วิธีใช้ YouTube Analytics 2022 จากข้อมูลบน YTStudio

วิธีใช้ YouTube Analytics 2022 จากข้อมูลบน YTStudio

การดู YouTube Analytics 2022 ควบคู่กับการทำ SEO YouTube นอกจากจะสามารถเพิ่มยอดวิวและยอดติดตามให้กับช่องยูทูปของคุณได้แล้ว ยังช่วยให้คุณสามารถคิด Content ในการทำคลิปต่อไปได้อีกด้วย

เคยกดเข้าไปดูช่อง Youtube Studio ที่เขาวิเคราะห์ข้อมูลช่องของเรากันบ้างไหม แต่พอดูข้อมูลไปแล้วก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะสามารถนำมาต่อยอดในการพัฒนาช่องได้อย่างไรบ้าง ในบทความนี้จะมาสรุปให้ฟังรวมถึงวิธีตีความหมายของข้อมูลจากการดู Analytics ของ YouTube Studio

การวิเคราะห์ YouTube Analytics ผ่าน YTStudio

ข้อมูลการวิเคราะห์ของยูทูป จะอยู่ในส่วนของ การจัดการวิดีโอ ที่จะเชื่อมกับ YTStudio ซึ่งยูทูปได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล ภาพรวมของช่อง การมีส่วนร่วมของผู้ชม การเข้าถึงคลิปวิดีโอจากช่องทางต่าง ๆ และช่วยจำแนกข้อมูลผู้เข้าชมรวมถึงผู้ติดตามออกเป็นสัดส่วน ให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ แล้ววางแผนในการ ปรับปรุงคุณภาพของช่องตัวเองหรือสามารถนำไปต่อยอดทำคลิปวิดีโอใหม่ ๆ ออกมาได้

YouTube Analytics จะอยู่แถบซ้ายมือใน YTStudio หรือในภาษาไทยจะใช้คำว่า “ข้อมูลวิเคราะห์” ดังรูปด้านล่าง

Overview ภาพรวม

YouTube Analytics สามารถดูได้ที่แถบด้านซ้ายมือของ YTStudio

ส่วนแรกคือ Overview หรือภาพรวมของช่องจะแสดงให้เห็นยอดจำนวนการดู ระยะเวลาการชม รวมถึงผู้ติดตามทั้งหมด โดยเพื่อน ๆ สามารถที่จะ เลือก ช่วงวันเวลาในการเทียบข้อมูลด้าน ขวามือ ซึ่งจะมีให้เลือก ระยะเวลาในการเปรียบเทียบข้อมูล โดยปกติยูทูปจะใช้เวลา 2-3 วันในการวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละวิดีโอที่ปล่อยออกมาใหม่

ส่วนการวิเคราะห์ คร่าว ๆ ในหน้านี้ จะเป็นการดูยอดกราฟด้านล่าง ว่าช่วงวันเวลาไหน ที่มีคนเข้ามาดู เข้ามาชมหรือเข้ามาติดตามมากที่สุด ให้ลองเลื่อนลงไปดูที่ด้านล่างกราฟ ที่มีรูป สามเหลี่ยมอยู่ในสี่เหลี่ยม ว่าช่วงเวลานั้นเราได้ทำการปล่อยวิดีโอ ตัวไหนออกมา หรือเราทำการไลฟ์เรื่องอะไรออกมาในช่วงนั้น

Reach การเข้าถึง

Reach จะอยู่ใน Tab ที่สองของ YouTube Analytics

ส่วนนี้จะแสดงการเข้าถึงของผู้ที่เข้ามาชมโดยการแสดงผลจะหมายถึงวิดีโอของเราไปโชว์บนหน้าแรกของยูทูป โดยทุกครั้งที่มันขึ้นไปโชว์บนหน้าแรก แล้วมีคนกดคลิกเข้ามาดูเท่าไร มันจะแสดงผลลัพธ์ผ่านเปอร์เซ็นต์ของอัตราการคลิกผ่านการแสดงผล ถ้าเลขตัวนี้มีเปอร์เซ็นต์ที่มากแสดงว่า ปกของเรา น่าสนใจ รวมถึงชื่อคลิป ดึงดูดให้คนกดเข้ามาดูวิดีโอของเรา ดังนั้นถ้าเลขส่วนนี้มีเปอร์เซ็นต์น้อย อาจจะตีความหมายได้ว่าปกและชื่อคลิปของเราควรแก้ไขให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นหรือเนื้อหาวิดีโอนั้นไม่ได้อยู่ใน Trend ที่คนกำลังสนใจอยู่

นอกจากนี้เราสามารถวิเคราะห์แหล่งที่มาของผู้ชมภายใต้หัวข้อ Reach จาก 2 หัวข้อย่อยดังต่อไปนี้

แหล่งที่มาของการเข้าชมจากภายนอก (ที่ไม่ใช่จาก YouTube)

ช่องทางที่ผู้ชมเห็นคลิปวีดิโอของเรา

การวิเคราะห์นี้สามารถดูประสิทธิภาพของ Backlink หรือการที่เรานำลิงก์คลิปของเราไปใส่ไว้แต่ละช่องทางเพื่อการโปรโมท ว่าคนที่กดมาเข้าชมจากช่องทางไหนมีจำนวนมากที่สุด ซึ่งในนอนาคตหากมีการปล่อยคลิปออกมาใหม่เราจะได้นำ Backlink ไปโปรโมทที่ช่องทางนั้น ๆ เพื่อให้เพิ่มจำนวนผู้เข้าชมได้มากยิ่งขึ้นหรือสังเกตพฤติกรรมการช่วงเวลาการใช้งานของคนในช่องทางนั้น ๆ เพื่อการโปรโมทให้เกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด

แหล่งที่มาของการเข้าชมจากการค้นหาใน YouTube

คำ Keyword ที่วีดิโอเราแสดงผลผ่านช่องทาง YouTube

ส่วนนี้สามารถนำไปสู่การดูประสิทธิภาพของ Keyword ที่เราเลือกใช้ในคลิปของเราว่า คนเจอคลิปของเราจากการค้นหาภายในยูทูปด้วย Keyword ไหน แล้วแต่ละคำมีประสิทธิภาพในการนำคนเข้ามาดูมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพอเราทราบแล้ว เราก็สามารถนำไปปรับใช้กับคลิปอื่น ๆ ภายในช่องของเราได้ด้วย

เพิ่มเติม 8.4% ของสัดส่วนการเข้าชมทั้งหมดเป็นจำนวนคนที่ดูคลิปเราจากการค้นหาในยูทูป

Engagement การมีส่วนร่วม

การมีส่วนร่วมจะเป็นตัวบ่งบอกความน่าสนใจของวีดิโอหรือคลิปของคุณว่าสามารถดึงให้คนดูอยู่กับช่องหรืออยู่กับคลิปนั้นได้นานแค่ไหน ซึ่งหากคุณต้องการที่จะสร้างรายได้จากยูทูปให้ได้มาก คุณก็จำเป็นต้องดึงให้คนอยู่กับคุณได้นานยิ่งขึ้นเช่นกัน เพราะมันส่งจะส่งผลต่อการวางโฆษณาของยูทูปอีกด้วย

ดังนั้นสังเกตให้ดีว่าแต่ละช่วงของวีดิโอของคุณตรงไหนน่าสนใจ คนอยู่ช่วงไหนนาน คนออกจากช่วงไหนของวีดิโอมากที่สุด ให้ไปปรับปรุงส่วนนั้น เช่น ช่วงแรกคนดูไปประมาณ 10 วินาทีแล้วออกเลย เพราะอะไร เราพูดเยอะหรือพูดน้ำมากไปจนคนดูเบื่อในช่วงต้นหรือเปล่า หรือช่วงแรกควรมีการนำ Highlight หรือบทสรุปขึ้นมาเพื่อดึงดูดให้คนอยู่จนจบวีดิโอหรือเปล่า

Timestamp ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันสำหรับคนที่เขาเข้ามาหาข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจง การมีสิ่งนี้จะช่วยให้คนดูสามารถกดเข้ามาดูเนื้อหาเฉพาะที่เขาสนใจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มระยะเวลาการดูวีดิโอของเราให้มากขึ้นกว่าการไม่มี timestamp

Audience ผู้ชมหรือกลุ่มคนดู

สิ่งที่น่าให้ความสำคัญเป็นหลักก็คือคนที่เข้าชมวีดิโอหรือคลิปของเรานั่นเอง เราควรให้ความสนใจกับคนที่เข้ามาดู เพื่อสังเกตว่าคนที่เข้ามาดูส่วนใหญ่นั้นเป็นคนที่ติดตามเราไหมหรือว่าเป็นผู้ชมใหม่ที่ไม่ซ้ำกันเลย แล้วลองเปรียบเทียบว่าจำนวนที่เข้ามาดูกับจำนวนผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

หากผู้ติดตามเพิ่มขึ้น แสดงว่าเนื้อหาของคลิปเราถูกใจคนที่เข้ามาดูและเขาสนใจที่จะติดตามเราในคลิปถัด ๆ ไป

หากผู้ติดตามเพิ่มขึ้นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อย อาจเกิดจากเนื้อหาในคลิปยังไม่ตอบโจทย์คนที่เข้ามาดูมากพอหรือในช่วงท้ายคลิปคุณขาดการเพิ่ม End Screen หรือการพูดชักชวนให้คนมาติดตามโดยเราจะเรียกกันว่า “อย่าลืมขายของ ขายช่องให้คนมาตาม” เคยได้ยินบ่อย ๆ ไหมมเวลาจบคลิปคนชอบพูดว่า อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ กด Subscribe เพื่อติดตาม…… ประมาณนี้แหละ ซึ่งคุณก็สามารถนำการวิเคราะห์นี้ไปปรับปรุงคลิปอื่น ๆ รวมถึงคลิปที่คุณกำลังวิเคราะห์อยู่ก็ได้เช่นกัน

Traffic ผู้เข้าชมช่องของเรา

ช่วงเวลาที่คนเข้ามาดูช่องของเรา

การวิเคราะห์เวลาผู้ชมบนยูทูปของคุณช่วยให้คุณสามารถเลือกเวลาการโพสคลิปของคุณให้ดียิ่งขึ้น เพราะถ้าคุณโพสในช่วงที่ Traffic หรือเวลาที่ผู้ชมของคุณกำลังท่องโลกยูทูป แน่นอนว่าเขาต้องกดเข้ามาชมคลิปหรือเห็นคลิปของเราอย่างแน่นอน โดยสีม่วงสว่างจะแสดงถึงผู้ชมจำนวนมากที่สุดที่อยู่บน YouTube ในช่วงเวลานั้น ๆ

สัดส่วนประชากรที่เข้ามาชมคลิปของเรา

การวิเคราะห์ประชากรเป็นสิ่งที่ช่วยดูแนวทางเนื้อหาหรือทิศทางของคลิปเราได้ อย่างในภาพตัวอย่างสัดส่วนคนดูคลิปของเราเป็นผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปีเป็นส่วนใหญ่ เราก็สามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปดูเนื้อหาเพิ่มเติมหรือ Trend ของคนกลุ่มนี้ได้ว่าเขากำลังสนใจอะไรเป็นพิเศษในช่วงเวลานี้ เพื่อต่อยอดคลิปหรือเนื้อหาให้เขากลับมาติดตามหรือกลับมาชมช่องของเราอีก

สรุป

การอ่าน YouTube Analytics 2022 ให้เป็นสามารถดูประสิทธิภาพของวีดิโอได้อย่างละเอียด รวมถึงสามารถใช้ในการต่อยอดการทำคลิปวีดิโอครั้งต่อไปให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย สิ่งที่สำคัญในการตีความหรืออ่านการวิเคราะห์ยูทูปทุกครั้ง คือการเปรียบเทียบการวิเคราะห์ในแต่ละช่วงเวลาเพื่อช่วยให้เห็นภาพรวมของช่องหรือคลิปต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่ออ่านหรือวิเคราะห์เสร็จแล้วควรมีการตั้งเป้าหมายของช่องด้วยว่าต้องการให้ช่องไปในแนวทางไหน อาจจะเริ่มจากการกำหนดจำนวนผู้ติดตาม จำนวนคลิปวีดิโอหรือรายได้จากยูทูป เพื่อเป็นเกณฑ์ในการช่วยให้เราวางแผนการทำวีดิโอได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ใครที่กำลังเริ่มต้นทำ YouTube อยู่ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทำได้สำเร็จนะคะ ใครอยากลองปรับใช้ SEO Youtube เบื้องต้นสามารถกดเข้าไปอ่านที่บทความนี้ได้เลย

Reference:

https://support.google.com/youtube/answer/9002587?hl=en

นอกจาก Reference ที่ได้แนบไว้แล้วก็อยากจะขอบพระคุณพี่หนุ่ยและคุณก้าวโรจน์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปันข้อมูลในการวิเคราะห์ยูทูปในครั้งนี้ ใครอยากอ่านบทความเพิ่มเติมที่จะทำให้ YouTube ของคุณถึง 1,000,000 วิว ก็สามารถคลิปเข้าไปอ่านที่บทความนี้ได้เลย

Lin

หลินผู้รักกการกิน MoMo Paradise และการเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่