Product Life Cycle Analysis แค่เข้าใจสินค้าก็เข้าใจสถานการณ์แบรนด์

Product Life Cycle Analysis แค่เข้าใจสินค้าก็เข้าใจสถานการณ์แบรนด์

สำหรับใครหลายคนที่กำลังมีปัญหาว่า ณ ตอนนี้แบรนด์ของเราควรจะทำอะไรต่อ หรือ วางกลยุทธ์แบบไหนดีเพื่อให้สินค้าของเราขายได้ แล้วเราต้องเตรียมการอะไรบ้างเพื่อรับมือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับแบรนด์ของเรา การเข้าใจเรื่อง Product Life Cycle เป็นอีกหนึ่งทางที่จะเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ให้เราพอที่จะประมาณการเรื่องเหล่านี้และเตรียมตัวไว้ก่อนได้ครับ

วิเคราะห์สถานการณ์แบรนด์จากสินค้า

Product Life Cycle Analysis
ภาพประกอบจาก getuplearn.com

Product Life Cycle ถูกคิดโดย Theodore Levitt นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นทฤษฏีที่ว่าด้วยเรื่องของ การทำความเข้าใจธรรมชาติในวัฏจักรของสินค้า ตั้งแต่การเปิดตัวสินค้า ไปจนถึงการถอนตัวออกจากตลาด

โดยตัวทฤษฏีถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อการทำความเข้าใจสถานการณ์ในการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจและการทำการตลาดครับ แต่ในมุมมองของเบส ส่วนตัวเบสคิดว่าสามารถเอาไปใช้ในการวางแผนการคิดค้น หรือ พัฒนาสินค้าได้ด้วยเหมือนกัน

ทฤษฏีนี้จะมีการแบ่งวัฏจักรของสินค้าออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้ครับ

Introduction Phase

Product Life Cycle Analysis : Introduction phase
ภาพประกอบจาก getuplearn.com

Phase นี้จะเป็นช่วงที่สินค้าของเราเปิดตัว ที่ถือว่าเป็นช่วงสำคัญที่สุดของแบรนด์เลยก็ว่าได้นะครับ เบสเลยอาจจะเขียนอธิบายยาวกว่า Phase อื่นหน่อยนะครับ

สิ่งที่เราต้องทำให้ได้ในช่วงนี้ คือการทำยังไงก็ได้เพื่อ Register แบรนด์ของเราให้ถูกจดจำให้ได้ พร้อมกับพยายามแนะนำให้ลูกค้าเข้าใจจุดเด่น หรือ คุณสมบัติที่สินค้าของเราสามารถแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าของเรา

การวางกลยุทธ์ในช่วงนี้ ก็เปรียบเหมือนกับการทำการตลาดในช่วง Awareness Phase ที่เน้นให้การสื่อสารของเรากระจายสู่กลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการออกไปในวงกว้างให้มากที่สุด โดยใช้หลักการทางจิตวิทยา การสร้างภาพจำในเชิงสัญลักษณ์ ไปจนถึงเรื่องของความถี่ในการเห็นแบรนด์เข้ามาช่วย ก่อนที่จะนำไปสู่ Phase ถัดไปที่เป็นเรื่องของการ Focus ที่การสร้างยอดขายโดยตรง

โดยแต่ละสินค้าก็จะมีความยากง่ายที่แตกต่างกันออกไป หากสินค้าของเราเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ ทั้ง Technology ใหม่ พฤติกรรมการใช้งานใหม่ที่กลุ่มเป้าหมายต้องมีการปรับตัวพอสมควร แบรนด์ของเราอาจจะอยู่ในช่วง Phase นี้นานกว่าเพื่อน แถมอาจจะต้องใช้งบประมาณสูงพอสมควร ในการทำให้ลูกค้าเข้าใจในภาพรวมธุรกิจและสินค้าของเรา

แต่นั่น ก็นำมาซึ่งการเป็นเจ้าแรกในตลาดที่จะมีข้อได้เปรียบหลายประการด้วยเช่นกัน

และด้วยเรื่องต้นทุนในการ Educate คนที่สูงตรงนี้เอง เราเลยจะไม่ค่อยเห็นแบรนด์ที่พยายามเปิดตลาดใหม่มากนัก เนื่องจากแบรนด์ที่มีต้นทุนไม่สูงมาก ก็มักจะใช้วิธีเตรียมตัวเองเอาไว้ แล้วรอให้คนที่มีงบประมาณสูง ๆ เป็นคนเปิดตลาดไปก่อนแล้วค่อยตามกระแสในช่วงต้นแทน เพื่อประหยัดต้นทุน

ซึ่งการทำแบบนี้ก็ช่วยให้แบรนด์นั้นผ่านช่วง Introduction Phase ได้ไวกว่าปกติ ซึ่งอาจใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น แล้ว Shift ตัวเองเข้าสู่ Phase ถัดไปเลย ที่นำไปสู่ความท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะเริ่มต้นเข้าตลาด เบสแนะนำให้ทุกคนศึกษาตลาด สินค้า และพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายให้ดีก่อนด้วยนะครับ ยิ่งเราเข้าใจกลไกทั้งหมดมากแค่ไหน การวางกลยุทธ์ของเราจะยิ่งช่วยให้กิจกรรมทางธุรกิจและการตลาดของเรา สร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น และช่วยประหยัดต้นทุนในช่วงนี้ได้อีกมากเลย

เพราะการที่เราทำการบ้านมาไม่ดี แล้วเดินกลยุทธ์ยังไงก็ไม่โดนใจลูกค้า สินค้าเราไม่ติดตลาดสักที เราก็จะยิ่งต้องลงทุนส่วนนี้เพิ่มขึ้นไปอีก

พอรู้แบบนี้แล้ว จะเห็นได้เลยว่าช่วง Phase นี้จะใช้ต้นทุนสูงมาก ที่เราจะแทบไม่มีกำไรเข้ามาเลย เพราะมีส่วนสำคัญหลายอย่าง ที่เราต้องให้ความสำคัญมากกว่าการสร้างยอดขาย ทั้งเรื่องการสร้างการจดจำแบรนด์ การสร้างความเชื่อใจจากลูกค้า ที่เราจะต้องวางรากฐานเหล่านี้ไว้ให้ดีเลยเพื่อแบรนด์ของเราในอนาคต

แต่เบสก็เข้าใจว่า ในฐานะผู้ประกอบการหลายคนคงอยากให้เกิดรายได้เลย ตั้งแต่ช่วงที่เปิดตัวสินค้าเลย ซึ่งถามว่าทำได้มั้ยในความเป็นจริง ก็ต้องตอบว่าทำได้นะครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างมาก ๆ

Execution ของเรื่องนี้เราสามารถ Hack มันได้นิดหน่อย ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่เหลื่อมกับ Growth Phase โดยมีเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ที่เป็น Creative Idea ที่จะเป็นพระเอกในการช่วย Hack ให้แบรนด์ของเราสามารถจับปลา 2 มือใน Phase นี้ได้

เช่น กรณีของ Back Market แบรนด์ที่ขายสินค้าไอทีแบบ Refurbish หรือก็คือสินค้ามือสองที่ถูกเอามาซ่อมแซมให้เหมือนใหม่ แล้วเอามาขายในราคาถูกลง ธุรกิจนี้ค่อนข้างใหม่ที่ฝรั่งเศสมาก

ทีมการตลาด Back Market เลยใช้กลยุทธ์เปิดตัวแนะนำตัวเองที่สื่อสารกับลูกค้าโดยตรงด้วยการไปยืนหน้าร้าน Apple Store แล้วใช้ฟีเจอร์ Airdrop ส่งวิดีโอแนะนำตัวเองให้คนที่กำลังเดินดูสินค้าในร้านเห็น เมื่อกดยอมรับก็จะพบกับวิดีโอและ Landing page ที่แสดงให้เห็นราคาที่ถูกกว่า ความคุ้มค่าที่ได้ และโมเดลธุรกิจที่สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

ซึ่งแคมเปญนี้ก็ทำให้กลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับ Back Market นี้รู้จักแบรนด์โดยตรงเลย แถมยังสร้างยอดขายให้กับแบรนด์ได้คุ้ม ROI มาก สำหรับใครที่อยากรู้รายละเอียดแคมเปญมากขึ้นก็คลิกที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้ได้เลยนะครับ

Growth Phase

Product Life Cycle Analysis : Growth phase
ภาพประกอบจาก getuplearn.com

หลังจากที่แบรนด์เราเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่งแล้ว Growth Phase จะเป็นจุดที่หลายแบรนด์ค้างกันอยู่ค่อนข้างเยอะ นั่นก็คือ การกิจกรรมทางการตลาดต่างเพื่อขยายตลาดและสร้างยอดขายให้สูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอันที่จริงแล้วถ้าตลาดที่เราอยู่นั้นเป็น Red Ocean ที่มีการแข่งขันกันสูงมาก ต้นทุนในการวางกลยุทธ์ก็เยอะไม่แพ้กันเลยครับ

โดยเราสามารถ Approve ว่าแบรนด์เราเข้า Phase นี้แล้วจากการปริมาณ Conversion หรือปริมาณสินค้าที่ขายได้หลังบ้านของเรา หรือ การทำ Social Voice ดูก็ได้ครับ ว่ามีคนใช้สินค้าเราไปเท่าไรแล้ว คนพูดถึงแบรนด์เราในอัตราที่สูงขึ้นจนเริ่มมีฐานลูกค้าประมาณหนึ่งแล้วหรือยัง

หรือ อีกวิธีง่าย ๆ ที่ดูได้ไว ๆ คือ ลองดูจากอัตราการ Search ใน Google Search, YouTube Searh หรือ TikTok Search จาก Google Trend, Google Keyword Planner, TikTok Search Keyword Trend ดูก็ได้นะครับ ว่าตัวเลขมันเพิ่มขึ้นไปเท่าไหนบ้าง

ใน Phase นี้เราสามารถเล่นได้หลายท่ามาก และต้องขุดทุกกลเม็ดมาใช้เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งมาให้ได้ ตั้งแต่การดึงดูดความสนใจของลูกค้า การกระตุ้นให้รู้สึกว่าต้องซื้อ ไปจนถึงโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย

ซึ่งทุกคนสามารถดูได้ในบทความ Case Study ต่าง ๆ ที่การตลาดวันละตอนลงไว้ก็ได้นะครับ เบสคิดว่ามีหลายอย่างที่ประยุกต์ใช้ได้เยอะมากเลย ตอนสมัยที่เบสทำงานในแบรนด์ก็ได้แรงบันดาลใจคิดกลยุทธ์หลายอย่างจากการตลาดวันละตอนด้วยเหมือนกันครับ

หากสินค้าเรามีดีในตัวเองอยู่แล้ว หลัก ๆ ถ้าเรามีความเข้าใจในลูกค้าที่ดี มี Creative Idea ที่ใช่ ประกอบกับการบริการที่น่าประทับใจของเรา การขยายตลาดก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ

ส่วนที่เบสอยากเสริมใน Phase นี้อีกเรื่องก็คือเรื่องของ Scaling หรือ การจำกัดขอบเขตในการลงทุนของแบรนด์ ครับ

เบสคิดว่า หลายคนคงตั้งเป้าหมายให้กับแบรนด์กันเอาไว้อยู่แล้วว่า เราอยากจะพาแบรนด์ไปอยู่ใน Positioning ไหนในตลาด อยากทำยอดขาย หรือได้ Market Share ในตลาดให้ได้ในสัดส่วนเท่าไร

การที่เรารู้ Goal ของตัวเองที่ชัดเจนจะช่วยให้เราสามารถ Scale ต้นทุนในการเดินกลยุทธ์ต่าง ๆ ของเราให้มีความชัดเจนมากขึ้น เราจะได้ไม่ต้องลงทุนอะไรหนักตัวเองจนเกินไป หรือ ลงทุนบางเกินไปจนมันไม่เกิดผลลัพธ์อะไรเลย สำหรับฝั่งของการตลาด เราสามารถลองคำนวณจาก Average Cost per Result ต่าง ๆ ที่เราเคยทำกิจกรรมเอาไว้ก็ได้นะครับ จะเป็นตัวช่วยในการคาดคะเนเบื้องต้นได้ดีเลย

Maturity Phase

Product Life Cycle Analysis : Maturity phase
ภาพประกอบจาก getuplearn.com

Phase นี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสินค้าของเราติดลมบนมาก ๆ แล้วครับ หรือสำหรับธุรกิจไหนที่มีกลุ่มเป้าหมายค่อนข้าง Niche ก็จะเข้ามาใน Phase นี้ได้เร็วกว่าหน่อย

Maturity Phase จะเป็นช่วงที่สินค้าของเรานั้นเกือบถึงจุดที่ไม่สามารถขยายตลาดได้ต่อแล้วครับ ซึ่งจะสะท้อนให้เราเห็นได้จากยอดขายที่เริ่มมีอัตราการเติบโตที่น้อยลง เมื่อเทียบแบบ YoY (Year-on-Year) ประกอบกับการพูดถึงจากปากหรือพฤติกรรมการซื้อของกลุ่มเป้าหมายของเราที่น้อยลงก็ได้ครับ

พอเป็นอย่างนั้นกลยุทธ์ของเราเลยจะต้องเน้นหนักไปที่การพยายามรักษาฐานลูกค้าที่เรามีเอาไว้ให้ดี ออกแบบเรื่องของ CRM (Customer Relationship Management) กับลูกค้า วางระบบการบริการให้มีประสิทธิภาพ เช่น จัดส่งไว ตอบแชทเร็ว แก้ปัญหาให้ไว ฯลฯ ให้พวกเขายังคงประทับใจและมี Brand Loyalty กับแบรนด์ของเราอยู่

ซึ่งเราค่อนข้างจะต้องมีความละเอียดมากกว่าเดิมมาก ว่าเรามี Eror ภายในที่ส่วนไหนมั้ย หรือ มีแบรนด์คู่แข่งมาแย่ง Market Share ของเราไปรึเปล่า ถ้าเจอปัญหาอะไรในการบริการลูกค้า ให้รีบตอบโต้กลับทันทีแบบมีประสิทธิภาพและคิดหน้าคิดหลังมาดีแล้วนะครับ เพราะถ้าเรามาถึงตรงนี้ได้หมายความว่า มีคู่แข่งรอแย่งลูกค้าของเราอีกเยอะมากเลย

นอกเหนือจากนี้ ยังมีเรื่องของการพยายามหาวิธีการควบคุมต้นทุน หรือ การลดต้นทุนลงมาเพื่อเพิ่มกำไรของเราให้มากขึ้น โดยที่สินค้าของเรายังมีคุณภาพเท่าเดิมก็เป็นทางที่น่าสนใจอยู่เหมือนกันครับ

เท่าที่เบสพอจะได้พูดคุยกับพี่ ๆ ที่ทำธุรกิจมา จริง ๆ ก็มีกลยุทธ์อีกอย่างที่จะช่วยให้เราอยู่ตรงนี้ได้นานขึ้นด้วยนะครับ นั่นก็คือ การเปิดตลาดในกลุ่มเป้าหมายใหม่ ครับ

ยกตัวอย่างในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจนเลย คือ การพยายามเจาะกลุ่มคน Gen Z ด้วยการเล่าสินค้าในมุมมองใหม่ ๆ หรือ การเอาบริบทของคน Gen Z มาสื่อสารแล้วTie-in สินค้าเข้าไปแบบเนียน ๆ หรืออาจจะเป็นการปรับ Packaging ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายใหม่มากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยให้เราพอที่จะขยายตลาดและฐานลูกค้าเพิ่มได้อีก

หากใครต้นทุนไม่เยอะพอที่จะแบ่งสินค้าออกเป็น 2 SKU สำหรับ 2 กลุ่มเป้าหมาย ให้ลองชั่งน้ำหนักดูดี ๆ นะครับว่าการเปลี่ยนไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่เพื่อขยายตลาด ดูแล้วอัตราการเติบโตของรายได้ที่จะได้มามันคุ้มเปลี่ยนมั้ย เพราะในเวลาเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเป็นช่องวางให้ฐานลูกค้าเก่าที่คุ้นชิน หรือ คุ้นเคยกับแบรนด์ของเราก่อนหน้านี้ หายไปก็ได้ แต่ถ้ามันคุ้มก็ลุยเลยครับ ไม่มีผิด ไม่มีถูกครับ

Decline Phase

Product Life Cycle Analysis : Decline phase
ภาพประกอบจาก getuplearn.com

นับเป็น Phase ที่เป็นจุดขาลงที่สินค้าของเราจะเริ่มมียอดขายที่ลดลงอย่างชัดเจนแล้วครับ ซึ่งจริง ๆ ก่อนจะมาถึง Phase นี้จะมีสัญญาณเตือนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว หากเราสังเกตเกตและตรวจสอบความเป็นไปของแบรนด์เราอยู่บ่อย ๆ

นอกเหนือจากนี้ Social Voice ที่พูดถึงปัญหาที่สินค้าเราแก้ไขได้ลดลง แล้วพูดถึงแบรนด์อื่น ๆ ที่แก้ปัญหาได้มากกว่าและครอบคลุมมากกว่ามากก็บอกเราได้เช่นกันนะครับ

เบสแนะนำว่า ก่อนที่จะมาถึงตรงนี้นอกเหนือจากคำแนะนำให้เปิดตลาดใหม่ อีกอย่างที่ทุกคนควรรีบทำเผื่อเอาไว้ก็คือ การคิดค้นนวัตกรรม หรือ การหาสินค้า / บริการ ใหม่ ๆ เข้ามาในแบรนด์เพิ่มด้วยครับ ถ้าเป็นภาษาที่ผู้ใหญ่ในวงการธุรกิจพูดกัน ถ้าเบสจำไม่ผิดเค้าจะเรียกกันว่า New S-Curve หรือ ก็คือ Product ใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทนั่นเอง

หากเราเตรียมการสิ่งนี้ไว้ตั้งแต่แรกแบรนด์ของเราจะมีปัญหาในช่วงขาลงนี้น้อยมากแล้วก็ไม่ต้องกังวลกับ Cost ต่าง ๆ เลย แต่ถ้าใครที่สินค้าหลักของแบรนด์ยังอยู่จุดนี้อยู่ โดยที่ไม่มีตัวอื่นมาแทนใน Growth Phase หรือ Maturity Phase แบรนด์เราอาจจะกำลังมีปัญหาแล้วแหละครับ ฉุกเฉินแบบรหัสแดงได้เลย

ทางที่ควรทำที่สุดที่คือการ Cut loss ต้นทุนออกไป และทำให้สิ่งที่เรามีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุดให้ถึงที่สุดโดยที่ไม่ลงทุนอะไรเพิ่มแล้ว แล้วก็ Scale down ให้พออยู่ได้เป็นเบอร์รอง ๆ ในตลาดแทน หรือ ถอนตัวออกมาก็ได้ครับ

สำหรับใครที่ต้องการ Shortcut เป็นตัวช่วยจำแบบเข้าใจง่าย ว่าเราควรรู้อะไร ต้องทำอะไรอย่างไรบ้างใน Life Cycle ทั้งหมด ทุกคนสามารถ Capture รูปด้านล่างเก็บเอาไว้ได้เลยนะครับ

Product Life Cycle Analysis Shortcut
ภาพประกอบจาก kfknowledgebank.kaplan.co.uk
ภาพประกอบจาก kfknowledgebank.kaplan.co.uk
ภาพประกอบจาก kfknowledgebank.kaplan.co.uk

บทสรุป Product Life Cycle Analysis แค่เข้าใจสินค้าก็เข้าใจสถานการณ์แบรนด์

ในความเป็นจริงแล้วช่วง Introduction Phase ไปจนถึง Maturity Phase มันมักจะเกิดขึ้นพร้อมกันเลยครับ ยิ่งสำหรับแบรนด์ที่เกิดขึ้นมาใหม่จะยิ่งชัดมาก ๆ เนื่องจากกระทบจากการแข่งขันในโลกยุคดิจิตอลที่อะไรมันก็มาไวไปไวเต็มไปหมด ทำให้เราจำเป็นที่จะต้องออกแบบโครงสร้างเพื่อรองรับ การเปิดตลาด, การขยายตลาด และการรักษายอดขายของตัวเองเอาไว้ให้ดีตั้งแต่แรก

ก่อนจะจบบทความไป เบสอยากจะย้ำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อให้เรารับมือได้ในทุกสถานการณ์และไม่เกิดรหัสแดงขึ้นมา ก็คือการหมั่นตรวจสอบสถานการณ์ของแบรนด์เราอย่างสม่ำเสมอและเตรียมการเพื่ออุดรูรั่วเหล่านั้นให้ทันท่วงที

อาจเป็นเดือนละครั้ง ไตรมาสต์ละครั้งอะไรแบบนี้ก็ได้ ถ้าแบรนด์เราการแข่งขันเยอะและผันผวนเยอะจัด ๆ วีคนึงก็อาจจะเริ่มเห็นสัญญาณอะไรบางอย่างได้แล้วครับ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ ขอบคุณที่อ่านจนจบ 🙂

สามารถอ่านบทความอื่น ๆ ของการตลาดวันละตอนได้ที่ คลิก

Ref.
kfknowledgebank.kaplan.co.uk
youmatter.world
investopedia.com
neilpatel.com
getuplearn.com

Watcharapon Kittipodpong

ลงมือเขียนเพื่อทบทวน และเข้าใจตัวเอง คนที่สนใจ Marketing คนหนึ่งที่อยากส่งต่อเหมือนที่ได้รับมา หวังว่าสิ่งที่เขียนจะมีประโยชน์กับคนอ่านทุกคนนะครับ :)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *