เปลี่ยนความสนุกแบบเกมให้เป็นยอดขาย ด้วยกลยุทธ์ Gamification Marketing

เปลี่ยนความสนุกแบบเกมให้เป็นยอดขาย ด้วยกลยุทธ์ Gamification Marketing

เพื่อนๆ ชอบเล่นเกมกันไหมคะ?

แบมว่าไม่ว่าใครก็น่าจะมีเกมโปรดในดวงใจอย่างน้อย 1 เกมแน่ๆ เพราะว่าเกมเป็นอีกตัวช่วยที่สร้างความสนุกสนาน ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายทุกครั้งที่ได้เล่น แต่จะดีกว่าไหมคะ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนการตลาดและงานขายให้สนุกได้เหมือนในเกม

วันนี้แบมจะพามารู้จักกับ Gamification Marketing กลยุทธ์ที่จะเปลี่ยนความสนุก สดใหม่ และท้าทายในเกมให้มาเป็นยอดขายได้ จะเป็นอย่างไรมาดูกันค่ะ

Gamification Marketing คืออะไร?

Gamification Marketing เป็นการออกแบบกิจกรรมทางการตลาดให้เหมือนกับเทคนิคการเล่นเกมเช่นการแข่งขันโดยมีการจัดอันดับ ระบบการให้คะแนน และสิ่งจูงใจถูกนำมาใช้เพื่อดึงดูดลูกค้า โดยมีเป้าหมายในการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ สร้างการเชื่อมต่อกับแบรนด์ และให้เหตุผลแก่ลูกค้าในการทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อผลิตภัณฑ์และบริการซ้ำ โดยทำให้ลูกค้า หรือคนที่เข้ามามีส่วนรวมในแคมเปญนั้นถูกกระตุ้นให้รู้สึกลุ้น ตื่นเต้น สนุก และท้าทายเหมือนกับตอนกำลังเล่นเกมอยู่นั่นเองค่ะ

Gamification Marketing ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

ตอนนี้หลายคนกำลังจินตนาการอยู่ใช่ไหมคะว่าถ้าอยากทำ Gamification Marketing บ้างต้องทำอย่างไร ต้องสร้างแอปพลิเคชันเลยไหม หรือต้องทำระบบอะไรที่ซับซ้อนหรือเปล่า? ค่าใช้จ่ายจะสูงเกินไหม? 

ถ้าใครคิดกำลังจะถอดใจไปมองหากลยุทธ์อื่นๆ มาฟังแบมก่อนค่ะ แบมจะบอกว่า Gamification Marketing นั้นไม่ได้ยาก หรือต้องมีสเกลใหญ่โตอย่างที่คิด เพราะข้อมูลจากทางมหาวิทยาลัย Ohio พูดถึงวัตถุประสงค์หลักของ Gamification ว่าเป็นเครื่องมือทางการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายและเพิ่มผลกำไร ดังนั้นเราจึงสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมในช่องทางใดก็ได้ ทั้งในโซเชียลมีเดีย การขูดเหรียญสะสมแต้มแบบ E-Stamp หรือแอปพลิเคชันก็ได้ แต่ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบความสนุกท้าทายเหมือนเกมเท่านั้นก็พอ 

อยากทำ Gamification Marketing ต้องเริ่มอย่างไร?

สำหรับใครที่อยากลองใช้หลักการเกมมาสร้างการตลาดให้สนุก แบมมี 4 ขั้นตอนง่ายๆ ในการเริ่มทำ Gamification Marketing มาให้ได้ไปทดลองวางแผนกันดูค่ะ 

  1. วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย

ขั้นตอนแรกคุณต้องวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของเราก่อนว่าเป็นใคร มี Demographics แบบไหน มีความคิดอย่างไร และจะสามารถสร้างแรงกระตุ้นในการอยากรู้อยากเห็น อยากเอาชนะ หรืออยากแข่งขันได้อย่างไร นอกจากนี้ยังต้องวิเคราะห์ช่องทางรวมถึงเทคโนโลยีที่กลุ่มเป้าหมายใช้ เพิ่มดูว่าเราจะสามารถต่อยอดอะไรจากระบบของเครื่องมือเหล่านี้ได้บ้าง

  1. วางแผนระบบการเล่น

ก่อนจะสร้างเกมขึ้นมาเราควรจะต้องคิดถึงระบบการเล่นภายในเกมว่าจะใช้ระบบอะไร มีกลไกการเล่นอย่างไร และมีองค์ประกอบต่างๆ อะไรในเกมบ้าง 

  1. สร้างวงจรความสัมพันธ์

เมื่อวางแผนระบบการเล่น รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ภายในเกมเรียบร้อยแล้วเราก็ต้องมาสร้างวงจรความสัมพันธ์ของคนที่มาเล่นเกมว่าเราจะสามารถกระตุ้นให้คนเข้ามาเล่นเกมอย่างไร อะไรเป็นแรงขับให้คนเข้ามาเล่น กลับมาเล่นซ้ำ ไปจนถึงชวนเพื่อนเข้ามาเล่นด้วยกัน

  1. เลือกตัววัดความสำเร็จ

อย่าลืมสิ่งที่เป็น Objective ของเราว่าเราทำเกมนี้ขึ้นเพื่อจุดประสงค์อะไร และจะใช้แกนไหนเป็นตัววัดประสิทธิภาพของกิจกรรม เช่น การใช้ Engagement Conversion Rate หรือ Active User เป็นต้น

Case Study

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น วันนี้แบมเลยเอาตัวอย่างของกิจกรรม หรือแคมเปญที่ใช้ Gamification Marketing ที่ประสบความสำเร็จมาให้ได้ดูกัน จะมีเคสไหนบ้างตามมาดูเลยค่ะ

Nike

สำหรับไนกี้นั้นมีการเร่งเร้าให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกมีความมุ่งมั่นที่จะแข่งขันมากขึ้นโดยการเชื่อมต่ออุปกรณ์ติดตามการออกกำลังกายกับแอปพลิเคชัน Nike Run Club ที่จะช่วยติดตามความก้าวหน้าของการวิ่งได้ทั้งตำแหน่งที่ตั้ง ระยะทาง การวิ่งไต่ระดับ อัตรการเต้ของหัวใจ รวมถึงยังมีฟีเจอร์ Playlist ให้กำลังใจเป็นเสียงเชียร์จากเพื่อนๆ และนักกีฬาชั้นนำเพื่อให้คุณมีแรงฮึดที่จะกลับมาทุ่มเทให้การวิ่งอีกครั้ง รวมถึงหมัดเด็ดที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกท้าทาย และสนุกกับการวิ่งมากขึ้นด้วยการเปรียบเทียบและวัดฝีมือกับคนอื่นๆ ได้ แค่ติดแฮชแท็กระยะทางที่คุณทำได้กับเป้าหมายหรือการท้าทายที่ต้องการเพื่อเช็กอันดับของตัวเอง เป็นต้น

Sri Panwa

ตัวอย่างนี้เป็นการใช้ Gamification Marketing แบบง่ายๆ แต่ได้ผลจริง และได้ผลดีเกินคาดอย่างเคสนี้ที่ Facebook Fanpage โรงแรมศรีพันวา ภูเก็ต ชวนคนทั่วไปมาเล่นเกมชิงรางวัลทายเลข จาก 0 ถึง 100000 ว่าเลขไหนจะเป็นตัวเลขที่ทางศรีพันวาคิดไว้ในใจ ใครที่ทายถูกก็รับไปเลยบัตรที่พักที่โรงแรมศรีพันวาภูเก็ต 3 วัน 2 เห็นไหมคะว่าเกมนี้ง่ายมาก แถมยังไม่ต้องลงทุนในเรื่องระบบ หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ให้ยุ่งยาก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เกินคาดทีเดียว เพราะมีคนแชร์อยู่ที่ 5.2 พันแชร์ และมีคอมเมนต์ถึง 5.4 พันคอมเมนต์เลยทีเดียว

Line Man

มาถึงคิว food aggregator ที่คุ้นเคยกันบ้าง งานนี้ Line Man ได้สร้างสรรค์เกมสนุกๆ ให้ผู้ใช้แอปฯ ได้สวมวิญญาณคนขับไลน์แมนแล้วมาซิ่งกันเพื่อเก็บกล่องของขวัญในเกม โดยต้องบังคับมอเตอร์ไซค์ให้ดี ไม่ให้ชนรถคันอื่น หรือตกฟุตบาท ซึ่งในแต่ละวันเราจะได้รับ 1 เหรียญเพื่อใช้ในการเล่นเกม 1 ครั้ง แต่ถ้าอยากได้เหรียญเพิ่มก็สามารถแชร์ลิงก์หรือส่งเกมให้เพื่อนเพื่อรับเหรียญเพิ่มได้ นอกจากจะได้สนุกแบบเพลินๆ แล้วยังอาจจะได้รับสิทธิ์กินฟรีเมนูลับเฉพาะไลน์แมน หรือส่วนลดค่าอาหารด้วย

M&M

สุดท้ายเป็นแบรนด์ช็อกโกแลตที่เรารู้จักกันดีอย่าง M&M ที่ในช่วงนั้นออกรสชาติใหม่คือรสเพรสเซล จึงโพสต์รูปที่เต็มไปด้วยช็อกโกแลต M&M บน Facebook พร้อมชวนให้คนที่เห็นช่วยกันหา “pretzel guy” ที่ซ่อนอยู่ในรูปนั้นหน่อย ปรากฏว่าเกมนี้ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเกมที่ยากมาก บางคนหามาแล้วทั้งวันก็ยังหาไม่เจอ จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะเป็นเกมที่ง่าย ใช้ต้นทุนน้อย แต่ก็กระตุ้นให้คนที่มาเล่นรู้สึกท้าทาย และต้องการเอาชนะให้ได้ จนทำให้โพสต์นี้มียอดไลก์กว่า 26,000 ไลก์ และยอดคอมเมนต์มากกว่า 10,000 คอมเมนต์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงในอเมริกา

สำหรับนักการตลาดคนไหนที่อยากสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายให้สนุกขึ้น ลองใช้กลยุทธ์ Gamification Marketing ดูได้นะคะ แต่อย่าลืมว่าเราต้องรู้ว่าช่วงไหนที่จะให้ลูกค้าเล่นด่านง่าย ช่วงไหนจะให้ลูกค้าเล่นด่านยาก เพื่อให้ลูกค้าอยากจะเอาชนะเพื่อเล่นเกมของเราต่อไปเรื่อยๆ เพราะนั่นคือเสน่ห์และความสนุกของการทำการตลาดแบบ Gamification นั่นเองค่ะ

สำหรับใครที่สนใจอ่านบทความการตลาดด้าน Digital Marketing ของการตลาดวันละตอนในแง่มุมอื่นๆ สามารถอ่านต่อได้ที่นี่ 

ในบทความหน้านุ่นจะมีอะไรมาอัปเดตอีกบ้าง สามารถติดตามได้ผ่านเพจการตลาดวันละตอน รวมถึง Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนนะคะ

Bambinun*

Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน ที่หลงรักการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ พอๆ กับการกินของอร่อย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นทาสแมว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *