รู้จัก Marketing Psychology จิตวิทยาการตลาด ที่โน้มน้าวใจผู้บริโภคง่ายๆ

รู้จัก Marketing Psychology จิตวิทยาการตลาด ที่โน้มน้าวใจผู้บริโภคง่ายๆ

ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ต้องได้ด้วยจิตวิทยานี่แหละค่ะ วันนี้ปลื้มพาทุกคนมารู้จัก Marketing Psychology หรือ จิตวิทยาการตลาด เพื่อสร้างอิทธิพลที่มีผลต่อผู้บริโภค โดยการโน้มน้าวใจอย่างมีกลยุทธ์ แม้ไม่ใช่นักจิตวิทยาตัวจริงก็ทำได้ค่ะ

Marketing Psychology คือ

มันคือการนำจิตวิทยามาใช้กับกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งนักการตลาดจะใช้ในการดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาและสร้างความสัมพันธ์ให้มีโอกาสได้กลายมาเป็นลูกค้า โดยจิตวิทยาการตลาดเป็นกระบวนการของการรวมหลักการทางจิตวิทยาที่สำคัญไว้ในวิธีการทางการตลาดต่างๆ ตั้งแต่ Content ไปจนถึงการทำแคมเปญ และการดีไซน์เลย

ดังนั้นเรามาดูกลยุทธ์ทางการตลาดเชิงจิตวิทยาที่จะเพิ่มการ Conversions และยอดขายกันดีกว่าค่ะ

1. Social Proof

เนื่องจากปัจจุบันสินค้าและบริการมีจำนวนมากให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ ซึ่ง Social Proof จะเป็นกระบวนที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อค่ะ ทั้งนี้ Social Proof ได้รับการแนะนำโดยนักจิตวิทยาเชิงวิชาการ Robert Cialdini ผู้ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่ามนุษย์หันไปเลียนแบบการกระทำของคนอื่นในบริบทเฉพาะ อย่างคนที่พวกเขาชอบหรือไว้วางใจ การตลาดที่ใช้อินฟลูฯ ก็มักจะอาศัยหลักการนี้กัน เนื่องจากผู้คนชอบและเลือกสิ่งที่อินฟลูฯ คนโปรดแนะนำ

นอกจากนี้ Social Proof ก็ทำได้หลากหลายวิธี เพื่อให้แบรนด์ของเราได้รับความน่าเชื่อถือ และผู้บริโภคกล้าที่จะตัดสินใจซื้อ ได้แก่ :

  • Influencer เป็นกลยุทธ์ที่กล่าวไปข้างต้นและได้รับความนิยมมากๆ จากการที่ใช้ผู้มีชื่อเสียงมาสร้างความน่าเชื่อถือ
  • Word of Mouth หรือการบอกต่อแบบปากต่อปาก มักจะได้ผลจากการแนะนำของคนใกล้ตัว พ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อนๆ เป็นต้น
  • การรับรองโดยการใช้คนหมู่มาก จะคล้ายๆ กับหลักประชาธิปไตย หรือการทำงานวิจัย เมื่อหลายคนบอกว่าดี เราก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับตามนั้น
  • การรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญ และการรับรองโดยหน่วยงาน เป็นการใช้ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องผลิตภัณฑ์นั้นๆ มาช่วยเครมว่าสินค้าของแบรนด์เราได้รับมาตรฐานจริงๆ รวมถึงการรับรองจากเครื่องหมายสากลต่างๆ เช่น อย. มอก. GMP HACCP เป็นต้น
  • Review จากผู้ใช้จริง หรือการให้ดาว ให้คะแนนต่างๆ บนโซเชียล ผลออกมาเป็นเชิงลบ หรือเชิงบวก ก็ล้วนมีผลต่อการซื้อมากๆ ค่ะ

ตัวอย่างแคมเปญที่ใช้ Social Proof ได้เจ๋งมากๆ สามารถคลิกไปอ่านต่อได้นะคะ

2. Paradox Of Choice

รู้จัก Marketing Psychology จิตวิทยาการตลาด ที่โน้มน้าวใจผู้บริโภคง่ายๆ
CR : yourmarketingrules

ต้องบอกว่าบางแบรนด์พยายามตอบโจทย์สินค้าโดยการเพิ่มตัวเลือกเยอะๆ เพื่อให้ลูกค้าได้มีความสุขในการเลือก แต่อาจจะทำให้ลูกค้าเครียดในการตัดสินใจมากกว่า จากการทดลองแบบคลาสสิกโดย Sheena Iyengar แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน หากผู้ซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตได้รับตัวอย่างแยมหลากหลายชนิดให้ลอง

ในวันแรก มีแยม 6 แบบให้ชิม ในวันที่สอง มีแยม 24 ชนิดให้ชิม พบว่า ตัวเลือกที่มากขึ้น 60% เข้ามาลองแยม แต่มีเพียง 3% เท่านั้นที่ซื้อแยม แต่กลับกันตัวเลือกที่น้อยลง ผู้ซื้อ 40% เข้ามาลองแยมและ 30% ตัดสินใจซื้อนั่นเองค่ะ

ซึ่งการที่มีตัวเลือกเยอะส่งผลให้เกิดความสับสนมากกว่า เหมือนร้านอาหารที่มีเมนูเยอะๆ จนเลือกไม่ถูก และไม่รู้ว่าควรสั่งเมนูไหน สุดท้ายก็ถามพนักงานว่าเมนูไหนบ้างที่แนะนำ บางทีทำให้บางเมนูแทบไม่ได้ถูกซื้อเลย สำหรับวิธีจัดการที่น่าสนใจคือการจำกัดตัวเลือกและค่อยๆ ทดสอบต่อไปค่ะ

ตัวอย่างแบรนด์ที่จัดการกับ Paradox Of Choice ได้ดีที่ปลื้มนึกถึงเลยคือ ร้านผักฉ่ำคำหอม ของคุณอูน Diamond Grains จำกัดตัวเลือกของเมนูและค่อยๆ ทดสอบว่าเมนูไหนที่ทำมาแล้วผลตอบรับไม่ดีเท่าที่ควรถึงแม้จะอร่อย แต่ยังเป็นเมนูตัวสำรอง ก็ต้องตัดออก และยังทดสอบปรับสูตรใหม่อยู่ตลอด ปลื้มว่าทำให้คนซื้อเลือกเมนูที่จะสั่งได้เร็ว และที่สำคัญคือแบรนด์เองก็จะได้ไม่เสียเวลากับเมนูนั้นๆ ด้วยค่ะ

3. Scarcity Marketing 

การตลาด Scarcity มักจะขึ้นอยู่กับแรงดึงดูดจากสินค้าที่ดูมี Value เช่น สินค้าLimited จำนวนจำกัด ของแรร์ ซึ่งมันเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า เมื่ออุปทานลดลง อุปสงค์ก็จะสูงขึ้นค่ะ สิ่งนี้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความกลัวว่าจะพลาด (FOMO) และทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความเร่งด่วนในการซื้อก่อนที่จะสายเกินไป แล้วนักการตลาดจะใช้ทฤษฎีจิตวิทยาการตลาดนี้เพื่อเพิ่มคอนเวอร์ชันและยอดขายได้อย่างไร? มาดูกลยุทธ์กันค่ะ

  • Limited-time offers หรือ ข้อเสนอแบบจำกัดเวลา : สร้างแคมเปญที่ระบุวันและเวลาหมดอายุ เช่น ลดพิเศษ 7 วัน / โปรโมชั่นเฉพาะช่วงเปิดตัวสินค้าเท่านั้น / Flash Sale 24 ชั่วโมง เป็นต้น
  • Limited items in stock หรือ จำกัดสินค้าในสต็อก :  ระบุจำนวนสินค้าที่เหลืออยู่เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เช่น ผลิตมา 1,000 เท่านั้น / ผลิตมาเท่านี้หมดแล้วหมดเลย / ไม่ผลิตซ้ำ แบบนี้เป็นต้น
  • Countdown timers หรือ ตัวจับเวลานับถอยหลัง : เพิ่มตัวจับเวลาในแคมเปญของคุณเพื่อเตือนสมาชิก / ผู้ชมให้รีบตัดสินใจ

ตัวอย่างที่ใช้ Scarcity Marketing เป็นแคมเปญอีเมลจาก Casper เพื่อนำเสนอโปรโมชันด้วย Subject line ‘วันสุดท้าย: ส่วนลด 15% ด้วยข้อเสนอที่ดีที่สุดของเรา’ พร้อมกับ Code ส่วนลดที่ดึงดูดได้ดีเลยค่ะ

รู้จัก Marketing Psychology จิตวิทยาการตลาด ที่โน้มน้าวใจผู้บริโภคง่ายๆ
CR : moosend

4. Color Psychology

นอกจาก Key Message แล้ว ‘สี’ ก็ยังส่งผลต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของผู้คนอีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการวิจัยว่าอารมณ์สีต่างๆ สามารถกระตุ้นอารมณ์ใดได้บ้าง เพื่อช่วยให้นักการตลาดและนักออกแบบค้นหาสิ่งที่เป็นตัวแทนได้มากที่สุดสำหรับโลโก้และ Additional Marketing เพิ่มเติม

รู้จัก Marketing Psychology จิตวิทยาการตลาด ที่โน้มน้าวใจผู้บริโภคง่ายๆ
CR : moosend

จากภาพตัวอย่างนี้เราก็เห็นโลโก้ที่มีชื่อเสียงมากมายและอารมณ์ของสีหลักที่กระตุ้นความรู้สึกของผู้บริโภค ซึ่งการค้นหาสีที่เหมาะสมสำหรับแบรนด์ของเราจะช่วยให้เราสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของเราจากคู่แข่ง เมื่อเวลาผ่านไป มันจะกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่ติดอยู่ในหัวของผู้ชม ดันนั้นการเลือกใช้สีของเราจะแสดงบุคลิกของแบรนด์และชื่อของแบรนด์ ก็ควรส่งเสริมซึ่งกันและกันด้วยค่ะ

5. Anchoring

เป็นแนวคิดที่แบรนด์มุ้งเน้นไปที่ผู้ซื้อ โดยให้ผู้ซื้อเชื่อว่านี่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของพวกเขา ซึ่งสามารถเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอ ราคา ขนาด สี หรือคุณสมบัติอื่นๆ โดยทั่วไปแล้วผู้ขายจะจัดหาจุดยึดที่จะถูกมองว่าเป็น value ที่น่าสนใจในสายตาของผู้ซื้อ

เช่น การลดราคา “ลดราคา กระดาษทิชชู่ในห้องน้ำ 4 ม้วน ราคา 65.77 บาท” หรือ “ลดราคา กระดาษทิชชู่ในห้องน้ำม้วนละ 16.44 บาท” แม้ว่าราคาต่อม้วนของทิชชู่ในห้องน้ำจะเท่ากัน แต่นักจิตวิทยา Brian Wansink, Robert Kent และ Stephen Hoch พบว่าตัวเลือกแรกทำงานได้ดีกว่า 40% ที่กล่าวว่า ทฤษฎีทางเลือกคือผู้คนคิดเร็วเกินไปและเชื่อว่าต้องซื้อทั้ง 4 ม้วน นั่นคือส่วนลดที่ดีที่สุด

แล้วเคยเห็นป้ายที่เขียนว่า “จำกัด 12 รายการต่อลูกค้า1ราย” หรือไม่? ถ้าคิดว่ามันคือการป้องกันผู้ซื้อไม่ให้ซื้อมากเกินไป ลองคิดใหม่ดูนะ จากป้ายลดราคาธรรมดา มันมีความเป็นไปได้ที่ผู้คนจะซื้อมากกว่า 1-2 ชิ้น แต่พอมีการจำกัดจำนวนการซื้อ สมองไปยึดที่เลข 12 แล้วเริ่มปรับตัวจากตรงนั้น จึงทำให้คนซื้อเยอะกว่าที่จำเป็น เนื่องจากผู้คนอาจคิดว่ายิ่งซื้อเยอะยิ่งได้ส่วนลดเยอะ และคิดว่าคนอื่นซื้อในจำนวนเงินที่สูงกว่า

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคต้องการความประหยัดสูงสุด ซึ่งนักการตลาดสามารถปรับวิธีการขายให้พวกเขารู้สึกคุ้มให้ได้ เพื่อดึงดูดผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าให้ยึดติดกับตัวเลือกระยะยาว

เป็นอย่างไรบ้างสำหรับ 5 กลยุทธ์ของการใช้ จิตวิทยาการตลาด ที่โน้มน้าวใจผู้บริโภคได้จริง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกลยุทธ์เลย ไว้บทความครั้งหน้าปลื้มมาอัปเดตให้อีกแน่นอนค่ะ สำหรับบทความนี้นักการตลาดสามารถนำไปปรับใช้กับแบรนด์ตัวเองได้นะคะ อาจจะทำให้ยอดขายสูงขึ้นก็ได้นะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Source Source

Yoswimol

🎡PLEUM | Data Research Executive ในเครือการตลาดวันละตอน | สนใจเรื่องการตลาด ชอบดูการแข่งขันทางการตลาด และเป็นทาสตลาด... ทุกบทความตั้งใจเขียนมาก ขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันนะคะ มันเป็นกำลังใจที่ทำให้อยากเขียนต่อไปเลย☺️

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ทุกวันนี้ใช้งบยิงแอดเดือนละเท่าไหร่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอ 1 คำถามให้เอาไปทำโพลแชร์ลงหน้าเพจหน่อยนะ

อยากรู้ว่าทุกวันนี้คุณใช้เงินยิงแอดโฆษณาเดือนละประมาณเท่าไหร่ครับ ?

ทุกวันนี้ใช้งบยิงแอดเดือนละเท่าไหร่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอ 1 คำถามให้เอาไปทำโพลแชร์ลงหน้าเพจหน่อยนะ

อยากรู้ว่าทุกวันนี้คุณใช้เงินยิงแอดโฆษณาเดือนละประมาณเท่าไหร่ครับ ?