CPTPP คืออะไร? มีผลอย่างไรต่อการตลาดในระยะยาว

CPTPP คืออะไร? มีผลอย่างไรต่อการตลาดในระยะยาว

คิดว่าหลายคนคงเคยผ่านตากับคำว่า CPTPP มาบ้างแต่ แต่ตอนี้ CPTPP กลับมาเป็นกระแสติดเทรนด์กันอีกครั้งกับ #NoCPTPP #คัดค้านCPTPP หลังจากมีข่าวว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP นี้ วันนี้แบมเลยจะมาอธิบายให้ฟังแบบเน้นๆ กันอีกครั้งว่า CPTPP คืออะไร ทำไมเราต้องให้ความสนใจ และมีข้อเสียต่อเศรษฐกิจไทยขนาดไหนทำไมคนถึงพากันคัดค้านเต็มโลกโซเชียล

CPTPP คืออะไร?

CPTPP นั้นมีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องของการค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ตอนนี้ CPTPP มีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบไปด้วย

  1. แคนาดา
  2. เม็กซิโก
  3. ออสเตรเลีย
  4. นิวซีแลนด์
  5. ชิลี
  6. เปรู
  7. ญี่ปุ่น
  8. สิงคโปร์
  9. มาเลเซีย
  10. บรูไน
  11. เวียดนาม

และในปัจจุบันนอกจากประเทศไทยที่กำลังพิจารณาและเจรจากันเรื่องการเข้าร่วมภาคีนี้ก็ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสนใจในการเข้าอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, ศรีลังกา และกัมพูชา เป็นต้น

คุ้มไหมถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP

ซึ่งการที่ไทยจะเข้าร่วม CPTPP นั้น จะต้องมีการปรับกฎหมายภายในต่าง ๆ ภายในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ตกลงกันไว้กับกลุ่มภาคีด้วย มาดูกันค่ะว่าแล้วถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ตรงส่วนไหนบ้าง

สิ่งที่เราจะได้

  • ด้านการส่งออก 

การเข้าร่วม CPTPP จะได้รับการงดเว้นภาษีทั้งนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศในกลุ่มภาคีด้วยกัน ทำให้ไทยสามารถลดภาระเรื่องนำเข้าส่งออกไปได้มาก แถมยังสามารถขยายตลาดการส่งสินค้าออกไปยังประเทศในภาคีที่ไม่ค่อยมีความร่วมมือในเรื่องการค้าเท่าไหร่นักได้ด้วย

  • การลงทุนจากต่างประเทศ

ทำให้เกิดการขยายตลาดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยบริษัทต่างชาติจะสามารถเข้ามาลงทุนภายในประเทศไทยได้ง่ายมากยิ่งขึ้นนั้น หากมองในมุมผู้บริโภคแล้วก็จะทำให้มีตัวเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น และสามารถซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลง

  • ความเท่าเทียมทางธุรกิจ

อย่างที่บอกไปข้างบนว่าบริษัทต่างชาติจะสามารถเข้ามาลงทุนภายในประเทศไทยได้ง่ายมากยิ่งขึ้นนั้น ในทางกลับกันนักธรกิจจากไทยก็สามารถไปลงทุนและเติบโตในกลุ่มประเทศภาคีได้ง่ายขึ้นเช่นกัน เนื่องจาก CPTPP นั้นมีกฎในการสนับสนุนความเท่าเทียมระหว่างธุรกิจนั่นเอง

สิ่งที่เราจะเสีย

  • ด้านสาธารณสุข

เครื่องมือแพทย์และยารักษาโรคจะมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากการจดทะเบียนยาทำได้ยากขึ้น และอาจมีการผูกขาดจากนายทุน ทำให้เราไม่สามารถผลิตยาเองได้ จึงส่งผลกระทบให้คนทั่วไปเข้าถึงยาได้ยากขึ้นด้วย

  • ด้านการเกษตร

สินค้าเกษตรและอาหารมีราคาแพงขึ้น เพราะนักลงทุนสามารถครอบครองและผูกขาดเมล็ดพันธ์ได้ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ของพืชผลทางการเกษตรไว้เพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ แถมยังเป็นการบังคับให้เกษตรกร ซื้อเมล็ดพันธุ์จากนายทุน ทุกครั้งที่ทำการเพาะปลูกซึ่งถือเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก 

นอกจากนี้ข้อบังคับของ CPTPP ยังส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของพันธุ์พืชด้วย เพราะเมื่อเข้าร่วมภาคีแล้ว ผลผลิตทุกประเภทจะถูกเก็บไปทำการศึกษา คัดพันธุ์พืช และให้ขายเฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการคัดแล้วเท่านั้น เลยเป็นสาเหตุให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น แถมผู้บริโภคยังมีตัวเลือกน้อยลงด้วย

  • ด้านธุรกิจบริการ

สำหรับธุรกิจบริการนั้น CPTPP มีข้อตกลงว่าแต่ละประเทศนั้นสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนที่หมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกไว้ในข้อตกลงจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด หมายความว่าธุรกิจบริการหมวดไหนที่รัฐบาลเปิดให้เป็นเสรี ธุรกิจหมวดนั้นในบ้านเราก็จะเสียประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติไปนั่นเอง

  • ด้านผู้ประกอบการรายย่อย

ถ้าเราลองสังเกตดูจะเห็นได้ว่า CPTPP นั้นส่วนใหญ่จะเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนรายใหญ่มากกว่า เพราะการที่เราสามารถทำการค้าได้อย่างเสรีอาจจะทำให้เข้าถึงพวกวัตถุดิบหรือเครื่องจักรต่างๆ ได้ในราคาที่่ถูดลง แต่นั้นก็อาจทำให้เกิดการผูกขาดขึ้นได้ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่สายป่านไม่ยาว หรือมีเงินทุนไม่มากนักต้องปิดกิจการลง

  • ด้านสาธารณูปโภค

นี่ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะใน CPTPP นั้นระบุไว้ว่า “การซื้อขายสินค้าและบริการของภาครัฐไม่สามารถสนับสนุน อุดหนุนโดยเลือกปฏิบัติได้ ต้องเป็นไปตามราคากลไกตลาด” กฏข้อนี้นั้นทำให้ส่งผลกระทบต่อสาธารณูปโภค หรือบริการพื้นฐานอย่าง ไฟฟ้า น้ำประปา หรือขนส่งสาธรณะ ทำให้เราต้องจ่ายค่าบริการเหล่านี้ในราคาที่แพงขึ้น และอาจทำให้คนบางกลุ่มในประเทศไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ได้

อ่านกันมาถึงตรงนี้แล้วแบมขออัปเดตสถานการณ์ CPTPP ของบ้านเราในตอนนี้หน่อยนะคะว่า ประเด็นเรื่องลงนามการเข้าร่วม CPTPP ตอนนี้ได้ผ่านมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมคนเข้าไปเจรจาเพื่อขอเข้าร่วมภาคี รวมถึงพูดคุยต่อรองข้อตกลงของผลประโยชน์ทางการค้าต่อประเทศสมาชิกเดิม

ดูจากข้อดีด้านบนแล้วอาจจะดูเหมือนว่า CPTPP นั้นก็น่าจะมีข้อดีที่สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปในทางที่ดีได้ แต่ถ้าพิจารณาดูแล้วกฏหลายๆ ข้อของ CPTPP นั้นมีข้อบังคับที่ส่งผลเสียต่อประชาชนจำนวนมาก และหากลองชั่งน้ำหนักดูแล้วทุกคนคงเห็นในแบบเดียวกับแบมว่าข้อเสียมีมากกว่าเห็นๆ

แน่นอนค่ะว่าประชาชนที่เล็งเห็นถึงผลกระทบที่อาจทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานเป็นได้อย่างยากลำบากขึ้นได้ออกมาเรียกร้องผ่านแฮชแท็ก #NoCPTPP และ #คัดค้านCPTPP เพื่อหวังให้รัฐบาลพิจารณาถึงประโยชน์และผลกระทบต่อประชาชนอีกครั้ง รวมถึงยกเลิกการเจรจาขอเข้าร่วมภาคี CPTPP นี้ลงนั่นเอง แบมเองก็ได้แต่หวังนะคะว่ารัฐบาลจะพิจารณาโดยยึดประโยชน์ของประชาชนมาเป็นที่หนึ่ง

Read more: อ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดในแง่มุมอื่นๆ จากการตลาดวันละตอนได้ ที่นี่

ในบทความหน้าแบมจะมีอะไรมาอัปเดตอีกบ้าง สามารถติดตามได้ผ่านเพจการตลาดวันละตอน รวมถึง Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนนะคะ

Bambinun*

Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน ที่หลงรักการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ พอๆ กับการกินของอร่อย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นทาสแมว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *