สรุป Curate the captivate content คิดคอนเทนต์ยังไงให้นั่งอยู่ในใจคนดู

สรุป Curate the captivate content คิดคอนเทนต์ยังไงให้นั่งอยู่ในใจคนดู

ในงาน HACKaTHAILAND นอกจากการบรรยายของพี่หนุ่ย การตลาดวันละตอนแล้ว เบสยังได้มีโอกาสฟังการบรรยายของ พี่เก่ง สิทธิพงศ์ จาก Creativetalk ผู้มากประสบการณ์ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์อย่างโชกโชน โดยหัวข้อในการบรรยายของพี่เก่งมีชื่อว่า Curate the captivate content คิดยังไงให้นั่งอยู่ในใจคนดู

เป็นการแนะแนวการเริ่มต้นการทำคอนเทนต์ที่เบสคิดว่า สามารถเป็นทั้งพื้นฐานที่ดี แถมยังสามารถนำไปต่อยอดจากสิ่งที่พี่หนุ่ยแนะนำในคอนเทนต์สรุปก่อนหน้านี้ ได้อย่างน่าสนใจมากเลยครับ

เนื้อหาหลักของ Session พี่เก่งจะเล่าโดยใช้ 4 เรื่องที่ทุกคนควรรู้ในการทำคอนเทนต์ เพื่อให้ทุกคนสามารถทำความเข้าใจสำหรับการนำไปวางกลยุทธ์และการสร้างสรรค์คอนเทนต์ในรูปแบบของตัวเองได้ง่ายมากขึ้นครับ

Curate the captivate content คิดคอนเทนต์ยังไงให้นั่งอยู่ในใจคนดู จาก HACKaTHAILAND : 4 เรื่องที่ควรรู้ในการทำคอนเทนต์

1.รู้จัก Platform

แต่ละ Media Platform ต่างก็มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบของสื่อในการสื่อสาร, อัลกอริทึมในการ Feed คอนเทนต์, พฤติกรรมการการใช้ Platform ของ User, การให้คุณค่าเรื่องต่าง ๆ ของ Community ใน Platform และอื่น ๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างมีผลอย่างมากต่อการสร้างคอนเทนต์ของเราครับ

เพราะการที่เราเข้าใจ Platform ตั้งแต่ต้นว่าเป็นยังไง จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจและวางแผนการสร้างคอนเทนต์ออกมาได้ว่า จะทำมันออกมาในรูปแบบไหน ในแนวทางใด ถึงจะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดกลับมาให้กับเราได้

ดังนั้นก่อนที่เราจะเริ่มทำคอนเทนต์ เราจะต้องเข้าใจลักษณะที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละ Platform แล้วเลือก Platform ที่ตอบโจทย์สิ่งที่เรากำลังจะทำมากที่สุด นั่นคือ การที่ Platform นั้น มีกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจและพฤติกรรมการเสพสื่อ ที่ตรงกันกับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร

จากนั้นก็เพียงแค่สร้างคอนเทนต์ที่เข้ากับ Platform และตอบโจทย์กับพฤติกรรของพวกเขาให้มากที่สุด

ภาพประกอบจาก seodesignchicago.com

ยกตัวอย่างเช่น

Facebook ที่มีสื่อที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งแบบภาพ วิดีโอ ตัวหนังสือ และมุ่งเน้นในเรื่องของการแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ที่ (ดูเหมือน) เป็นการให้ User ได้รับข้อมูลอย่างกว้าง ๆ ตาม Community และความสนใจของแต่ละคน ซึ่งหากเป็นยุคแรกเริ่มของโลก Digital ก็คงจะบอกได้ว่านี่คือ Platform ที่เป็นที่นิยมที่สุดของทุกเพศทุกวัยก็ว่าได้

เพียงแต่ ณ ปัจจุบัน มีข้อมูลออกมาแล้วว่า User ที่ Active จริง ๆ ใน Platform นี้ ส่วนใหญ่จะค่อนข้างเป็นพื้นที่ของคนช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไปเป็นหลักแล้วครับ แม้ว่าข้อมูลทางสถิติแล้วจะมี Account ของคนอายุน้อยอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม

เพราะในความเป็นจริงแล้วคนอายุน้อยมีการใช้เวลากับ Platform นี้ค่อนข้างน้อยมาก

ดังนั้นหากเรากำลังต้องการที่จะสื่อสารด้วยคอนเทนต์ที่มีประเด็นที่พูดคุยกับคนวัย 35 ปีขึ้นไป การใช้ Facebook ก็ยังคงเป็น Platform ที่น่าสนใจอยู่ครับ ซึ่งเราก็สามารถร่ายรำการสร้างคอนเทนต์ได้อย่างหลากหลาย

ซึ่งเบสมองว่า เราอาจจะเน้นไปที่ Context เป็นประเด็นหลักมาก่อนแล้วขยายเป็นสื่อหลากหลายรูปแบบก็ได้ครับ

หรือจะเป็น TikTok น้องใหม่มาแรงแซงทุกทางโค้ง ที่เน้น Short-Video ที่เนื้อหากระชับเสพง่าย มีอัลกอริทึมในการ Feed คอนเทนต์มาให้อย่างน่าสนใจจนน่าตกใจเมื่อมันรู้จักเราดีพอ ไถ 10 ทีได้รู้ได้เสพ 10 อย่าง ภายในเวลาไม่กี่นาที เป็นความสะดวกสบายที่ Variety มาก ๆ สำหรับยุคสมัยนี้

การทำงานของ Tiktok จะต่างจาก Facebook อย่างสิ้นเชิง เพราะคอนเทนต์จะเป็นการที่ Platform ส่งมาให้เองเลย โดยที่ไม่ต้องไป Connect กับ Community ใน Platform ก่อน ซึ่ง User ก็สามารถเสพคอนเทนต์นั้นได้เรื่อย ๆ แบบ Unlimited Entertainment

ซึ่งคอนเทนต์ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างมากใน TikTok คือ คอนเทนต์แนวตลก สนุกสนาน ที่ให้ความบันเทิงแก่ User และด้วยความใหม่และมีความหลากหลายนี้เองก็ไปถูกจริตกับเด็กรุ่นใหม่ ตั้งแต่ ปลาย Gen Y, Gen Z โดยเฉพาะใน Gen Alpha อย่างมาก

หมายความว่า หากเราต้องการทำคอนเทนต์ที่สื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ การเลือกใช้ TikTok ก็เป็นคำตอบที่ดีที่สุดในเวลานี้ ซึ่งความท้าทายที่เราจะต้องเจอคือการสร้างคอนเทนต์ที่นอกจากจะสามารถสื่อสารสิ่งที่เราต้องการสื่อได้แล้ว จะทำอย่างไรให้ User รู้สึกได้รับความบันเทิงไปด้วย และยินดีที่จะดูคอนเทนต์ของเราต่อไปด้วย

2.รู้จักตัวเอง

เบสเข้าใจว่าในความหมายของพี่เก่ง เราอาจจะต้องรู้จักทั้ง 4 อย่างที่บทความนี้กำลังจะเราไปพร้อม ๆ กันนั่นแหละ เราถึงจะสามารถทำคอนเทนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้

แต่ถ้าหากมันจะช่วยให้ทุกคนสามารถวาง Process ในการทำคอนเทนต์ของตัวเองได้อย่างง่ายดายและดีต่อตัวเราเองมากที่สุด เบสมองว่า ‘การรู้จักตัวเอง’ เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างคอนเทนต์ที่สำคัญที่สุดเลยครับ เผลอ ๆ อาจจะต้อง Crack เรื่องนี้ให้แตกก่อนเรื่องอื่นเลยด้วย

ในข้อนี้พี่เก่งได้แชร์เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้จากการพูดคุยกับพี่แบงค์ จาก Content Shifu อีกทีแบบแชร์ในแชร์ (ฮา) ครับว่า หัวใจการทำคอนเทนต์ให้ประสบความสำเร็จ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

ความสม่ำเสมอ, คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และความถี่

ความสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยให้เรามีคอนเทนต์ปล่อยออกมาให้ Platform ผลักดันเราไปยัง User แล้ว ยังช่วยทำให้ User รู้ว่าจะได้เสพคอนเทนต์ของเราอีกทีเมื่อไรด้วย ซึ่งการที่เรามี คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ก็จะช่วยดึงดูดให้คนเหล่านั้นถูกใจ และมีโอกาสจะแชร์ให้คนอื่น ๆ ได้รู้จักเรามากขึ้นด้วย

นอกจากนั้นแล้วหากเราต้องการที่จะขยาย Performance ของเราให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น การเพิ่มความถี่ของการปล่อยคอนเทนต์ให้มากขึ้น ก็จะเข้ามาช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการสื่อสารของเราได้อย่างดี

ทั้ง 3 เรื่อง มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ และช่วยกันส่งเสริมทั้งในเชิงเทคนิคของ Platform และการเสพสื่อของ User ได้อย่างดี ที่จะต้องถูกรักษาและทำให้เป็นอย่างนั้นอยู่เสมอ

จุดสังเกตที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เวลาที่จะเริ่มต้นทำคอนเทนต์ มักจะเริ่มจากการมองหาคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมมาก ๆ แล้วก็พาตัวเองไปทำคอนเทนต์ในรูปแบบเหล่านั้น เพื่อคาดหวังว่าจะได้รับความนิยมเช่นเดียวกันไปด้วย

ซึ่งจริง ๆ แล้วการเริ่มต้นก็ไม่มีถูกหรือผิดอะไรครับ เพียงแต่ว่า นั่นอาจกลายเป็นจุดที่ทำให้เราไม่สามารถทำคอนเทนต์ได้อย่างยั่งยืนก็ได้ครับ ดูได้จาก Content Creator หลายคนที่เพิ่งเริ่มต้นได้มานาน ต่างก็ล้มหายตายจากกันไป บ้างก็กลับมาได้ บ้างก็หายชนิดที่ว่าแฟนคลับรอเก้อกันเลยทีเดียว

และเหตุผลที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า อะไรที่เราไม่ได้ชอบ อะไรที่เราไม่ได้อิน มาตั้งแต่ต้นท้ายที่สุดแล้วก็จะมาถึงจุดที่เราทำต่อไม่ไหวแล้วอยู่ดีครับ พอเราไม่ได้ชอบ เราก็จะไม่รู้ พอไม่รู้ก็จะเริ่มรู้สึกว่ามันยาก พอมันยาก ก็แทบจะหมดพลังที่จะเริ่มต้นสร้างคอนเทนต์นั้น ๆ ต่อไป

นี่คือ จุดย้อนแย้งที่เกิดขึ้นที่หลายคนมักจะพลาดไปเลยครับ

ดังนั้นหากเราต้องการทำให้มันยังยื่นจริง ๆ และจะช่วยส่งเสริมการทำคอนเทนต์ของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด มีคุณค่าต่อตัวเราและคนเสพคอนเทนต์ของเรา

การรู้จักตัวเอง ว่า เราสนใจอะไร เราถนัดเรื่องไหน เราทำอะไรได้ดี เราชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร แล้ววางเนื้อหาที่เราอยากจะสื่อสารให้ตรงกับสิ่งที่เราสนใจตั้งแต่ต้น จะช่วยส่งเสริมให้การทำคอนเทนต์ของเราได้อย่างดี

นอกจากจะมีคุณภาพแล้ว ยังสามารถทำอย่างสม่ำเสมอได้ และมีโอกาสที่เราจะสามารถกระตุ้น Performance ให้เกิดความถี่ได้ง่ายมากขึ้นด้วย หาจุดสิ่งนั้นให้เจอแล้วเราจะนำไปปรับกับ Platform ไหน คนดูแบบใด เทคนิคแบบไหนก็จะไม่ยากเย็นจนเกินมือเราเลย

3.รู้จักคนดู

แม้ว่าเราจะรู้จักตัวเองแล้ว รู้ว่าจะทำคอนเทนต์แบบไหน ใน Platform แบบใดแล้ว เท่านั้นก็อาจจะยังไม่พอที่จะทำให้คอนเทนต์ของเรามี Performance ที่ดี เพราะในบางที่ คอนเทนต์ที่เรามองนั้น อาจจะยังเป็นประเด็นกว้าง ๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนและเฉพาะตัวมากพอที่จะดึงดูดให้ User หันมาสนใจเราได้มากขนาดนั้น

พี่เก่งได้ยกตัวอย่างว่า สมมุติว่าเรากำลังทำคอนเทนต์เชิงท่องเที่ยว การพูดถึงการท่องเที่ยว เป็นอะไรที่ค่อนข้างกว้างมากและมีหลายรูปแบบมาก ๆ เลยใช่มั้ยล่ะครับ

จะดีกว่ามั้ยถ้าเกิดว่าเราทำให้ การท่องเที่ยวนั้น มีความชัดเจนมากขึ้น มีความหมายที่แคบลงที่สามารถสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า นี่คือการท่องเที่ยวแบบไหน

เพราะว่า User สมัยนี้ทุกคนต่างมีพฤติกรรมที่มีความเฉพาะเจาะจงและตามหาสื่อที่ตรงจริตและความพอใจของตนเอง มากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แล้วพวกเขามีอำนาจในการเลือกเสพอย่างอิสระอยู่ในมือ

หมายความว่า ยิ่งเราสามารถทำให้คอนเทนต์ของเรา Niche (แคบลง) มากเท่าไร  จะช่วยส่งเสริมให้เรามีจุดเด่น มีความแตกต่าง และยิ่งมีความชัดเจนในคอนเทนต์ของเรามากขึ้น กลุ่มผู้ชมที่ตรงกับจริตของเราจะหลั่งไหลเข้ามาเอง

ส่วนตัวเบสมองว่า ตรงนี้จะเป็นครึ่งทางระหว่างการทำสื่งที่เราชอบจริง ๆ กับ ความต้องการของ User เหมือน Demand Supply แหละครับ เราต้องหาจุดสมดุลของมันให้ดี

4.รู้จักเทคนิค

ส่วนเสริมที่จะช่วยให้เราสามารถทำคอนเทนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากการที่เราจะทำได้อย่างตอบโจทย์ตัวเราเองและผู้บริโภคแล้ว การมีเทคนิคพิเศษจะเข้ามาช่วยให้คอนเทนต์คุณภาพของเรามีความน่าสนใจมากขึ้นและได้รับการตอบรับที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกมากเลยครับ

เบสคิดว่า เรื่องนี้จะค่อนข้างเชื่อมโยงกับข้อ 3. คือ เราจะต้องรู้และจับจุดให้ได้ว่า พฤติกรรมของ User นั้น ความต้องการพื้นฐานของพวกเขาต่อเรา หรือ สินค้าของเราคืออะไร สิ่งใดเป็น WoW Factor ที่ทำให้พวกเขาหันมาสนใจเราได้จากนั้นแล้วเราจะต้องหาเทคนิค หรือ กลยุทธ์ที่จะมาตอบสนองต่อสิ่งนั้น

เท่าที่เบสจับใจความได้พี่เก่งได้แชร์ 2 เทคนิคให้ทุกคนลองนำไปใช้ในการสร้างคอนเทนต์ของตัวเองดูครับ

เรื่องแรกเป็นเรื่องที่เรียบง่ายที่เบสคิดว่าหลายคนอาจจะรู้อยู่แล้วอย่าง Storytelling ที่เบสอาจจะขออนุญาตดัดแปลงและเสริมเพิ่มเติมจากที่พี่เก่งบรรยายเพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพมากขึ้นนะครับ

เบสคิดว่าหลายคนอาจจะยังเข้าใจผิดอยู่กับเรื่องนี้ แล้วคิดแค่ว่า เทคนิคนี้เป็นแค่เรื่องของการสร้างเรื่องราวขึ้นมาให้เป็นเรื่องเล่าให้ดูมีอะไรมากขึ้นเฉย ๆ แต่จริง ๆ แล้วเทคนิคนี้มีความลึกซึ้งกว่านั้นมากถ้าเราอยากใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างร้านอาหาร 2 ร้าน

ร้าน A เป็นร้านอาหารจีน สภาพร้านเป็นห้องแถวที่มีโต๊ะสแตนเลสหลาย ๆ ตัว กับเครื่องปรุงขวดพลาสติกที่เห็นได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป คนขายเป็นคุณลุงชาวจีน ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมากับเตี่ยที่เป็นรุ่นแรกของร้านอาหารนี้ ด้วยสูตรอาหารที่เป็นสูตรพิเศษประจำตระกูล ทำให้ร้านอาหารจีนร้านนี้มีรสชาติที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร

ร้านอาหาร B เป็นร้านอาหารจีนเหมือนกัน แต่เป็นห้องแถวที่มีโต๊ะไม้และข้าวของเครื่องใช้ที่สะท้อนความเป็นวัฒนธรรมจีนสมัยก่อน คนขายเป็นคุณลุงชาวจีนที่รับช่วงต่อมาจากเตี่ยเหมือนกัน อาหารทุกจานที่คุณลุงตั้งใจทำ คัดสรรยันวัตถุดิบเป็นอย่างดี ตั้งแต่ข้าวสวยที่เป็นข้าวสวยต้นฤดูที่ให้ความนุ่มและความหอมเฉพาะตัวของข้าว

ทุกเช้าตอนตี 5 ของทุกวัน ใครที่เดินผ่านหน้าร้านจะเห็นคุณลุงยืนเคี่ยวน้ำซุปสูตรพิเศษประจำร้านที่มีส่วนผสมพิเศษที่จะให้กลิ่นหอมละมุนไปทั่วทั้งซอย รสชาติของซุปนี้จะสร้างความสดชื่นก่อนเริ่มต้นทานอาหารในร้าน และที่สำคัญคือให้ลูกค้าทุกคนได้ทานฟรี

ระหว่างร้านอาหาร A และ B ที่มีเรื่องเล่าทั้งคู่ ทุกคนคิดว่าร้านไหนน่าสนใจมากกว่ากันครับ ?

เบสค่อนข้างมั่นใจว่าส่วนจะตอบไปที่ B ซึ่งทุกคนก็อาจจะเกิดคำถามว่า เออว่ะ ทำไมล่ะเนี่ย เหมือนตอนที่เบสได้เรียนรู้เรื่องนี้ครั้งแรกเหมือนกันครับ

สาเหตุก็เพราะว่า Storytelling ไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างเรื่องราวแค่อย่างเดียวครับ แต่ยังเป็นเรื่องของการสร้างเรื่องราวให้เชื่อมโยงและตอบสนองต่อ ประสาทสัมผัสทั้ง 5ของคนเราด้วย

ได้แก่ การสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน กลิ่น และรสสัมผัส ที่ส่งต่อให้เราเกิดความรู้สึกบางอย่างต่อเรื่องราวเหล่านั้น

การถูกทำให้รู้สึกจับต้องได้ เห็นภาพว่าเรื่องราวนั้นเป็นอย่างไร การถูกทำให้เกิดจินตนาการสัมผัสได้ถึงบรรยากาศ กลิ่นของข้าวที่หอมละมุน กลิ่นของน้ำซุปหอม ๆ รสสัมผัสที่เคยได้รับในความทรงจำ ทั้งหมดนั้นที่อยู่ภายในตัวเราถูกทำให้เชื่อมต่อกับเรื่องราวของร้านอาหาร B อย่างแนบเนียนเลย

เรื่องที่ 2 จะเป็นการพูดถึง Experience Design ที่เป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับเพิ่มเติมที่ตอบสนองต่อ WoW Factor,ความสนใจของลูกค้า ไปจนถึงกิจกรรมที่ลูกค้ากำลังให้ความนิยม

พี่เก่งให้ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดมากคือ ยุคนี้เป็นยุคของการถ่ายวิดีโอครับ ไม่ว่าจะเป็นแบบสั้น หรือ แบบยาว เวลาที่คนเราอยู่ ณ ช่วงเวลาใดที่ตัวเองรู้สึกประทับใจ แล้วอย่างเก็บความทรงจำไว้ทุกคนจะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแล้วถ่ายมันเอาไว้

อาจจะลง Ig Story โพสต์ใน Facebook หรือเก็บไว้สร้างคอนเทนต์ให้น่าสนใจมากขึ้นใน TikTok ของตัวเองต่อก็ดี

หากเราสังเกตจะเริ่มมีสิ่งที่ร้านอาหารหลายร้านเริ่มปรับตัวทำเพื่อตอบสนองพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น การออกแบบหน้าตาของอาหารที่เสิร์ฟให้น่าสนใจมากขึ้น การออกแบบวิธีการเสิร์ฟที่แปลกใหม่ ไปจนถึงการแสดงพิเศษในร้านอาหาร ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้คอนเทนต์ของเราน่าสนใจยิ่งกว่าเดิมเช่นกัน

ถ้าใครนึกไม่ออก ดูที่คลิปด้านล่างของ Haidilao ร้านชาบูหมาล่าในดวงใจของใครหลายคนก็ได้ครับ การเต้นโดยเหวี่ยงเส้นที่เรียกว่า เส้นกังฟู เป็นการวาง Experience Design ที่ตอบสนองต่อการถ่ายวิดีโอเพื่อนำไปแชร์ลง Social Media ต่อของลูกค้าที่นอกจากจะได้ UGC ต่อร้านแล้ว ยังช่วยโปรโมทร้านของพวกเขาในตัวได้อีกด้วย

ยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัวเลยทีเดียวครับ ลูกค้าประทับใจ, ได้คอนเทนต์จากลูกค้า และได้รับการรู้จักในวงกว้างมากขึ้น

ขอบคุณคลิปจากช่อง ตุดยอด – Lifestyle ด้วยนะครับ

นอกจากนี้ในเรื่องของ Experience Design พี่เก่งได้แชร์เคล็ดลับไว้เป็นแนวทางสำหรับใครที่อยากนำไปปรับใช้กับการทำคอนเทนต์ของตัวเอง ให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกประทับใจและอยากแชร์คอนเทนต์ของเราส่งต่อออกไปครับ

นั่นคือทฤษฏีที่ชื่อว่า STEPPS Theory ที่ว่าด้วยเรื่องทำไมคนเราถึงแชร์คอนเทนต์ ชอบหรือไม่ชอบคนเทนต์เหล่านั้นผ่านตัวย่อทั้ง 6 ตัว ได้แก่

S = Social Currency :
การสะท้อนให้เห็นถึงภาษีทางสังคม คอนเทนต์ของเราช่วยส่งเสริมให้เขาดูดีในสังคมของเขาได้

T = Triggers :
คอนเทนต์มี WoW Factor หรือ จุดที่น่าสนใจ กระตุกต่อมให้อย่างแชร์ส่งต่อหรือเซฟเก็บไว้ดู

E = Emotion :
คอนเทนต์มีอารมณ์หรือความรู้สึกร่วมบางอย่างกับคนดู ซึ่งส่วนตรงนี้ค่อนข้างมีความหลากหลายอยู่ที่ว่าเราเลือกให้ออกมาเป็น Mood ไหน สนุกก็ได้ ซึ้งก็ดี

P = Public :
คอนเทนต์มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาจเป็นการอัพเดทเทรนด์ หรือสิ่งที่กำลังได้รับความสนใจโดยทั่วกันในสังคม

P = Practical Value :
คอนเทนต์มีประโยชน์กับคนดู และคนรอบตัวของเขา

S = Stories :
คอนเทนต์มีเรื่องราวที่น่าสนใจ น่าติดตาม

หลังจากที่ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเบสคิดว่าเรื่องนี้สามารถขยายความและสามารถนำไปปรับใช้ในการทำการตลาดรูปแบบอื่น ๆ ได้อีกเยอะเลย ถ้ามีโอกาสเบสจะเขียนบทความเกี่ยวกับทฤษฏีนี้ให้อีกทีนะครับ

ก่อนจะจบการบรรยายไปพี่เก่งย้ำว่า คอนเทนต์อยู่รอบตัวเรามาก ๆ ครับ เพียงแค่เราจะหยิบมันมาแล้วสร้างมันขึ้นมาอย่างไรเท่านั้นเอง นั่นคือความท้าทายของการเป็น Content Creator ครับ

หากใครสนใจฟังการบรรยายของพี่เก่งแบบเต็ม ๆ จากงาน HACKaTHAILAND ก็สามารถเข้าไปฟังกันได้ใน ลิ้งค์นี้ ช่วงเวลาที่ 2:07:41  ได้เลยนะครับ

ขอบคุณที่อ่านจนจบ แล้วเจอกันบทความหน้านะครับ 🙂

Ref.

searchlaboratory.com
thearetical.com
seodesignchicago.com

Watcharapon Kittipodpong

ลงมือเขียนเพื่อทบทวน และเข้าใจตัวเอง คนที่สนใจ Marketing คนหนึ่งที่อยากส่งต่อเหมือนที่ได้รับมา หวังว่าสิ่งที่เขียนจะมีประโยชน์กับคนอ่านทุกคนนะครับ :)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน