแชร์ความรู้ใน Session นี้ก็คือคุณ ชญาตา พรหมใจรักษ์ จาก Content Shifu นั่นเองครับ โดย Inbound Marketing หรือการตลาดแบบดึงดูด เป็นการที่มุ่งเน้นการส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระยะยาว แทนที่จะพยายามขายสินค้าอย่างตรง ๆ ซึ่งแตกต่างจากการตลาดแบบ Outbound ที่เป็นการผลักสินค้าหรือบริการไปหาลูกค้าโดยตรง 

ต้องบอกว่าคนเราไม่ชอบถูกขายตรง ๆ แต่ชอบซื้อในเวลาที่พร้อม และไม่ต้องการถูกกดดันในการตัดสินใจ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การที่เราเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้า ถ้ามีพนักงานขายเดินเข้ามาแนะนำสินค้าโดยทันทีและติดตามอย่างใกล้ชิด เราก็มักจะรู้สึกไม่สบายใจและอาจออกจากร้านไปโดยไม่ได้ซื้ออะไร ในทางกลับกัน หากพนักงานปล่อยให้เราได้เลือกดูสินค้าเองก่อนแล้วค่อยให้คำแนะนำเมื่อเราต้องการ ความรู้สึกในการซื้อสินค้าจะดีขึ้นและเรามักจะทำการซื้อมากกว่า

ปัจจุบัน Inbound Marketing กลายเป็นแนวทางที่สำคัญมากขึ้นในยุคปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันการตลาดแบบดึงลูกค้าเข้ามา คือประสิทธิภาพของโฆษณาแบบดั้งเดิม หรือ Outbound ที่ลดลง

ในยุคที่โฆษณามีอยู่ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่เท่าเดิมคือ “ความสนใจ” ของลูกค้า ทำให้โฆษณากลายเป็นสิ่งที่มีมากเกินไปและผู้คนเริ่มไม่สนใจมันมากเท่าเดิม และค่าใช้จ่ายในการโฆษณาก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหมือนกัน 

70% ของลูกค้า ชอบเรียนรู้และให้ความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์จากคอนเทนต์ (Content) มากกว่าการโฆษณา ต้องการข้อมูลก่อนที่จะตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์นี้ก็เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการความเชื่อถือและใช้เวลาตัดสินใจในการซื้อนาน (High-Involvement or B2B)  เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงและต้องการข้อมูลก่อนการตัดสินใจนั่นเองครับ

กระบวนการของ Inbound Marketing ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ๆ คือ

  • Attract: ดึงดูดคนแปลกหน้า (Strangers) ให้มาเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สนใจแบรนด์ ผ่านการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่า เช่น บทความ บล็อก วิดีโอ โซเชียลมีเดีย และการทำ SEO จนคนเหล่านั้นกลายมาเป็นลูกค้าที่มุ่งหวัง (Prospect)
  • Engage: สร้างความสัมพันธ์และสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าที่มุ่งหวัง เช่น การตอบคำถาม การให้ข้อมูลผ่านอีเมล หรือใช้ระบบ Marketing Automation เพื่อช่วยให้การส่งข้อมูลอัตโนมัติมีความเหมาะสม จากลูกค้าที่มุ่งหวังกลายเป็นลูกค้า (Customer)
  • Delight: มอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าหลังจากที่พวกเขาได้ทำการซื้อแล้ว ผ่านบริการหลังการขาย การติดตามผล และการสนับสนุน เช่น การใช้ Chatbot ในการช่วยเหลือลูกค้าอย่างรวดเร็ว หรือมีทีม Support ให้บริการหลังการขาย จนนำมาสู่การบอกต่อ (Promoter)

#AI-Powered Personalization

การนำ AI เข้ามาช่วยในการสร้างคอนเทนต์และประสบการณ์เฉพาะบุคคลมากขึ้น (Personalization) โดยเฉพาะในด้านการแนะนำสินค้าหรือบริการที่ตรงกับความสนใจของลูกค้าแต่ละราย ซึ่ง Generative AI มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าและสร้างเนื้อหาที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว 

Inbound Marketing

ตัวอย่างเช่น Netflix ที่ใช้ AI ในการแนะนำคอนเทนต์ (recommendation engine) ที่ตรงกับความสนใจของผู้ใช้ โดยจะวิเคราะห์พฤติกรรมการดูของผู้ใช้แต่ละคนและสร้างหน้าโฮมที่ไม่เหมือนกัน ซึ่ง 80% ของกิจกรรมบน Netflix เกิดจากการที่ AI แนะนำคอนเทนต์ให้ผู้ใช้ ซึ่งช่วยเพิ่ม Engagement และลดอัตราการยกเลิกสมาชิก (churn rate) 

Epsilon มีสถิติว่า 80% ของผู้บริโภคชอบที่จะซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มอบประสบการณ์เฉพาะบุคคล (Personalized Experience) เพราะผู้บริโภคจะรู้สึกว่าแบรนด์รู้จักพวกเขาและเข้าใจความต้องการ

#Visual Search Optimization 

การใช้ Google Lens ค้นหาสินค้ามากกว่า 12,000 ล้านครั้งของทุก ๆ เดือนในปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า Visual Search กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น

การค้นหาด้วยภาพ (Visual Search) ที่สามารถค้นหาข้อมูลสินค้าโดยใช้รูปภาพ ซึ่งสิ่งที่นักการตลาดต้องทำคือการปรับแต่งภาพให้เหมาะสมและทำ SEO สำหรับภาพ เช่น การตั้งชื่อไฟล์ที่เกี่ยวข้อง การใช้ Alt Text และการใส่ Metadata ที่ถูกต้องเพื่อให้ระบบค้นหาสามารถเข้าใจเนื้อหาของภาพได้ดีขึ้น

#Conversational Marketing และ Chatbots

การใช้ Chatbot ที่มี AI ในการตอบคำถามและให้บริการลูกค้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยเพิ่ม Conversion Rate และลดระยะเวลาการตอบคำถามของลูกค้า ยิ่งไปกว่านั้น Chatbot ยังสามารถถูกปรับแต่งให้มีการสนทนาที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น

Inbound Marketing

Hubspot เผยว่า Chatbot สามารถเพิ่มอัตราการแปลงผู้เข้าชมเว็บไซต์ (Conversion Rate) ได้ถึง 20% และลดเวลาการตอบคำถามลูกค้า (Lead Response Time) ได้ 50%

#Content Atomization

การแบ่งคอนเทนต์หลักให้เป็นคอนเทนต์ซอยย่อยหรือเรียกว่า Repurpose และเผยแพร่บนแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการเสพสื่อของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เช่น การทำบทความยาวให้กลายเป็นวิดีโอสั้นสำหรับโซเชียลมีเดีย เช่น TikTok, Instagram หรือ YouTube Short

Inbound Marketing

ตัวอย่างเช่น Mission to the Moon ที่นำเสนอคอนเทนต์หลายรูปแบบและหลายแพลตฟอร์ม เช่น การทำ Podcast ผ่าน Facebook, YouTube, และเว็บไซต์ อีกทั้งยังตัดคอนเทนต์เป็นวิดีโอสั้น ๆ สำหรับ TikTok และ Instagram เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่มีพฤติกรรมเสพสื่อต่างกัน ทำให้คอนเทนต์เข้าถึงผู้คนหลากหลายและเพิ่ม Engagement ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

#Voice Search Optimization

การเพิ่มประสิทธิภาพของคอนเทนต์ให้รองรับการค้นหาด้วยเสียง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การที่ผู้คนใช้ Google Assistant หรือ Alexa ในการค้นหาข้อมูล ซึ่งการปรับคอนเทนต์ให้เป็นภาษาพูดที่ธรรมชาติมากขึ้นจะช่วยให้ระบบค้นหาได้ดีขึ้น

ตัวอย่างเช่น Domino’s ที่พัฒนาการใช้ Voice Search ผสานการทำงานร่วมกับ Google Assistant และ Alexa เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งพิซซ่าผ่านคำสั่งเสียง เช่น “Ask Google to place my Domino’s order” ซึ่งช่วยให้กระบวนการสั่งซื้อสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

#Community-Based Marketing

การสร้างชุมชนของผู้ที่สนใจในแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ เช่น การจัดงานพบปะ (Meetup) หรือการสร้าง Online Community ที่ให้กลุ่มผู้ใช้สามารถเข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและคำแนะนำ ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าและสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งมากขึ้น

สรุปทิ้งท้าย “Attract, Not Annoy. So they come to you with joy.” ในการทำ Inbound Marketing ถ้าเราสามารถสร้างและส่งมอบคุณค่าได้ถูกที่ ถูกเวลา และส่งไปยังคนที่ใช่จริง ๆ มันจะต้องนำมาซึ่งผลลัพธ์ทางธุรกิจบางอย่างด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมาก เพราะในโลกของธุรกิจมีให้ก็ต้องมีรับ เพราะถ้าให้อย่างเดียว ธุรกิจก็คงไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั่นเองครับ

อ่านบทความเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่

Panuwit Payawang

สวัสดีครับ ชื่อดิวนะครับ จะพยายามนอนให้ครบ 8 ชั่วโมง เพื่อที่จะได้เขียนบทความดี ๆ ให้กับทุกคนครับ *_*

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *