ยกระดับ Content Marketing 2022 ด้วยกลยุทธ์การตลาด Contextual marketing

ยกระดับ Content Marketing 2022 ด้วยกลยุทธ์การตลาด Contextual marketing

ในหนังสือ Marketing 5.0 มีการพูดถึงเรื่อง Contextual marketing เป็นบทหนึ่งช่วงท้ายเล่ม ผมในฐานะคนที่สนใจและติดตามเรื่องนี้มานานก็เลยถือโอกาสเอาเรื่องการตลาดแบบฉลาดใช้บริบทรอบตัวมาเพิ่มโอกาสขาย หรือ Contextual marketing มาเล่าให้เพื่อนๆ ในการตลาดวันละตอนได้รู้จักมากขึ้น วันนี้เราจะมาดูกันว่าการตลาดแบบ Contextual marketing นั้นจะช่วยยกระดับการทำ Content marketing 2022 หรือในปีหน้าได้อย่างไรบ้าง แต่ก่อนจะลงไปในรายละเอียดถึงแนวทางและวิธีการ ลองมาทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า Contextual marketing หรือการตลาดแบบฉลาดใช้บริบทรอบตัวมาเพิ่มยอดขายคืออะไร และทำไมจึงสำคัญจนหนังสือ Marketing 5.0 ต้องเขียนถึง

Context สำคัญต่อ Marketing อย่างไร?

การตลาดทั้งหลายทั้งปวงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันล้วนมีแก่นสำคัญตรงที่เราเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการได้ดีขนาดไหน เพราะถ้าเราไม่เข้าใจความต้องการของลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายก็ยากจะทำการตลาดทุกรูปแบบไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ให้ประสบความสำเร็จได้ การทำ Content marketing ก็เช่นกันถ้าเราไม่เข้าใจว่าคนอ่านต้องการอะไร คาดหวังอะไรจากการอ่านในครั้งนี้ แล้วเราควรจะพาเขาไปต่อทางไหน ต่อให้เขียนได้ดีเท่าไหร่ก็เหมือนกับคนที่หน้าตาดีแต่พูดจาไม่รู้เรื่องย่อมไม่มีใครทนฟังได้นานพอ

เช่น ถ้าเราทำคอนเทนต์มาดีแทบตายแต่พอมีคนค้นหาแล้วไม่เจอคอนเทนต์ของเราที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเลย มันก็ยากที่จะเปลี่ยนจากกลุ่มเป้าหมายให้กลายเป็นลูกค้า คุณอาจจะคิดว่ารูปก็สวยแล้วนะ อุตส่าห์จ้างช่างภาพแพงๆ มาถ่าย ข้อความก็สั้นกระชับคมคายโดนใจ แต่ทำไมไม่มีใครอ่านแล้วกดซื้อสินค้าหรือกดติดต่อกลับมาขอรับบริการจากเราเลยหละ

ดังนั้นการเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างถ่องแท้จึงสำคัญมาก ก่อนจะทำการตลาดใดๆ ถามตัวเองให้แน่ใจว่าเรารู้จักลูกค้าได้ดีมากพอแล้วจริงๆ เพราะยิ่งเรารู้ว่าลูกค้าเป็นใคร อยู่ที่ไหน สะดวกติดต่อกับเราแบบไหน กำลังมีความต้องการอะไร การจะทำการตลาดหรือโฆษณากลับคืนไปก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่ทำการตลาดหรือคอนเทนต์ใดๆ โดยไม่ได้ใส่ใจกลุ่มเป้าหมายผู้อ่านเลย

และการเข้าใจในบริบทหรือ Customer Context ยิ่งมีความสำคัญมาก เพราะถ้าเราสามารถทำการตลาดที่ดูใช่และเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุดก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่เขาจะหยุดอ่านคุณ กดเข้ามาอ่านคอนเทนต์ของคุณ อ่านคอนเทนต์ทั้งหมดที่คุณตั้งใจทำมาจนจบ จากนั้นก็ Convert กลายเป็นลูกค้าคุณด้วยความเต็มใจ

ดังนั้นการตลาดแบบ Contextual marketing คือการตลาดที่คิดถึงลูกค้าเป็นหลัก ไม่ใช่คิดเอาสะดวกเราเข้าว่า แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรเราจึงจะให้บริการหรือสร้าง Customer Experience กับคนที่เราต้องการได้ดีจนเขาอยากจะเป็นลูกค้าเราด้วยตัวเอง

Contextual marketing ต้องคิดถึงลูกค้ามากแค่ไหน

Contextual marketing คือกลยุทธ์การตลาดที่ใช้พฤติกรรมและบริบทโดยรอบของตัวลูกค้ามาวิเคระห์ว่าควรจะต้องทำการตลาดแบบไหน หรือทำโฆษณารูปแบบใดออกไปที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกใช่มากที่สุด ในความเป็นจริงแล้ว Contextual marketing นั้นสามารถทำผ่านกลวิธีการตลาดมากมาย ไม่ว่าจะออนไลน์ ออฟไลน์ จะโซเชียลมีเดียหรือแบนเนอร์โฆษณา จะบนมือถือหรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แต่วันนี้เราจะมาโฟกัสกันที่ Contextual marketing จะเอามาประยุกต์ใช้กับการทำ Content marketing 2022 ได้อย่างไร

เพราะเดิมทีการตลาดแบบ Content marketing คือการพยายามสร้างเนื้อหาที่ดี ที่ตอบโจทย์ ที่มีประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย แต่พอเอากลยุทธ์การตลาดแบบ Contextual marketing เข้ามาใส่ก็ต้องเริ่มคิดใหม่ว่ากลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการเข้าจะอยู่ในบริบทแบบไหนบ้างที่จะเข้าถึงคอนเทนต์เราได้ หรือคิดต่อยอดไปให้สุดคือการคิดว่าในบริบทที่แตกต่างกันไปของลูกค้าคนเดียวกัน เราจะต้องทำคอนเทนต์แบบไหน อย่างไร จึงจะทำให้ลูกค้าสะดวกสบายมากที่สุด

ดังนั้น Contextual marketing สำหรับการตลาดแบบคอนเทนต์จะไม่ได้คิดถึงแค่เนื้อหาที่มีจะต้องตอบความต้องการลูกค้า แต่จะต้องคิดถึงบริบทของวัน เวลา กับช่องทาง ที่คอนเทนต์นั้นถูกนำเสนอออกไปด้วย

เช่น ถ้าลูกค้าอ่านคอนเทนต์แล้วลงทะเบียนบอกว่าต้องการรับ e-book แล้วเรารออีกสองสัปดาห์ค่อยส่ง อันนี้มันดูขาดความใส่ใจอย่างมาก เวลาจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการตลาดแบบฉลาดใช้บริบทเพื่อเพิ่มโอกาสขายครับ

Contextual marketing กับการ Optimized Content ให้ตอบบริบทของ SEO ที่คนค้นหา

การจะทำคอนเทนต์ให้เกี่ยวกับลูกค้ามากที่สุดได้ ต้องเข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการเป็นอย่างดี เราจะต้องรู้ว่าพวกเขาชอบการสื่อสารด้วยโทนหรือน้ำเสียงแบบไหน เพื่อที่เราจะสามารถปรับเนื้อหาให้เข้ากับจริตความชอบของกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

ตัวอย่างเช่นถ้าเราทำคอนเทนต์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็น Marketing Director หรือคนที่สามารถตัดสินใจได้ทันที เราต้องรู้ก่อนว่าพวกเขามองหาอะไรในแต่ละคอนเทนต์มากที่สุด ซึ่งก็น่าจะเป็นตัวเลข ROI ผลตอบแทนจากการลงทุนไปกว่าจะได้กลับมาเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกันถ้ากลุ่มเป้าหมายคุณเป็นนักการตลาดมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน สิ่งที่พวกเขามองหาก็จะเป็นวิธีการทำงานให้เกิดผลลัพธ์ หรือเน้นไปที่ Tactics How-to มากกว่า Marketing Director ที่ไม่ได้ทำงานส่วนใหญ่ด้วยตัวเองคุณคงพอนึกภาพตามออกใช่ไหมครับ

ช่องทางในการสื่อสารทำการตลาดออกไปก็สำคัญ เราต้องเลือกช่องทางที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เพราะแม้จะเป็นคอนเทนต์แบบเดียวกัน การตลาดที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่ไม่ใช่ช่องทางเดียวกันจะเหมาะกับทุกคนเสมอไป และในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ทุกคนจะใช้ทุกช่องทางในการสื่อสารเหมือนกันครับ

ตัวอย่างเช่นถ้ากลุ่มเป้าหมายเราเป็น Gen Z การจะสื่อสารออกไปผ่าน Twitter หรือ TikTok ก็ดูจะเหมาะสมมากที่สุด แต่ถ้ากลุ่มเป้าหมายคุณเป็น Gen X หรือ​ Baby Boomer ขึ้นไปสองช่องทางนี้อาจไม่ใช่ช่องทางหลักที่พวกเขาใช้ในการรับข่าวสาร แล้วต่อให้คุณต้องการสื่อสารเรื่องเดียวกันออกไปยังหลายช่องทางเพราะต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุมในวงกว้าง การจะสื่อสารด้วยวิธีเดียวกันบน Facebook ก็จะไม่เหมาะกับ Twitter (เชื่อเหอะผมเคยพยายามแล้ว) เพราะในทวิตเตอร์บริบทการใช้งานจะเป็นเน้นเกาะกระแสแฮชแท็กเป็นหลัก หรือถ้าจะเอาไปใช้บน TikTok นั้นถ้าจะมาโพสลิงก์แบบทื่อๆ เหมือนที่ทำบน Facebook เป็นประจำบอกได้เลยว่าพังเปลืองเวลาที่ทำไปครับ

สำหรับคนทำเว็บการเข้าใจบริบทเมื่อมีคนกดเข้ามาอ่านยังเว็บไซต์เรานั้นสำคัญมาก เราต้องรู้ว่าคนมายังหน้านี้ของเราด้วยการเสิร์จคำว่าอะไร หรือเข้ามาจากช่องทางไหนเป็นหลัก จากนั้นเราจะต้องทำการปรับคอนเทนต์ในหน้านั้นให้เข้ากับบริบทความคาดหวังที่กลุ่มเป้าหมายกดเข้ามา เช่น ถ้ามีคนเสิร์จเข้ามาที่เว็บเราด้วยคำว่า “คำที่คนไทยค้นหามากที่สุด 2021” นั่นหมายความว่าพวกเขาอยากเห็นทันทีว่าคนไทยชอบค้นหาอะไร ไม่ใช่วิธีสอนการใช้ Google Trends เพื่อค้นหาคำตอบดังกล่าวอีกที หรือผมอาจจะปรับเอาคำตอบที่คนต้องการที่สุดไว้ด้านบน จากนั้นก็ค่อยสอนวิธีการทำไว้ด้านล่าง เพื่อให้ตอบบริบทของความต้องการของผู้อ่านที่ต้องการคำตอบสุดท้ายมากกว่าวิธีการให้ได้มาซึ่งคำตอบครับ

สร้าง Content ตาม Context ของ Customer แล้วต้องส่งออกไปตาม Segments ด้วย

การ Optimized Content ที่เฉพาะเจาะจงไปยังกลุ่ม Customer Persona ต่างๆ ที่เราสร้างมาจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราไม่สามารถหาวิธีส่งสารนั้นออกไปยังกลุ่ม Persona ที่เรากำหนดมาอย่างแม่นยำได้ สิ่งที่เราต้องทำคือส่งสารที่ตั้งใจออกไปยังกลุ่มต่างๆ ตาม Segmentation ที่เรากำหนดไว้

การทำ Segmentation ให้เกิดผลจะต้องอาศัยเครื่องมือการตลาดประเภท CRM หรือ Customer Relationship Management เข้ามาช่วย ซึ่งเครื่องมือที่ดีในวันนี้จะต้องไม่ใช่แค่การสะสมแต้มหรือ Loyalty Program เท่านั้น แต่ต้องมีความสามารถในการแบ่งกลุ่มลูกค้าตามเงื่อนไขต่างๆ ที่เราต้องการ หรือต้องสามารถทำ Customer Segmentation ตาม Buyer Persona ที่เราสร้างไว้ได้ แล้วคอนเทนต์ที่เราเตรียมไว้หรือแคมเปญการตลาดใดๆ ที่อุตส่าห์ตั้งใจ Optimized ให้ตรงตาม Context จะเกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ตามที่ลงแรงไป

สมมติว่าคุณต้องการจะสื่อสารไปยังกลุ่มผู้หญิงวัย 30+ ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพเป็นหลัก และมีพฤติกรรมที่ชอบเข้ามาซื้อของทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ คุณคิดกลยุทธ์การทำ Contextual marketing strategy ไว้เป็นอย่างดีแล้วว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีเป็นกลุ่มที่ทำงานประจำและมีโอกาสซื้อของเข้าบ้านแค่ช่วงวันหยุด ดังนั้นเราจะต้องส่งแคมเปญการตลาดประเภทโปรโมชั่นส่วนลดกระตุ้นเตรียมไว้ตั้งแต่เย็นวันศุกร์ เพื่อที่เช้าวันเสาร์เขาจะได้ไม่ลืมว่าจะต้องแวะมาใช้เงินที่เราก่อนจะหลุดไปที่อื่น

หรือถ้าผมต้องการจะทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าเป็นสายงาน HR เป็นหลัก เนื้อหาที่ผมเตรียมไว้คือบอกให้รู้ว่าถ้าจ้างการตลาดวันละตอนไปจัดอบรมภายในพนักงานของคุณจะเก่งขึ้นเท่าไหร่เมื่อเทียบกับบริษัทคู่แข่งอื่นในตลาด ในขณะเดียวกันด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันถ้าผมต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มที่เป็นผู้บริหารในองค์กรแทน ผมก็จะเลือกทำการตลาดว่าถ้าพนักงานคุณเก่งขึ้นงานของผู้บริหารอย่างคุณก็จะเบาลง เลือกการตลาดวันละตอนจัดฝึกอบรมภายในทีมการตลาดคุณให้ จากผู้มีประสบการณ์ตรงในสายงานนี้กว่า 10 ปี บลาๆๆ ก็ว่ากันไปครับ

แต่ทั้งหมดที่เล่ามานี้ก็ไม่ใช่วิธีการทำ Customer Segmentation ทั้งหมด สำคัญคือวัตถุประสงค์หรือ Objective ของคุณว่าต้องการหรือคาดหวังสิ่งใดกลับมา ถ้าคุณต้องการสร้าง Awareness ให้คนรู้จักเป็นจำนวนมากวิธีการทำ Segments ก็คงไม่ตอบโจทย์ แต่ถ้าคุณต้องการสื่อสารแบบเฉพาะเจาะจงไปยังคนบางกลุ่มหรือใครบางคน การสื่อสารแบบเฉพาะเจาะจงลงไปในแต่ละ Segments โดยสื่อสารอย่างเข้าใจ Context ของผู้รับสารปลายทางก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่าครับ

หา Context ที่ดีที่สุดในแต่ละ Channel ก่อนจะทำ Content ออกไป

ถ้าคุณมี Buyer Personas ที่หลากหลายมันอาจจะยากเกินไปในการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ดังนั้นสำหรับการทำ Contextual Content บนโซเชียลมีเดียนั้นต้องคิดถึงบริบทของแพลตฟอร์มที่ใช้สื่อสารมากกว่ากลุ่มเป้าหมายแยกย่อยตาม Persona ที่ทำมา เพราะตัวเครื่องมือไม่เอื้อให้ทำแบบนั้นสักเท่าไหร่ แต่บน Facebook ก็อาจจะพอทำได้ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะเห็นแต่ละโพส

ถ้าสินค้าหรือบริการของคุณมีลูกค้าถึงสามกลุ่มธุรกิจที่แตกต่างกัน คุณจำเป็นต้องสื่อสารออกไปให้ครอบคลุมทั้งสามกลุ่มธุรกิจดังกล่าว หรือถ้าเราต้องการจะสื่อสารแบบเฉพาะเจาะจงไปยังกลุ่มเดียวก็ต้องสื่อสารให้ชัดเจนตอนทำคอนเทนต์หรือการตลาดออกไปว่าเราอยากให้ใครเข้ามา

วิธีการสื่อสารหรือทำคอนเทนต์ออกไปเมื่อระบุกลุ่มเป้าหมายก็สำคัญ แม้โซเชียลมีเดียจะสามารถทำคอนเทนต์ได้หลากหลายรูปแบบก็ตาม แต่การปรับรูปแบบของคอนเทนต์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการก็มีความสำคัญมากต่อผลลัพธ์ที่จะได้ ถ้าเราคิดว่ากลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการชอบดูวิดีโอเป็นหลัก การที่เราทำคอนเทนต์ประเภท White-paper ยาวหลายสิบหน้าให้ดาวน์โหลดไปอ่านก็ดูจะไม่ตอบบริบทสักเท่าไหร่

ข้อนี้ไม่มีคำตอบตายตัวแต่วันแรกในการทำ แต่เราสามารถทดลองทำหลายๆ แบบแล้วเรียนรู้ว่ากลุ่มผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียแต่ละช่องทางเราชอบคอนเทนต์แบบไหน แล้วก็ค่อยๆ ขยายการทำคอนเทนต์รูปแบบนั้นไปให้หลากหลายเนื้อหา นี่คือการทำ Content โดยอิงจาก Context ของแต่ละ Channel

เพราะอย่างที่ผมบอกไปตอนต้นครับว่าแต่ละ Channel หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็มี ​Context ของการ Consume Content ที่แตกต่างกัน บน Instagram เราต้องสื่อสารด้วยภาพเป็นหลัก จะมาโพสลิงก์แบบ Facebook ก็ไม่ได้ ส่วน Story บน Instagram เองก็ต้องใช้รูปแบบคลิปสั้นๆ เน้นความไวแบบ Real-time สรุปได้ว่าแต่ละช่องทางก็มีบริบทที่แตกต่างกันไปครับ

สิ่งเดียวที่จะบอกได้ว่าคอนเทนต์รูปแบบไหนที่ดีที่สุดสำหรับเราในช่องทางนี้ เราก็ต้องทดลอง ทำสอบ วัดผล แล้วก็เรียนรู้จากคนอื่นๆ ดูว่าเขาทำแบบไหนแล้วเวิร์คกัน ส่วนเราทำแบบไหนแล้วเวิร์คบ้าง หาบริบทของเราให้เจอแล้วคุณจะพบสูตรลับในแบบของคุณที่ใครก็ยากจะเลียนแบบตาม

ใส่ Call-to Action แบบ Personalization ตาม Context ของกลุ่มเป้าหมายตรงหน้า

สำหรับคนที่ทำเว็บหรือทำการตลาดใดๆ สามารถใส่ Call-to Action ที่ถูกปรับแต่งตาม Context ของคนตรงหน้าที่ได้รับให้เป็นแบบ Personalization ได้ ซึ่งวิธีการนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกคนบนเว็บไซต์เรา ลองมาดูกันครับว่าทำอย่างไรได้บ้าง

ที่นิยมใช้กันคือการปรับแต่ง Chatbot ให้ทักชื่อผู้อ่านที่ลงทะเบียนแล้วล็อคอินเรียบร้อยแล้ว หรืออาจจะปรับแต่งเนื้อหาจากชื่อบุคคลให้กลายเป็นชื่อบริษัทก็ได้สำหรับธุรกิจแบบ B2B เหมือนที่นิยมทำกันผ่านเวลาส่งอีเมลเป็นประจำ

หรือเราสามารถปรับแต่งปุ่ม Call-to Action ให้ตรงกับ Context ของ Audience ตรงหน้า เช่นถ้าเรารู้ว่าคนนี้เคยกดดาวน์โหลดไปแล้วก็ควรเปลี่ยนปุ่ม Call-to Action เป็นอย่างอื่น เช่น ดาวน์โหลดเอกสารอันถัดไป หรือแจ้งขอรับการติดต่อจากทีมงาน หรือแม้แต่กระทั่งเอาปุ่มออกไปเลยก็ยังดีกว่าครับ

หรือถ้าเรารู้ว่า Audience ที่กำลังอ่านอยู่ตอนนี้เคยลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เราก็ถอดปุ่มลงทะเบียนออกไปแล้วอาจจะสลับด้วยปุ่มซื้อสินค้าหรือลงทะเบียนร่วมงานเข้ามาแทน

นี่คือการทำ Marketing Automation บนเว็บไซต์เราโดยอิงจาก Context ของ Customer ตรงหน้าจาก Data ที่มี เราต้องพยายามใช้ข้อมูลลูกค้าที่เรามีมาเพิ่มโอกาสในการขายมากที่สุด

สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้สำหรับการประยุกต์ใช้ Contextual marketing กับ Content

กลยุทธ์การตลาดแบบฉลาดใช้โอกาสจากบริบ Contextual marketing เพื่อยกระดับการทำ Content marketing 2022 ทำคอนเทนต์มากกว่าเพื่อ SEO

ทั้งหมดที่คุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำ Content ด้วยหลักการคิดแบบ Contextual marketing คือการปรับแต่งเนื้อหาหรือการตลาดให้กลุ่มเป้าหมายผู้รับสารรู้สึกถึงความใส่ใจตั้งใจส่งออกไป แต่อย่าทำให้ผู้รับสารรู้สึกอึดอัดใจที่คุณรู้ลึกถึงเรื่องส่วนตัวเขามากเกินไปจนรู้สึกเหมือนถูกใครสักคนจับตามอง แน่นอนว่าถ้าเป็นตัวคุณเองก็คงจะไม่ชอบ ดังนั้นนักการตลาดที่ดีต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราใส่ใจเขาไม่ใช่โรคจิตใส่เขา

แล้วถ้าคุณยังไม่มีเครื่อไม้เครื่อมือที่จะทำคอนเทนต์หรือการตลาดให้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาไปตามกลุ่มเป้าหมายได้แบบเฉพาะเจาะจง ก็จงค่อยๆ เริ่มต้นทำในระดับที่ทำได้ อาจจะเริ่มจากการใส่ใจใน Context ที่ส่งผลต่อ KPI หรือ Business objective ของคุณก่อน แล้วก็ค่อยๆ แบ่งกลุ่มลูกค้าออกมาทีละน้อยเพื่อเริ่มต้นทำ Contextual marketing ที่อย่างไรก็ดีกว่าการสื่อสารแบบโลกเก่าที่มองทุกคนคือคนๆ เดียวกันอย่างแน่นอน

เมื่อเราได้ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเข้ามาเพิ่มก็อย่าลืมคิดหาวิธีเอามาใช้หรือต่อยอดโดยยังเคารพสิทธิความเจ้าใจของข้อมูลของเจ้าตัว แล้วก็อย่าลืมเอาข้อมูลลูกค้าที่กระจัดกระจายมาประกอบภาพรวมเพื่อทำให้เข้าใจบริบทของลูกค้ามากขึ้น จำไว้ว่าเมื่อเรากำลังตั้งใจคุยกับใครสักคนหนึ่งสิ่งสำคัญคือความถูกต้องของข้อมูลที่มีต้องไม่ผิดเพี้ยนจนทำให้เสียโอกาสแทนที่จะปิดการขายได้โดยง่าย

สุดท้ายแล้วทุกแผนการตลาดทั้งหมด หรือทุกแคมเปญการตลาดที่เราทำก็ล้วนเพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจ รู้สึกว่าเราพิเศษกว่าคู่แข่งแบรนด์อื่นในท้องตลาด ก็โดยการใส่ใจในลูกค้า เริ่มต้นที่การทำความเข้าใจในบริบทของลูกค้าตรงหน้า พวกเขาเป็นใคร พวกเขาอยู่ที่ไหน พวกเขากำลังสื่อสารกับเราผ่านช่องทางไหน พวกเขากำลังต้องการอะไร ทั้งหมดนี้คือการตลาดแบบใส่ใจในทุกบริบท Contextual marketing ที่จะเป็นทางออกใหม่ของโลกดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ใครพร้อมเข้าใจลูกค้ามากกว่า ใครพร้อมใส่ใจในลูกค้ามากว่า และใครที่ให้ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ดีกว่า ก็จะเป็นผู้ชนะในเกมการตลาดไปอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้ ทั้งหมดที่พูดมานี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่เราจะทำได้ แต่ปัญหาคือการตลาดแบบ Contextual marketing ต้องใช้ความใส่ใจและละเมียดละไมอย่างมาก หนทางที่ยากที่สุดก็คือเส้นทางตรงไปยังเป้าหมาย และเช่นเดียวกันกับเส้นทางที่ง่ายที่สุดของการตลาด ก็คือไม่เสียเวลาอ้อมค้อมเดินทางง่ายเราแต่ยากลูกค้า เพราะแบบนั้นเท่ากับว่าคุณไม่ได้ใส่ใจในตัวลูกค้าสักนิดเลย

Source

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน