จาก Data-Driven Marketing สู่ Data-Driven Business ที่ต้องใช้ Data Collaboration

จาก Data-Driven Marketing สู่ Data-Driven Business ที่ต้องใช้ Data Collaboration

ใครจะคิดหละครับว่าเพราะการแพร่ระบาดของเจ้าเชื้อไวรัสโควิด19 ที่ผ่านมากลายเป็นตัวเร่งให้โลกทั้งใบก้าวเข้าสู่ความเป็น Digital Transformation ในระยะเวลาไม่กี่วันทั้งที่หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกล้วนใช้เวลาเป็นปีแต่ยังเปลี่ยนได้ไม่เท่ากับที่เจ้าโควิดทำเลย จนเกิดคำล้อเลียนในช่วงนั้นว่า Covid Transformation เพราะสถานการณ์ที่เราต้องออกจากบ้านไม่ได้กดดันให้เราต้องทำทุกทางเพื่อให้เรายังสามารถดำเนินธุรกิจแบบออนไลน์ให้ได้มากที่สุด จากที่ไม่เคยคิดว่าการประชุมออนไลน์จะเป็นไปได้ การเรียนออนไลน์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือแม้แต่การจัดสัมมนาออนไลน์ระดับชาติหรือระดับประเทศก็ล้วนเกิดขึ้นมาแล้ว ดังนั้นถ้าจะบอกว่า Covid-Driven Data-Driven Marketing ก็คงไม่ผิดนัก เพราะเมื่อประชากรจำนวนมากต้องล็อกดาวน์พร้อมกันในช่วงต้นส่งผลให้เราทุกคนต้องทำทุกอย่างบนออนไลน์ให้ได้มากที่สุด และนั่นก็ก่อให้เกิด Data เพิ่มขึ้นมากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหน้า เมื่อทุกกิจกรรมต้องเกิดขึ้นบนออนไลน์นั่นก็หมายความว่าเรามี Data มากมายมหาศาลให้เอาไปต่อยอดใช้งานในการทำ Data-Driven Marketing ได้สบายๆ

ในช่วงเวลาเดียวกันเองนั้นก้ส่งผลให้หลายบริษัทเริ่มคิดถึงการใช้ Data-Driven Marketing หรือแม้แต่ Data-Driven Business ก็ตาม เมื่อการตั้งเป้าว่าจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลแล้วคำถามสำคัญก่อนจะเริ่มลงทุนทำคือเราเข้าใจการทำ Data-Driven Everything ให้ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังดีพอแล้วหรือเปล่า

หัวใจสำคัญของการทำ Data-Driven ให้ประสบความสำเร็จคือเราเก็บ Data ได้ดีเพียงพอ เก็บ Data อย่างมีประสิทธิภาพมากพอที่จะสามารถเอาไปต่อยอดใช้งานวิเคราะห์หา Insight ได้จริงหรือเปล่า?

เพราะ Data-Driven Marketing ไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้ Data ที่มีให้เกิดประโยชน์ แต่เป็นการเก็บ Data ที่ดีพอเพื่อที่จะสามารถเอาไปวิเคราะห์ต่อยอดหา Insight สำคัญในการกำหนดกลยุทธ์การตลาดและธุรกิจได้แม่นยำสมกับที่ลงทุนทำไปจริงๆ

ทุกวันนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าการวัดผลทุกแคมเปญการตลาดที่ทำไป ไปจนถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจคือสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างมากในยุคโควิดแบบนี้ งบประมาณทุกอย่างถูกตัดลดเป็นอย่างมากเพื่อให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่รอดต่อไปได้ และนั่นก็หมายถึงงบการตลาดที่ต้องถูกหั่นลดน้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความคาดหวังจากงบประมาณที่น้อยลงกลับไม่ได้ลดลงตาม กลับยิ่งมองหาทางที่จะใช้งบการตลาดทุกบาทให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เพราะถ้าทำไม่ได้ก็อาจจะหมายถึงการถูกเลิกจ้าง หรือตกงานในยุคเศรษฐกิจโควิดนั่นเองครับ

แค่ Data-Driven Marketing ไม่พอ แต่ต้องไปให้ถึง Data-Driven Business ที่ต้องใช้ Data Collaboration ร่วมมือกันระหว่างทีมการตลาดและทีมขาย

จากรายงานของ Forrester บอกให้รู้ว่ามีนักการตลาดและนักโฆษณากว่า 52,000 คนเสี่ยงต่อการตกงานมากที่สุด แถมรายงานฉบับนี้ก็ยังคาดการณ์ว่าในกลุ่มธุรกิจเอเจนซี่โฆษณาจะยิ่งเป็นอะไรที่สาหัสมาก ไม่ใช่แค่โตยากแล้ว แต่ยังถึงขนาดว่ารายได้จากลูกค้าจะหายไปเป็นจำนวนไม่น้อยไปอีกปีเป็นอย่างน้อย

ดังนั้นคำถามสำคัญคือเราจะผ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างไร ทำอย่างไรงบการตลาดเราถึงจะไม่ถูกตัด ทำอย่างไรที่งานเราจะยังมีให้ทำจนถึงสิ้นปีหรือสิ้นเดือนนี้?

และนั่นเองก็ทำให้เทรนด์เรื่อง Data-Driven ผุดขึ้นมามากมายในปีที่ผ่านมา ใครๆ ก็อยากบอกว่าตัวเองเป็นนักการตลาดสายดาต้า แต่จะมีสักกี่คนสามารถใช้ Data ให้เกิดประโยชน์จนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำการตลาดไปจนถึงธุรกิจที่แท้จริงได้

เพราะถึงแม้หลายคนและหลายองค์กรจะบอกว่าตัวเองพยายามใช้ดาต้าอย่างหนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกมากที่ใช้ดาต้าที่ไม่มีประโยชน์ ใช้ดาต้าที่ไม่มีคุณภาพ ถูกจัดเก็บมาอย่างไม่ถูกต้อง ครบถ้วน หรือสมบูรณ์ หรือที่หนักกว่านั้นคือพยายามใช้ดาต้าไปเรื่อย แต่ดาต้าที่ใช้ก็ไม่สามารถส่งผลต่อธุรกิจให้ดีขึ้นกว่าตอนไม่ใช้ดาต้าได้ ใช้แล้วไม่ได้สร้างกำไรแต่อย่างไร หรือใช้แล้วก็ไม่ได้ช่วยลดต้นทุนให้ลดลง

จนส่งผลให้ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มองว่าการใช้ดาต้าไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรได้มากกว่าช่วงเวลาก่อนหน้าที่ไม่ได้ใช้ดาต้าแต่อย่างไร

แต่ในความเป็นจริงแล้วการจะทำเรื่อง Data-Driven ให้ประสบความสำเร็จต้องไม่ใช่แค่การใช้ข้อมูลของทีมการตลาด แต่ต้องเอาข้อมูลของฝ่ายขายเข้ามาเชื่อมโยงกัน จากนั้นก็ต้องเอาข้อมูลของส่วนบริการลูกค้าหลังการขาย เพื่อทำให้เราได้เข้าใจภาพรวมของการเชื่อมโยงกันทั้งหมดของดาต้า ทำให้เราสามารถวัดผลทุกแคมเปญการตลาดที่ทำออกไปได้อย่างแม่นยำว่าตกลงแล้วลูกค้าที่กดสั่งซื้อเข้ามานั้นมาจากแคมเปญการตลาดใด หรือแค่บังเอิญกดสั่งซื้อเข้ามาเป็นลูกค้าด้วยตัวเองโดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับแคมเปญการตลาดใดๆ เลย

และนี่ก็จะทำให้เราสามารถวัดผลการตลาดและเงินทุกบาทที่ลงทุนออกไปได้จริงๆ ว่าตกลงแล้วช่องทางไหนที่มีประโยชน์ ช่องทางไหนที่ไร้ผล เพื่อที่เราจะสามารถคำนวนได้ว่างบการตลาดที่เราใช้ไปนั้นสูงกว่ากำไรที่ได้จากลูกค้าหนึ่งคนหรือไม่ หรือในความเป็นจริงแล้วเรายังใช้งบการตลาดน้อยไปก็จะได้ไปเพิ่มงบการตลาดเข้าไปเพื่อทำให้ลูกค้าเข้ามาหาเรามากขึ้น

เพราะแต่ไหนแต่ไรมากงบของทีมการตลาดถูกมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มาโดยตลอด นั่นก็เพราะวิธีการวัดผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดจากการไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลของลูกค้าตามแผนกต่างๆ ในบริษัทอีกเช่นกัน ไปจนถึงการเก็บข้อมูลที่ไม่มีปรสิทธิภาพและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมาแต่แรกครับ

อย่าเอาแต่โทษว่าทีมการตลาดใช้แต่เงิน แต่ต้องโทษตัวเองว่าทำไมเราถึงวัดผลเงินที่ใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้เสียที

การตลาดวันละตอน

ถ้าถามว่าเรื่องนี้แปลกไหม? ก็ต้องบอกว่าไม่แปลก เพราะจากการสำรวจของ Chief Marketing พบว่ากว่า 50% ของผู้บริหารระดับ C-level ล้วนคิดเหมือนกันว่าค่าใช้จ่ายที่เป็นงบการตลาดไม่เคยสร้างยอดขายหรือผลกำไรกลับคืนมาเป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างไร ดังนั้นคำถามสำคัญคือเราจะเปลี่ยนความคิดคนที่ไม่ใช่นักการตลาดให้มองว่างบการตลาดไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่ายที่มีไว้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ หรือเอาไว้ทำแคมเปญโฆษณาที่ไม่ค่อยส่งผลต่อยอดขายผิดกับทีม Sale แต่เห็นเลยว่าทำเงินจากการขายจริงๆ

ถ้าเราอยากทำให้คนอื่นที่ไม่ใช่นักการตลาดมองว่าทีมการตลาดนั้นเป็นทีมที่สามารถสร้างรายได้และผลกำไรให้ธุรกิจได้จริงๆ เราจะต้องทำการ Business Transformation ให้กลายเป็นองค์กรที่พร้อมใช้ข้อมูลขับเคลื่อนหรือที่เรียกว่า Data-Driven Marketing จริงๆ ให้ได้

แต่การจะเป็นองค์กรที่ Data-Driven Marketing ได้จริงๆ นั้นจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงานใหม่เกือบหมดจรด เรื่อง Data จะต้องกลายเป็นเรื่องแรกของทุกสิ่งที่จะทำออกไปหลังจากนั้น จะต้องเป็นหัวใจหลักในการกำหนดกลยุทธ์ ไปจนในทุกๆ การทำงานตั้งแต่แรกเริ่มไม่ใช่มาคิดได้ในตอนท้าย จะต้องมีการวางแผนที่จะเก็บ Data มาเพิ่มเติม หรือแม้แต่ปรับปรุง Data เก่าให้ใหม่อีกด้วย

การจะเป็นบริษัทที่ Data-Driven Marketing จริงๆ ยังไม่ใช่แค่นำมาใช้กับการวางแผนหรือการวัดผลในทุกสิ่งที่ทำไปเท่านั้น เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นแต่นักการตลาดหลายคนมักหลงลืมกัน ก็คือการหาให้เจอว่า Data ใดหรือตัวชี้วัดไหนที่สะท้อนถึงเป้าหมายทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น Conversion, Transaction หรือ Customer Satisfy การวัดผลจะไม่ใช่แค่เรื่องของทีมการตลาดแต่อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องวัดผมไปยังทุกทีมทุกแผนกที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าทั้งหมด

สำหรับนักการตลาดที่อยากจะผลักดันให้องค์กรเป็น Data-Driven ได้ จะต้องสามารถนำเสนอตัวชี้วัดสำคัญที่เหล่าผู้บริหาร C-level สนใจ ไม่ใช่แค่ข้อมูลตัวชี้วัดทั่วไปประเภทเว็บเรามีคนเข้ามากน้อยกว่าเดิมเท่าไหร่ วันนี้มีคนกดแชร์คอนเทนต์เราไปขนาดไหน แต่เราจะต้องทำให้ผู้บริหารที่อนุมัติเงินเห็นถึงประโยชน์ของการเก็บข้อมูล วัดผล และนำไปใช้งาน เราจะต้องให้ในสิ่งที่ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจต้องการนั่นก็คือสิ่งนี้มันทำให้ธุรกิจเราดีขึ้นอย่างไร

เราได้ลูกค้ามากขึ้นหรือไม่จากการที่มีคนเข้าเว็บไซต์มากขึ้น เรามีคนเข้ามาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นหรือถ้าเมื่อคอนเทนต์บนโซเชียลเราถูกแชร์ออกไปมากมาย นี่ต่างหากคือสิ่งที่ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจอยากรู้ครับ

ตอนนี้คุณอาจจะเริ่มเข้าใจจนเริ่มตั้งคำถามใหม่ว่า “แล้วเราควรจะเริ่มจากตรงไหน?”

แค่ Data-Driven Marketing ไม่พอ แต่ต้องไปให้ถึง Data-Driven Business ที่ต้องใช้ Data Collaboration ร่วมมือกันระหว่างทีมการตลาดและทีมขาย

แรกเริ่มจากการประเมินก่อนว่าเป้าหมายทางธุรกิจที่เราต้องพิชิตให้ได้คืออะไร เราจะได้เริ่มตั้งต้นได้ถูกว่าจะเดินไปทางไหน และก็เริ่มแพลนขั้นตอนการทำงานต่างๆ ออกมาเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างที่หวัง

เราต้องเริ่มจาก Business Goals จะได้รู้ว่าจะต้องทำอะไรไปเพื่ออะไร จะต้องเก็บ Data แบบไหน จะต้องเอา Data ไปใช้อย่างไร และอะไรคือ Data points ตัวชี้วัดที่เราจะต้องใส่ใจไม่ใช่ว่าเก็บ Data ไปใช้โดยไม่มีเป้าหมายและทิศทาง

เช่น ถ้าบริษัทบอกว่าเป้าหมายหลักของธุรกิจคือการปรับปรุงสายพานการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรืออาจจะเป็นเพิ่มโอกาสปิดการขายกับลูกค้าให้มากขึ้น หรือทำให้ธุรกิจมียอดขายเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มรายได้จากลูกค้าแต่ละคน หรือทำให้ลูกค้าอยู่กับเรานานขึ้นซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจประเภทที่ต้องจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน

เมื่อเรารู้ว่าเป้าหมายที่สำคัญของธุรกิจเราคืออะไร เราก็จะได้รู้ว่าจะต้องวัดผลอะไร จะต้องดูตัวชี้วัดแบบไหน ไม่งั้นก็ดูไปเรื่อยทำไปเรื่อย เสียเงินและเสียเวลาไปเรื่อยๆ ครับ

ในหนังสือ Data-First Marketing บอกว่าให้เริ่มจาก Data ที่มีนั้นง่ายและเร็วที่สุด ในหนังสือเล่มนั้นบอกถึงแนวทางเริ่มต้นและตัวชี้วัดที่เราต้องดู ว่าอะไรบ้างที่เป็นตัวชี้วัดถึงเป้าหมายทางธุรกิจโดยส่วนใหญ่

เช่น ทีมการตลาดอาจจะเป็นทีมเดียวที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของ Leads ใหม่ๆ ได้เท่านั้น แล้วทำไมเราไม่ทำให้ทีม Sale กับทีมอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าถึง Data ส่วนนี้ได้บ้างหละ แล้วทีมการตลาดเองสามารถเข้าถึงข้อมูลการขายไปจนถึงข้อมูลของกำไรบรรทัดสุดท้ายหลังจากหักลบต้นทุนทุกอย่างได้หรือยัง?

เพราะถ้าเราจะเป็นบริษัทที่ Data-Driven จริงๆ ให้ประสบความสำเร็จ เราจะต้องวัดผลเงินที่ใส่เข้าไปว่าทำยอดขายหรือกลายเป็นกำไรออกมาได้มากน้อยเท่าไหร่ เราจะต้องเชื่อมโยง Customer data จากหน่วยงานต่างๆ ที่แยกกันเข้ามาไว้รวมกัน เพื่อที่เราจะสามารถเข้าใจภาพรวมและเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อเราทำแคมเปญการตลาดบางอย่างออกไป หรือถ้าเราได้รู้ว่าทำไปแล้วไม่เกิดผลอะไรก็จะได้ไม่ต้องเปลืองงบทำซ้ำ แล้วก็โยกเอางบนั้นไปทำการตลาดอื่นที่ยังไม่เคยลองทำดีกว่า

นักการตลาดยุคดาต้า 5.0 ต้องมองให้ออกว่า Data แบบไหนหรือตัวชี้วัดใดที่สำคัญต่อธุรกิจเราจริงๆ เราต้องทำงานใกล้ชิดกับทีม Sale มากกว่านี้ ต้องมองว่าเราสองทีมคือทีมเดียวกัน และเราต้องเข้าไปคลุกคลีกับทีม Service ให้มากขึ้นด้วย เพราะเราจะได้รู้ว่าหลังจากเขามาเป็นลูกค้าเราแล้วมีอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง หรือปัญหาของสินค้าที่เรามีอยู่ตรงไหน จะได้แก้ผ่าน Communication ออกไปเพื่อลดปัญหาปลายน้ำที่กำลังเป็นอยู่ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือแม้สองทีมสำคัญอย่าง Marketing กับ Sale จะรู้ว่างานของทั้งคู่เชื่อมโยงกัน แต่พวกเขากลับมีเป้าหมาย KPI ที่ไม่สอดคล้องกันส่งผลให้การทำงานประสานกันของสองทีมไม่เกิดขึ้นจริงสักที

ดังนั้นคำถามสำคัญคือ คุณทำให้เป้าหมายของทั้งสองทีมสอดคล้องและส่งเสริมกันมากพอแล้วหรือยัง?

แค่ Data-Driven Marketing ไม่พอ แต่ต้องไปให้ถึง Data-Driven Business ที่ต้องใช้ Data Collaboration ร่วมมือกันระหว่างทีมการตลาดและทีมขาย

จากรายงานของ Televerde ในปี 2017 บอกให้รู้ว่าการกำหนด KPI ของ Sale team และ Marketing team นั้นมีปัญหาตรงไหนบ้าง

  • 37% มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร
  • 30% ขั้นตอนการหา Lead ที่ได้คุณภาพ
  • 33% ตัวชี้วัดความสำเร็จระหว่าง Sale กับ Marketing ที่ไม่สอดคล้องกัน

ดังนั้นเราต้องทำให้แน่ใจว่าทีมการตลาดกับทีมขายนั้นได้ทำงานร่วมกันแบบสอดคล้องประสานงานกันไม่ใช่ประสานงา การจะเรียกตัวเองว่าเป็นนักการตลาดสาย Data-Driven หรือเป็นองค์กร Data-Driven ที่ทำแค่ใช้ดาต้าหรือเก็บดาต้ามาไม่เพียงพอ แต่เราต้องทำให้ดาต้านั้นสอดคล้องประสานงานและส่งเสริมการทำงานของทุกฝ่าย เราต้องเริ่มจากการคิดว่าเราจะใช้ดาต้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรได้อย่างไร ซึ่งการจะเป็นบริษัทที่ Data-Driven ได้ดีต้องเริ่มจาก 3 คำถามนี้เป็นหลัก

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างทีม ทีมการตลาดจะไม่ใช่แค่ทีมเดียวในการทำ Data-Driven Marketing แต่ต้องเป็น Data-Driven Business เริ่มจากการประสานงานกับทีม Sale ก่อนว่าเราจะปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกันเพื่อบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้นออย่างไร เริ่มจากการกำหนดเงื่อนไขของ Lead ที่ทีม Marketing ต้องหามาให้ร่วมกันว่าแบบไหนคือ Quality Lead ที่ Sale ต้องการ ไม่อย่างนั้นเมื่อทีม Sale ปิดการขายไม่ได้ก็จะเอาแต่โทษ Marketing ว่าส่ง Lead ไม่มีคุณภาพมาให้ (เรื่องนี้ผมเจอบ่อยเวลาเป็น Advisor ให้ลูกค้า)
  2. Soft skills ที่ดี เพราะการทำ Data-Driven ไม่ใช่แค่การเอาเครื่องมือมาใช้หรือเทคโนโลยีมาลง แต่เราต้องใช้ทักษะ Critial thinking หรือ Data thinking ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเหมือนกับหลายบริษัทที่มีเงินซื้อเทคโนโลยีมากมายแต่กลับไม่มีคนมีความสามารถพอที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพที่เครื่องมือสามารถทำได้ครับ
  3. Growth mindset เรื่องนี้สำคัญมาก ถ้ามัวมองแต่ที่ผลลัพธ์ก็จะทำให้พลาดการปรับปรุงวิธีการทำงานในระยะยาว Growth mindset คือการเน้นที่กระบวนการทำงานที่ถูกต้องมากกว่าผลลัพธ์ ไม่อย่างนั้นแล้วแต่ละทีมในองค์กรก็จะทำงานเพียงแค่ให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายเพื่อให้อยู่รอดมีงานทำในปีหน้า

นอกจากกระประเมินการทำงานของคนในทีมและคนระหว่างทีมแล้ว ก็ต้องประเมินการทำงานระหว่างคนกับเครื่องมือด้วย เราต้องดูด้วยว่าทีมงานของเราสามารถใช้เทคโนโลยีที่ลงทุนไปให้เป็น Data-Driven จริงๆ มากน้อยแค่ไหน ต้องไม่ได้ดูแค่ทีม Marketing แต่ต้องดูทั้งองค์กร ถ้าเราอยากจะเป็นองค์กรที่ใช้ Data-Driven Business เรื่องนี้สำคัญมากที่ Team และ Tools ต้องสอดคล้องกันไม่อย่างนั้นก็รีดประสิทธิภาพออกมาได้ไม่สุด

หลังจากการประเมินปัญหาทั้งหมดและวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันออกมาแล้ว ก็ต้องมากำหนดงานที่ต้องทำเพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่จะใช้ Data-Driven อย่างเต็มประสิทธิภาพ กับ 5 คำถามที่คุณต้องหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ

  • ทีมการตลาดและทีมงานอื่นๆ รับเอาเป้าหมายของธุรกิจมาเป็นเป้าหมายของทีมด้วยแล้วหรือยัง?
  • เชื่อมต่อ Data จากทีมต่างๆ ทั้งหมดในองค์กรเข้าไว้ด้วยกันก่อนจะวิเคราะและทำการวัดผลแล้วหรือยัง?
  • การเก็บ Data เพื่อวัดผลนั้นมีความถูกต้อง แม่นยำ ไม่มีอคติแล้วใช่ไหม?
  • เราทำการเก็บ Data ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำอย่างครบถ้วนเมื่อทำแคมเปญการตลาดแล้วใช่ไหม?
  • ฝึกอมรมทีมงานเป็นประจำให้เก็บข้อมูล วัดผล และวิเคราะห์เพื่อตอบเป้าหมายทางธุรกิจ ไม่ใช่แค่ของทีมตัวเองแล้วหรือยัง?

การจะเป็นองค์กรที่ Data-Driven เป็นเรื่องที่รอไม่ได้อีกต่อไป เพราะ Data เหมือนสายน้ำที่ไม่มีวันไหลย้อนกลับ ตามกลับไปเก็บไม่ได้ โดยเฉพาะในวันที่ผู้บริโภคก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลให้มี Data อยู่มากมาย เราจึงต้องรีบทำทันทีไม่ใช่รอวันพรุ่งนี้ เริ่มจากสิ่งง่ายๆ ใกล้ตัว เริ่มจากการตั้งคำถามที่ถูก เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เริ่มจากการปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องประสานงานกัน

เพราะธุรกิจยุคดาต้า 5.0 ล้วนก้าวเข้าสู่การเป็น Data Business อย่ามัวรอให้ถึงวันที่สายเกินกว่าจะเริ่มตั้งต้นใหม่ เพราะถึงวันนั้นคุณอาจจะไม่มีวันแก้ตัวอีกต่อไป เรื่อง Data-Driven ไม่ใช่แค่เรื่องของเครื่องมือ แต่เป็นเรื่องระหว่างคนกับคน และคนกับเครื่องมือ และการตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าเราจะเอาชนะเป้าหมายทางธุรกิจด้วย Data ได้อย่างไรครับ

Source

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน