Data-Driven Starbucks เบื้องหลังร้านกาแฟที่ใช้ Data, AI และ IoT อย่างเข้มข้น

Data-Driven Starbucks เบื้องหลังร้านกาแฟที่ใช้ Data, AI และ IoT อย่างเข้มข้น

เมื่อ Data-Driven Starbucks ทำให้ในวันนี้เขาไม่ได้อยู่ในธุรกิจร้านกาแฟอย่างที่หลายคนคิด แต่พวกเขาอยู่ในธุรกิจ Data ในระดับเดียวกับบริษัท ​Tech Company ไปแล้วครับ

เพราะสตาร์บั๊คไม่ได้อยู่ได้ด้วยยอดขายจากเมนูกาแฟหรือเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นจากทั่วโลกเท่านั้น แต่พวกเขาใช้ Data ที่ได้จากการซื้อขายเมนูต่างๆ มากกว่า 100,000,000 ครั้งในแต่ละสัปดาห์ บวกกับเทคโนโลยีอย่าง IoT และ AI เพื่อบริหารธุรกิจให้แตกต่างจนยากที่คู่แข่งจะเทียบเคียงได้

บทความนี้เลยจะไข 5 ความลับของสตาร์บั๊คว่าพวกเขาใช้ Data,  AI และ IoT อย่างไรเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ และเมื่ออ่านจบแล้วคุณจะเข้าใจอย่างหมดข้อสงสัยว่าทำไมผมถึงบอกว่า Starbucks อยู่ในธุรกิจ Data ในระดับ Tech Company มากกว่าแค่ร้านกาแฟไปนานแล้ว

เรียนรู้จาก Starbucks ในการใช้ Data และ Technology เพื่อทำธุรกิจให้ออกมาดีกว่าที่ใครจะคิดได้

Data-Driven Starbucks เบื้องหลังร้านกาแฟที่ใช้ Data, AI และ IoT อย่างเข้มข้น

อย่าคิดว่าร้านกาแฟจะมี Data อะไรมากมายให้เก็บ เพราะกว่า 30,000 สาขาที่สตาร์บั๊คมีทั่วโลกนั้นส่งผลให้มีข้อมูลการซื้อขายกว่า 100,000,000 ครั้งเกิดขึ้นทุกสัปดาห์ และเมื่อทำการวิเคราะห์แค่ข้อมูลการซื้อขายที่เกิดขึ้นก็ทำให้สตาร์บั๊คเข้าใจว่าอะไรบ้างที่ลูกค้าชอบ หรือเมื่อไหร่ที่ลูกค้าไม่พอใจ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อนตามกระแส Big Data แต่สตาร์บั๊คทำเรื่องนี้มานานกว่าทศวรรษหรือมากกว่า 10 ปีแล้วครับ

เพราะวิกฤตทำให้เกิดโอกาส เมื่อ 10 ปีก่อนตอนที่สตาร์บั๊คเกิดปัญหาใหญ่ยอดขายตกลงมากมาย เกิดการเปิดสาขาใหม่ๆ โดยไร้การวางแผนที่ดีพอ บวกกับปัญหาภายในองค์กรจนต้องทำให้อดีต CEO และผู้ก่อตั้งอย่าง Howard Schultz ต้องกลับมารับหน้าที่ CEO อีกครั้ง

ในตอนปี 2008 นั้นสตาร์บั๊คประกาศปิดร้านพร้อมกันทั่วประเทศจนกลายเป็นข่าวใหญ่ เพื่อกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง บวกกับการไล่ปิดสาขาที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อลดการแย่งลูกค้ากันเองกับสาขาที่ใกล้เคียง และตั้งแต่ตอนนั้น Howard Schultz ก็มุ่งมั่นที่จะหาทางใช้ Data ในการบริหารและตัดสินใจเรื่องต่างๆ มากยิ่งขึ้น พวกเขาอยากรู้ทุกความเปลี่ยนแปลกที่เกิดขึ้นภายในร้าน อยากรู้ว่าลูกค้าแต่ละคนเป็นอย่างไร และเพื่อเอาไปใช้ในการตัดสินใจก่อนจะเปิดสาขาใหม่ทุกครั้ง

แต่นอนนอนว่าในช่วงแรกการตัดสินใจยังไม่ได้เป็น Data-Driven ในทุกวันนี้ สตาร์บั๊คในช่วงแรกยังเป็นการบริหารงานแบบ Human-Driven เหมือนองค์กรทั้งหลายในเวลานี้ที่ใช้ Data แค่เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่ผู้บริหารคิดจะทำนั้นถูก แต่หลังจากนั้นไม่นานสตาร์บั๊คก็มีความแตกต่างจากบริษัทอื่นมาก เพราะพวกเขาได้ไอเดียใหม่ๆ ไปลองทำจาก Data และนั่นก็ทำให้ร้านกาแฟแห่งนี้ก้าวหน้าเหนือคู่แข่งไปอย่างมากจนยากที่ใครจะไล่ตามพวกเขาได้ทัน 

ดังนั้น Data-Driven Starbucks จริงๆ

พวกเขาใช้ Data ในการตัดสินใจเรื่องการเปิดสาขาใหม่ว่าพื้นที่ไหนควรเปิด หรือแม้กระทั่งควรเปิดที่ฝั่งไหนของถนนสายนี้ ใช้ในการทำการตลาดว่าจะส่งโปรโมชั่นแบบไหนให้ใครดี ใช้ในการตัดสินใจว่าควรจะออกเมนูใหม่เป็นอะไร หรือแม้แต่ใช้ในการบริหารจัดการระบบ Supply chain เพื่อให้เกิดกำไรสูงสุด โดยทั้งหมดนี้เริ่มมาจากโปรแกรม Starbucks Rewards ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2008 ครับ

และเรื่องน่าทึ่งที่สตาร์บั๊คทำแต่น้อยคนนักจะรู้คือพวกเขาไม่ได้แค่ใช้ Data จากระบบ Loyalty Program เท่านั้น แต่เขายังใช้เทคโนโลยี IoT หรือ Internet of things อย่างจริงจังที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการภายในร้าน จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเครื่องชงกาแฟสตาร์บั๊คนั้นเชื่อมต่อระบบ Cloud ที่สามารถเรียนรู้การชงเมนูใหม่ๆ ด้วยตัวเอง และเตาอบภายในร้านสตาร์บั๊คก็กำลังจะเป็นอุปกรณ์ IoT ที่จะอัพเดทตัวเองผ่านระบบ Cloud ในเร็วๆ นี้

5 วิธีการที่ Starbucks ใช้ Data AI และ IoT เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

แม้สิ่งที่สตาร์บั๊คทำจะไม่แตกต่างจากบริษัทยุคใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลสักเท่าไหร่ในเรื่องการใช้ Data กับเทคโนโลยีต่างๆ อย่างเข้มข้น แต่ที่น่าสนใจที่เราจะคุยกันคือการที่พวกเขาใช้ Data ที่มีในการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ในแบบที่คู่แข่งนึกไม่ถึงจนทำให้ยากที่จะมีร้านกาแฟไหนตามพวกเขาได้ทันในเร็ววัน

แม้จะมีหลายอย่างที่สตาร์บั๊คทำได้ดีจาก Data แต่นี่น่าจะเป็น 5 เรื่องที่สตาร์บั๊คทำได้ดีมากจนนักการตลาดหรือเจ้าของธุรกิจควรเรียนรู้จากเรื่องนี้ครับ

  1. ส่งโปรโมชั่นหรือข้อเสนอต่างๆ ให้กับลูกค้าแบบ Personalization
  2. ใช้ Data จากภายนอกในการสร้างเมนูหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
  3. ใช้ Data มากมายก่อนก่อนจะตัดสินใจเปิดสาขาใหม่
  4. มีการปรับเปลี่ยนเมนูตามความเหมาะสมของแต่ละสาขาโดยอัตโนมัติ
  5. ใช้ในการป้องกันการเสียหายใหญ่ไม่ให้เกิด และอัพเดทเครื่องไม้เครื่องมืออัตโนมัติ

1. Personalized Promotions เพราะลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วทำไมต้องให้โปรโมชั่นที่เหมือนกันทุกคนล่ะ

Data-Driven Starbucks เบื้องหลังร้านกาแฟที่ใช้ Data, AI และ IoT อย่างเข้มข้น

เมื่อมี Data ทุกองค์กรก็คาดหวังว่าจะทำ Personalization กับลูกค้าแต่ละคนได้ และสตาร์บั๊คเองก็เช่นกัน เพราะด้วยข้อมูลสมาชิกกว่า 16 ล้านคนเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเดียวที่ใช้จ่ายและสะสมแต้มผ่าน Starbucks Rewards ก็มากเกือบครึ่งของลูกค้าทั้งหมดแล้ว

นั่นหมายความว่าสตาร์บั๊คจะรู้จักลูกค้าแต่ละคนเป็นอย่างดีว่าพวกเขามีพฤติกรรมอย่างไร ชอบกินเมนูไหน ชอบซื้อสาขาไหน ชอบแวะเข้ามาเวลาไหน จาก Data ทั้งหมดนี้บวกกับการใช้ AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ว่าลูกค้ากลุ่มไหนแพ้โปรโมชั่นแบบไหน ทำให้สตาร์บั๊คเวลาออกโปรโมชั่นทีก็ไม่ต้องหว่านหาลูกค้าทุกคนให้คนที่ไม่ชอบโปรโมชั่นแบบนั้นรำคาญใจ

เพราะถ้า Promotion ถูกส่งออกไปแบบ Personalized ให้กับเฉพาะกลุ่มคนที่น่าจะชอบได้รับเท่านั้น แน่นอนว่าก็จะแฮปปี้กันทุกฝ่าย คนที่ได้รับก็อยากเอาไปใช้ ส่วนสตาร์บั๊คก็ได้ยอดขายที่ดีกลับมา เพราะแม้สตาร์บั๊คจะไม่ได้ทำโปรโมชั่นหรือข้อเสนอแบบ Personalization จริงๆ แต่ด้วยการเลือกได้ว่าจะให้ใครได้รับโปรโมชั่นหรือข้อเสนอนี้บ้างก็ทำให้การทำแคมเปญการตลาดแบบแมสๆ นั้นกลับได้ผลในระดับ personalization ทีเดียวครับ

สรุปได้ว่า โปรแบบแมสถ้าให้เห็นแค่บางคนที่ชอบเท่านี้ก็เรียกว่า personalization ได้แล้ว

2. Insight-Driven Products เอา Data มาต่อยอดสร้างเป็นเมนูใหม่

Data-Driven Starbucks เบื้องหลังร้านกาแฟที่ใช้ Data, AI และ IoT อย่างเข้มข้น

เพราะนอกจากสตาร์บั๊คเองจะมีข้อมูลการซื้อขายที่เกิดขึ้นภายในร้านมากมายมหาศาลแล้ว พวกเขายังใช้ Data จากแหล่งต่างๆ ภายนอกเพื่อมาประกอบการตัดสินใจในการทำธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในการสร้างสรรค์เมนูหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

เช่น เมื่อ 15 ปีก่อนตอนที่เห็นว่าในเทศกาลฮาโลวีนเต็มไปด้วยฟักทอง พวกเขาเลยลองทำเมนูฟักทองขึ้นมาขายในช่วงเทศกาลนั้น ปรากฏว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้คนมากมาย จนทำให้ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ มหาศาล ผลคือเมนูนี้กลายเป็นเมนูประจำที่ทางสตาร์บั๊คจะเอากลับมาขายทุกช่วงหน้าหนาว และนั่นก็ทำให้ผู้คนเฝ้ารอคอยให้เข้าหน้าหนาวสักทีเพื่อจะได้กินเมนูนี้ที่สตาร์บั๊ค

หรืออีกกรณีนึงที่ Starbucks ใช้ Data จากภายนอกในการตัดสินใจทำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาวางขาย ในช่วงปี 2016 ที่เริ่มเห็นว่าผู้คนจำนวนหนึ่งสนใจที่จะมีเครื่องทำกาแฟกึ่งสำเร็จรูปไว้ที่บ้าน หรือแม้แต่กับคนบางกลุ่มที่อยากทำกาแฟดีๆ กินเองที่บ้านมากขึ้น และนั่นก็เลยเป็นที่มาของสินค้าใหม่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเครื่องชงแคปซูล ไม่ว่าจะกาแฟดริฟแบบไม่ต้องมีอุปกรณ์ใดๆ ให้ยุ่งยาก หรือแม้แต่กาแฟสำเร็จรูปแบบซองและแบบขวดที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อในต่างประเทศ

และที่น่าสนใจคือเมนูหวานน้อยเกิดมาจากการเห็น Data ภายในร้านว่าเริ่มมีลูกค้าบางกลุ่มที่สั่งกาแฟแบบไม่ใส่นมหรือใส่นมน้อยๆ เพื่อลดความหวานนั่นเอง

สรุปได้ว่าทุกเมนูใหม่ๆ ของ Starbucks นั้นมี Data-Driven Products อยู่เบื้องหลังทั้งนั้นเลยครับ

3. ใช้ Data มหาศาลก่อนจะเริ่มเปิดร้านสาขาใหม่

Data-Driven Starbucks เบื้องหลังร้านกาแฟที่ใช้ Data, AI และ IoT อย่างเข้มข้น

จากบทเรียนเมื่อปี 2018 ที่เปิดสาขาเร็วเกินไปจนต้องปิดตัวลงเพื่อลดอาการเลือดไหล ทำให้ตั้งแต่นั้นมาก่อนจะเปิดสาขาใหม่สักร้านต้องมีการใช้ Data อย่างมากเพื่อเอามาวิเคราะห์คำนวนถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจว่าควรเปิดหรือไม่ แล้วควรเปิดตรงไหน หรือแม้แต่ฝั่งไหนของถนนครับ

สตาร์บั๊คนำเอา AI มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น location-based ขั้นสูงที่เรียกว่า GIS หรือ Geospatial Information Systems ร่วมกับข้อมูลที่เป็นจำนวนประชากรในละแวกนี้ รายได้ของผู้คนแถวนี้ ปริมาณการเดินผ่านของผู้คนบริเวณนี้ ร้านคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อมที่อยู่ใกล้ๆ และข้อมูลอื่นๆ อีกมากมายเท่าที่มีผลต่อรายได้เมื่อเปิดร้านและผลกำไรในอนาคต

ทั้งหมดนี้ทำให้สตาร์บั๊คตัดสินใจได้อย่างแม่นยำขึ้นว่าระหว่างการเปิดสาขาเพิ่มเพื่อกันคู่แข่งไม่ให้มาแย่งส่วนแบ่งนั้นจะคุ้มค่าจริงในการลงทุน ไม่ใช่เป็นการแย่งลูกค้ากันเองจนทำให้ต้องเจ็บตัวไปทั้งสองสาขาเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีตครับ

สรุปได้ว่าทุกสาขาของสตาร์บั๊คผ่านการวิเคราะห์จาก Big Data โดย AI มาแล้วว่าตรงนี้ดีมีลูกค้า ดังนั้นถ้าเราจะไปเปิดร้านใกล้ๆ สตาร์บั๊คเพื่อขายสินค้าหรือบริการอื่นเพื่อจับกลุ่มพรีเมียมก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจครับ

4. Dynamic Menus ร้านสตาร์บั๊คเหมือนกันแต่เมนูที่มีขายไม่เหมือนกัน

Data-Driven Starbucks เบื้องหลังร้านกาแฟที่ใช้ Data, AI และ IoT อย่างเข้มข้น

นั่นหมายความว่าในแต่ละสาขาของสตาร์บั๊คไม่ได้มีเมนูขายเหมือนกันทุกที่ มิน่าล่ะผมหาขนมที่ชอบกินบางเมนูไม่เจอที่สาขานึงเป็นประจำ!

เพราะที่ร้านสตาร์บั๊คในอเมริกานั้น ป้ายเมนูของร้านจะไม่ใช่ป้ายที่เป็นสิ่งพิมพ์หรือกระดานดำแบบที่คุ้นกันในบ้านเรา แต่พวกเขาใช้ป้ายดิจิทัลกันหมดแล้ว นั่นหมายความว่าเมนูต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ทันที ทำให้แต่ละสาขาไม่จำเป็นต้องขายเมนูเหมือนกันทุกสาขาเสมอไป

เช่น ถ้าสตาร์บั๊ครู้ว่าสาขานี้เมนูชาเขียวขายไม่ค่อยดี ก็อาจจะมีการลดเมนูชาเชียวลงไป หรืออาจถึงขั้นถอดเมนูชาเขียวออกไปจากสาขานั้นเลย ทั้งนี้ก็เพื่อประหยัดการสต๊อกสินค้าที่มีโอกาสขายยากออกไป เพื่อลดการหมดอายุของวัตถุดิบลงไปโดยไม่จำเป็น

แน่นอนว่ากับเมนูอาหารหรือขนมปังที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น พวกเขาก็จะเลือกแสดงเฉพาะเมนูที่ขายได้ดีกับแต่ละสาขาเท่านั้น

และตอนนี้ทาง Starbucks ก็พยายามทำในสิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่านั้น ด้วยการเลือกขายเมนูบางอย่างเป็นพิเศษจากข้อมูลภายนอก เช่น สภาพอากาศของวันพรุ่งนี้ ถ้ามีแนวโน้มว่าฝนจะตกแล้วส่งผลให้เมนูไหนขายดีเป็นพิเศษ ก็จะมีการแสดงเมนูนั้นขึ้นก่อนในป้ายของร้านอีกทีครับ

สรุปได้ว่าแต่ละสาขาของสตาร์บั๊คกำลังจะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง นี่คือการสร้าง Customer Experience ในแบบ Locationzation จริงๆ ครับ

5. Optimizing machine maintenance รู้แล้วซ่อมก่อนที่เครื่องจะเสีย

Data-Driven Starbucks เบื้องหลังร้านกาแฟที่ใช้ Data, AI และ IoT อย่างเข้มข้น

ลองคิดดูซิว่าถ้าอยู่ดีๆ เครื่องชงกาแฟกลับเสียขึ้นมาในตอนเช้าที่ลูกค้ามากมายต้องเดินเข้ามาซื้อกาแฟ ทางร้านจะต้องสูญเสียรายได้ไปมากขนาดไหน ยังไม่นับถึงโอกาสในการเสียลูกค้าประจำไปให้กับคู่แข่งร้านกาแฟข้างๆ เพราะความเสียอารมณ์ในวันนั้นอีก แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นที่ร้านสตาร์บั๊คเพราะพวกเขาเก็บ Data จากเครื่องต่างๆ ภายในร้านไปวิเคราะห์จนรู้ว่าเครื่องของร้านไหนที่ต้องรีบเข้าไปดูแลก่อนที่จะเสียหายหนักเกินเยียวยาครับ

และนี่คือการบำรุงรักษาเครื่องชงกาแฟที่แสนล้ำค่าภายในร้านสตาร์บั๊คจาก Data ครับ

เพราะร้านสตาร์บั๊คไม่ได้มีช่างซ่อมไว้เป็นพนักงานประจำ ดังนั้นถ้าเกิดเครื่องชงกาแฟมีปัญหาขึ้นมาทีนั่นหมายความว่าพวกเขาอาจต้องเสียเวลาค่อนวันหรือข้ามวันเพื่อให้สำนักงานใหญ่ส่งช่างเข้ามาแก้ปัญหาให้ หรือถ้าช่างมาถึงแล้วและพบว่าเครื่องนี้อาการหนักมากจนไม่สามารถซ่อมได้ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่อย่างเดียว จะยิ่งเป็นการเสียทั้งเวลาและเงินมากขนาดไหนเลยทีเดียวครับ

แต่ด้วยเทคโนโลยี IoT หรือ Internet of Things ที่สตาร์บั๊คเอามาใช้กับเครื่องมือต่างๆ ภายในร้านตั้งแต่เครื่องชงกาแฟไปจนถึงเตาอบอาหาร ทำให้ทางสตาร์บั๊คเก็บข้อมูลการทำงานของเครื่องอยู่ตลอดเวลาจนสามารถวิเคราะห์และประเมินล่วงหน้าได้ว่าเครื่องไหนกำลังจะมีปัญหาเล็กๆ ที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ จากนั้นก็จะส่งช่างออกไปจัดการตั้งแต่ยังเป็นปัญหาเล็ก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใหญาจนไม่สามารถชงกาแฟให้ลูกค้าได้ในที่สุดครับ

และตอนนี้ทางสตาร์บั๊คก็เริ่มเอาเครื่องชงกาแฟรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า Clover X มาใช้ในบางสาขา (บ้านเรามีที่สาขาสีลม) ซึ่งเจ้าเครื่องชงกาแฟรุ่นใหม่นี้ถือว่าเป็นเครื่องชงกาแฟ IoT เต็มตัวก็ว่าได้ เพราะมันเชื่อมต่อกับระบบ Cloud ทำให้สามารถปรับปรุงส่วนผสมของเมล็ดกาแฟ หรือการบดออกมาเป็นกาแฟสูตรใหม่ๆ โดยที่พนักงานทางร้านไม่ต้องเข้าไปฝึกฝนความรู้ใดๆ เพิ่มเติมเลย

เห็นมั้ยครับว่าเครื่องชงกาแฟรุ่นใหม่ของสตาร์บั๊คที่เป็น IoT นั้นฉลาดล้ำนอกจากจะแจ้งไปทางสำนักงานใหญ่ได้ว่าเครื่องกำลังจะมีปัญหาเมื่อไหร่ ยังสามารถอัพเดทความรู้เรื่องกาแฟใหม่ๆ ลงไปในเครื่องได้อัตโนมัติ และสิ่งนี้ก็กำลังจะเกิดขึ้นกับเตาอบในร้านสตาร์บั๊คเหมือนกัน เพราะปัจจุบันนี้ต้องอัพเดทระบบเครื่องเตาอบผ่าน USB

แต่อีกหน่อยเตาอบของสตาร์บั๊คจะอัพเดทตัวเองผ่านระบบ Cloud ได้เลย นั่นหมายความว่าอีกหน่อยพนักงานก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรแล้ว นอกจากจะมีหน้าที่ยิ้มหวานๆ ให้กับลูกค้า จากนั้นก็หยิบเมนูที่ลูกค้าต้องการไปใส่ในเตาอบแล้วที่เหลือปล่อยให้เครื่องจักรมันทำหน้าที่ของมันไป เหลือก็แค่หยิบมาวางบนจานให้สวยงามแล้วก็เรียกชื่อลูกค้าคนนั้นด้วยเสียงไพเราะอีกครั้งครับ

สรุปได้ว่าสตาร์บั๊คเอา Data ไปใช้ทั้งในการป้องกันปัญหาใหญ่ไม่ให้เกิด และเพิ่มความสามารถของเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ด้วย IoT ในแบบที่เรานึกไม่ถึงว่าร้านกาแฟจะทำแบบนี้ได้มาก่อนครับ

และ Starbucks ในวันนี้ใช้ Data-Driven ในระดับ Tech Company แล้ว

Data-Driven Starbucks เบื้องหลังร้านกาแฟที่ใช้ Data, AI และ IoT อย่างเข้มข้น

ด้วยวิธีที่สตาร์บั๊คใช้ Data เป็นแบบอย่างให้เราเรียนรู้ ไม่ว่าจะเรื่องการจัดการกับข้อมูลมากมายมหาศาล และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าทึ่งอย่างนี้

แต่นั่นก็มาเพราะการใช้ Data บวกกับ AI และ IoT หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ต่างๆ ที่ช่วยให้การวิเคราะห์ของแบรนด์นี้มีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่งครับ

แต่สิ่งสำคัญที่อยากเน้นย้ำไม่ใช่แค่เรื่องของ Data หรือเทคโนโลยี AI หรือ IoT ที่สตาร์บั๊คใช้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการมี Data mindset ที่ดี ที่ถูกผลักดันให้กลายเป็นกลุยทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีแบบแผนและทั่วถึงทั้งองค์กร ไม่ใช่ทำกันแค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเหมือนที่เรามักจะเจอกันประจำในบ้านเรา

เพราะถ้าคุณมีแต่ Tools ล้ำสมัยแค่ไหนแต่ถ้าไม่มี Mindset ในการทำงานใหม่เครื่องมือที่มีก็ไร้ค่า ดังนั้นก่อนจะเอาเทคโนโลยีใดหรือ AI เข้ามาคุณต้องรู้ก่อนว่าคุณต้องการอะไรเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจกันแน่

และที่สตาร์บั๊คเอา AI มาใช้ก็เพราะพวกเขามี Data มากมายจนถึงเวลาที่ต้องหาเทคโนโลยีมาช่วยในการวิเคราะห์ Big Data ที่มีให้เร็วพอที่จะเอาไปใช้งานต่อได้ทัน

ท้ายที่สุดแล้วคุณจะเห็นว่านี่คือการเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับองค์กรขนาดใหญ่อย่าง Starbucks ที่มีสาขามากมายครอบคลุมทั่วทุกมุมโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนมากมายได้อย่างลงตัว

องค์กรส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าสตาร์บั๊คเป็นคู่แข่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้ามองถึงวิธีการที่สตาร์บั๊คใช้ดาต้าให้ออกคุณจะเข้าใจว่าพวกเขากำลังก้าวหน้าแซงองค์กรต่างๆ ในเรื่อง AI ที่จะกลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจยุคใหม่ในท้ายที่สุดครับ

เพราะองค์กรส่วนใหญ่ยังมองไม่ออกว่าเรื่อง Data และ AI ว่าเกี่ยวกับองค์กรของเราอย่างไร แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้จะไม่ได้กลายมาเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรเราในอนาคตนะครับ เพราะถ้าย้อนกลับไปที่คำถามตั้งต้นของการทำธุรกิจที่ใครๆ ก็รู้นั่นก็คือ “จริงๆ แล้วคุณอยู่ในธุรกิจอะไรกันแน่?” เหมือนที่สตาร์บั๊คอยู่ในธุรกิจ Data มากกว่าแค่การขายกาแฟมานานแล้วครับ

Data-Driven Starbucks เบื้องหลังร้านกาแฟที่ใช้ Data, AI และ IoT อย่างเข้มข้น

อ่านบทความเรื่องการทำการตลาดแบบ Hyper-Personalization ของ Starbucks ต่อ > https://www.everydaymarketing.co/knowledge/case-study-hyper-personalization-from-top-brand-starbucks-spotify-and-netflix/

Case Study การทำ Hyper-Personalization จาก Starbucks, Spotify และ Netflix

Source
https://marker.medium.com/starbucks-isnt-a-coffee-company-its-a-data-technology-business-ddd9b397d83e
https://bigdatathailand.co/2016/03/10/big-data-in-your-coffee/

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน