Country of Origin Effects การตลาด ‘ทางลัด’ เสริมภาพลักษณ์ให้แบรนด์

Country of Origin Effects การตลาด ‘ทางลัด’ เสริมภาพลักษณ์ให้แบรนด์

Country of Origin Effects การตลาด ‘ทางลัด’ เสริมภาพลักษณ์ให้แบรนด์

เคยสงสัยกันไหมคะว่า ทำไมสินค้าบางแบรนด์ต้องเจาะจงว่าสินค้านี้มาจากประเทศนี้ ผลิตจากประเทศนั้น ใช้ส่วนผสมของประเทศนู้น หรือเวลาที่เราได้ยินคำว่า Made in China เราจะนึกถึงสินค้าปลอม งาน Mirror

คำตอบในใจหลายคนอาจเป็น ‘ไม่รู้สิ ก็ได้ยินมานานแล้ว’ ‘มันชินไปแล้ว’ ‘แบรนด์คงอยากโปรโมทสินค้าเฉย ๆ ล่ะมั้ง’ เตยมองว่าคำตอบเหล่านี้ไม่มีถูกหรือผิด เพราะมันเป็นผลพวงมากจากกลยุทธ์ที่เราเรียกว่า Country of Origin Effects นั่นเองค่ะ

ซึ่งเจ้ากลยุทธ์นี้ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญมาก ๆ อย่างนึงในการสร้างแบรนด์ หรือเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ นักการตลาดหรือผู้ประกอบการไม่ควรพลาดที่จะรู้จักกับกลยุทธ์นี้เลยจริง ๆค่ะ

Country of Origin Effects คืออะไร

อธิบายง่าย ๆ Country of Origin Effects หรือ COE คือ การที่เราพูดถึงสิ่งนึง ก็จะมีชื่อประเทศไหนสักประเทศ เด้งขึ้นมาในหัวทันที เช่น ถ้าให้นึกถึงชานม ประเทศแรกที่ผุดขึ้นในใจ คือ ไต้หวัน ถ้าให้นึกถึงรถหรู คำตอบคือ เยอรมัน ถ้าให้นึกถึงเครื่องสำอาง ซีรีส์ เราคงนึกถึง เกาหลี

เป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่ประเทศหนึ่ง ๆ มีชื่อเสียงจากสินค้าหรือบริการบางอย่าง จนเป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลก อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ประวัติความเป็นมาอันยาวนาน, ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในวงการนั้น ๆ, การสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งเกิดขึ้นโดยบังเอิญ

กลยุทธ์นี้ยังส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ โดยผู้บริโภคอาจจะมองว่าสินค้าหรือบริการจากประเทศใดนั้นมีคุณภาพหรือมีเอกลักษณ์อย่างไร รวมทั้งยังมีผลกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อแบรนด์ได้อีกด้วยค่ะ

เราจะปรับใช้ COE Effects กับการตลาดได้อย่างไร?

หลัก ๆ แล้ว เรานิยมปรับใช้ COE Effects กับการตลาดอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้

ผ่านทาง Key Message ของแบรนด์

เราสามารถนำกลยุทธ์ Country of Origin มาปรับใช้ได้ผ่านทาง Key Message (ข้อความ คำพูด หรือเนื้อหาหลักที่เราต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย) ยกตัวอย่างเช่น ทำคอนเทนต์ บทความ โฆษณา หรือ คลิปที่มี Key Message ประกอบอยู่ในนั้น

Country of Origin Effects การตลาด 'ทางลัด' เสริมภาพลักษณ์ให้แบรนด์
ที่มา: https://www.facebook.com/brandcp

เตยขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น อย่างแบรนด์ CP ที่เปิดตัวสินค้าใหม่ ไส้กรอกกลิ่นนมฮอกไกโด ไม่ว่าจะในสื่อไหนก็ตาม CP จะใส่ Key Message ที่สื่อถึงนมฮอกไกโด จากประเทศญี่ปุ่น เช่น “ไส้กรอกกลื่นนมฮอกไกโด…นมเข้าจากประเทศญี่ปุ่น”

เพื่อเป็นการหยิบยืมจุดเด่นของนมฮอกไกโดจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีเอกลักษณ์และขึ้นชื่อในเรื่องของความหอม นุ่มละมุน นมโคคุณภาพสูง มาเสริมภาพลักษณ์ให้กับสินค้า ให้ลูกค้าจินตนาการออกได้ง่าย ๆ ว่าไส้กรอกตัวนี้ มีความหอม อร่อย คุณภาพดี และสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า ว่าเราไม่เหมือนไส้กรอกนมเจ้าอื่นนะ เรียกได้ว่า ยังไม่ชิมก็ทำให้จินตนาการได้แบบนั้นล่ะค่ะ

เราลองเอาไปปรับใช้ง่าย ๆ โดยใช้แพทเทิร์น เจาะจงชื่อประเทศลงไปในสื่อต่าง ๆ เหมือนตัวอย่างในโพสต์ หรือใช้คำว่า Made in …แล้วตามด้วยชื่อประเทศ แค่นี้ก็เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าของเราได้แล้วค่ะ

ผ่านทางบรรจุภัณฑ์ (Packaging)

นึกภาพง่าย ๆ อารมณ์เหมือนชุดประจำชาติค่ะ มองแปปเดียวก็นึกออกได้แล้วว่ามาจากประเทศไหน แถมยังช่วยตอกย้ำไปอีกได้ว่าสินค้าตัวนี้โดดเด่นในเรื่องอะไร หลาย ๆ แบรนด์ เลยชอบสื่อสารความเป็นประเทศแหล่งกำเนิดสินค้าผ่านตัวแพ็กเกจจิงเลยตรง ๆ

Country of Origin Effects การตลาด 'ทางลัด' เสริมภาพลักษณ์ให้แบรนด์
ที่มา: https://www.facebook.com/nissinthailand

ยกตัวอย่างเช่น Nissin ที่ปรับใช้ COE Effects ผ่านทางแพจเกจจิ้ง โดยการใช้อักษรจีน และมังกร มาแปะไว้บนซองผลิตภัณฑ์ ถามว่าทำไมต้องเป็นสองสิ่งนี้ สาเหตุก็เป็นเพราะ เป็นบะหมี่กึ่งรสหมาล่า และหากจะให้นึกถึงหมาล่า ประเทศแรกที่เด้งขึ้นมาในหัวก็คือ ประเทศจีน และหม่าล่าเองก็เป็นเครื่องเทศที่มีต้นกำเนิดมาจากจีนอยู่แล้วด้วยค่ะ

แล้วอะไรล่ะที่สื่อถึงประเทศจีนได้ดีที่สุด? คำตอบก็ได้ไปอยู่บนซองบะหมี่ตามรูปด้านบนเป็นที่เรียบร้อย เพื่อบ่งบอกถึงรสชาติของหมาล่าจากประเทศจีนที่มีชื่อเสียงในด้านนี้โดยเฉพาะนั่นเองค่ะ ในอีกแง่นึง เตยมองว่าวิธีนี้ช่วยสร้างการรับรู้ได้ดีมาก ๆ ค่ะ เพราะคนเห็นแล้วแปลความเป็นข้อมูลในหัวได้เลยว่าสิ่งนี้คืออะไร ไม่ต้องเสียเวลามานั่งอ่านเพื่อทำความเข้าใจ ลองนำไปปรับใช้กันดูได้ค่ะ

ผ่านการจดทะเบียนสินค้าในประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านนั้น ๆ

มีหลายแบรนด์มาก ๆ ค่ะ ที่เจ้าของแบรนด์ไม่ได้เป็นคนประเทศนั้น ๆ แต่กลับไปจดทะเบียนการค้า ที่ประเทศหนึ่ง ๆ เพื่ออาศัยภาพลักษณ์ของประเทศในด้านแหล่งที่มาของสินค้า

เช่น เตยอยากสร้างแบรนด์เสื้อผ้าใหม่ และต้องการให้แบรนด์มีภาพลักษณ์ที่สวยหรู ดูดี และเป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่น เตยก็จะเลือกไปจดทะเบียนการค้าที่ฝรั่งเศส ทั้งที่กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่คนฝรั่งเศส แต่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชอบสินค้าแบรนด์เนมจากฝรั่งเศส เพื่อทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์และสินค้าดู High-end นั่นเองค่ะ

เห็นไหมคะ ว่าการปรับใช้ COE Effects ทำการตลาด แค่นี้ก็เหมือนใช้ ‘ทางลัด’ เข้าสู่ใจลูกค้า ไม่ต้องมาเสียเวลาในการทำโฆษณา หรือทำการสื่อสารมากมายเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจถึงภาพลักษณ์สินค้า หรือ แบรนด์ อย่างที่เราต้องการจะสื่อมาตั้งแต่แรก

อยากให้คนเชื่อใจ ก็อย่าลืม ‘ความจริงใจ’

หลายคนคงคิดว่า แหม แค่เอาชื่อประเทศมาแปะใส่สินค้าก็ได้แล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องเอามาใช้กับสินค้าจริง ๆ ด้วยซะหน่อย ถ้าคิดแบบนี้อยู่ เตยขอบอกว่าหยุดค่ะ หยุดเดี๋ยวนี้ หยุดทันที ถามว่าทำได้ไหม มันก็คงได้ล่ะค่ะ แต่ ๆๆๆๆ เตยไม่แนะนำให้ทำแบบนี้อย่างยิ่งค่ะ

เพราะจรรยาบรรณของการทำธุรกิจมันได้สูญหายไปพร้อม ๆ กับความเชื่อใจของลูกค้าแล้ว เมื่อไหร่ที่ลูกค้ารับรู้ได้ว่า สินค้ามันไม่เหมือนที่โฆษณาไว้เลยนี่หว่า โฆษณาเกินจริงนะเนี่ย พวกเขาก็จะเลิกซื้อ เลิกติดตาม จนกระทั่งเลิกเป็นลูกค้าไปเลยก็ได้ ยิ่งในยุคดิจิทัลแบบนี้ โดนสังคมสาปส่งทุกแพลตฟอร์มแน่ๆ ธุรกิจจะเติบโตได้ในระยะสั้นเพียงเท่านั้น ไม่มีโอกาสได้เติบโตในระยะยาวแน่นอนค่ะ

บอกกล่าวไว้แบบไหน ควรทำให้ได้แบบนั้น เราใช้ทางลัดเพื่ออยากได้ ‘ใจ’ ลูกค้า เราก็ต้องใส่ความจริงใจลงไป เพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นว่า เรามีความจริงใจและใส่ใจ ลูกค้าจริง ๆ วิน วินกันทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะโป๊ะแตกรึเปล่าอีกต่างหาก

บทส่งท้าย COE Effects การตลาด ‘ทางลัด’ เสริมภาพลักษณ์ให้แบรนด์

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เตยคิดว่าหลาย ๆ คนคงเล็งเห็นแล้วว่า Country of Origin Effects นั้นมีประโยชน์และมีความสำคัญอย่างไรในการทำธุรกิจ นักการตลาดท่านใด หรือผู้ประกอบการคนไหน ที่เริ่มสร้างแบรนด์ หรืออยากเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ ลองปรับใช้ การตลาด ‘ทางลัด’ อย่าง Country of Origin Effects กันดูนะคะ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องระวังการใช้ให้ถูกต้องและถูกกับประเภทสินค้าหรือบริการด้วยนะคะ เพราะถ้าเราใช้ไม่ถูก อาจสร้างความสับสนให้กับลูกค้าได้ค่ะ

เตยหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ต่อผู้อ่านทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด เสริมความรู้แบบจัดหนักจัดเต็ม สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนค่ะ

Source

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *