เช็กลิสต์ 15 ขั้นตอนตรวจสอบเว็บไซต์ ช่วยปรับปรุงอันดับ SEO ได้แน่​ (Ep.1)​

เช็กลิสต์ 15 ขั้นตอนตรวจสอบเว็บไซต์ ช่วยปรับปรุงอันดับ SEO ได้แน่​ (Ep.1)​

มีใครเคยเป็นบ้างไหมคะ? 

ทำ SEO ก็แล้ว ตั้งค่าเว็บไซต์ก็แล้ว แต่กลับไม่สามารถดึงดูดคนให้เข้ามาดูเว็บไซต้ของเราได้ มิหนำซ้ำบางทียอดผู้เข้าชมยังลดลงอีกด้วย

แบมขอบอกไว้ตรงนี้เลยค่ะว่าคุณไม่ได้ประสบปัญหานี้อยู่คนเดียวอย่างแน่นอน เพราะข้อมูลจากAhrefs พบว่า 90.63 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหา นั้นไม่ได้รับการเข้าชมแบบออร์แกนิกจาก Google

แต่ประเด็นก็คือ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ต้องเริ่มแก้จากตรงไหน ถึงจะสามารถเพิ่มอันดับเว็บไซต์พร้อมกับจำนวนผู้เข้าชมได้ในเวลาเดียวกัน

วันนี้แบมเลยมีเช็กลิสต์ 15 ขั้นตอนในการตรวจสอบเว็บไซต์มาให้ได้ลองเช็กดูกัน ลองมาตรวจสอบและแก้ไขพร้อมกันไปทีละข้อนะคะ รับรองว่าขั้นตอนเหล่านี้จะสามารถช่วยปรับปรุงอันดับ SEO ของเว็บไซต์คุณได้อย่างแน่นอน

การตรวจสอบ SEO คืออะไร?

การตรวจสอบ SEO คือการวิเคราะห์อย่างครอบคลุมทั้งเว็บไซต์และการจัดอันดับของเครื่องมือค้นหา (SERP) รวมถึงที่ที่สามารถทําการปรับปรุงได้ เช่น ความเร็วของเว็บไซต์ โครงสร้างเว็บไซต์ ปัญหาทางเทคนิค SEO ต่างๆ เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง หรือการปรับปรุง UX เป็นต้น

ซึ่งการตรวจสอบ SEO นี้จะช่วยทำให้เราเห็นข้อผิดพลาดและสามารถอุดรอยรั่วในเรื่องของการทำ SEO ได้อย่างทันท่วงที และทำให้เว็บไซต์ของเราสามารถไต่อันดับได้อีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราควรทำการตรวจสอบและปรับปรุงสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ อย่างน้อยไตรมาสละครั้งเพื่อไม่ให้เว็บไซต์ของเราตกอันดับ

เช็กลิสต์การตรวจสอบ SEO 15 ขั้นตอน

ในความเป็นจริงแล้ว Google นั้นมีปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาในการจัดอันดับเว็บไซต์กันมากกว่า 200 ปัจจัยเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นการจะมานั่งไล่ตรวจสอบในทุกๆ ปัจจัยนั้นคงเป็นเรื่องยาก วันนี้แบมเลยรวมเอา 15 ปัจจัยหลักๆ ที่ค่อนข้างครอบคลุมมาให้ได้ลองตรวจสอบกัน

ขั้นตอน​ที่1 -​ ตรวจสอบ และปรับแต่ง Title Tag และ Meta Description ให้เหมาะสม

Title Tag เป็นข้อมูลที่บอกว่าบทความนี้เป็นบทความที่เกี่ยวกับเรื่องอะไร ส่วน Meta Description นั้นจะเป็นการเขียนเพื่อพรีวิว หรืออธิบายเกี่ยวกับเนื้อหาในบทความสั้นๆ ซึ่งสองส่วนนี้อาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไป ซึ่งถ้าหากเราละเลยตรงจุดนี้ ก็อาจจะทำให้เราพลาดในการแชร์คีย์เวิร์ด หรือจุดขายของเราได้ 

นอกจากนี้ Title Tag และ Meta Description ยังเป็นส่วนที่จะช่วยดึงดูดความสนใจผู้อ่านให้เข้ามายังเว็บไซต์ของเราจากเครื่องมือการค้นหาได้อีกด้วย โดยเราสามารถปรับปรุงใน 2 ส่วนนี้ได้โดยการปรับแต่ง Title Tag ด้วยภาษาที่ดึงดูดและน่าสนใจ โดยใช้คีย์เวิร์ดที่เราต้องการเข้ามาช่วย 

ส่วนการเขียน Meta Description ก็ควรเป็นการอธิบายเกี่ยวกับเนื้อหาในบทความสั้นๆ แต่ชัดเจน และได้ใจความ เพื่อให้ผู้ที่เสิร์ชหาหัวข้อนั้นๆ เข้าใจว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไร และตรงกับความต้องการหาของเขาหรือไม่นั่นเอง

ขั้นตอน​ที่​ 2 -​ ปรับปรุง UX เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้ผู้ใช้งาน

ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา ทาง Google ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะมีการนำ UX หรือ User Experience มาเป็นเกณฑ์ร่วมกับการทำ SEO ด้วย เพราะเว็บไซต์จะดีได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำคอนเทนต์อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องทำให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่ดีในการเข้าชมเว็บไซต์ด้วย 

ซึ่งเราสามารถปรับปรุง UX เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้ผู้ใช้งาน ได้โดย

  • ปรับการใช่งานให้รองรับอุปกรณ์ครบทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป หรือสมาร์ทโฟน
  • สามารถแสดงผลและทำงานได้รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผลของเนื้อหา หรือการโหลดรูปภาพบทเว็บไซต์
  • มีโครงสร้างเว็บไซต์ที่เป็นลำดับ เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหน้าหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
  • มีปุ่มนำทางที่ดึงดูดใจ เห็นได้ชัดเจน เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถคลิกไปยังหน้าอื่นๆ ได้ง่าย

ขั้นตอน​ที่​ 3 -​ ตรวจสอบ Keyword Cannibalization 

Keyword Cannibalization นั้นคือการที่เราเพิ่มคีย์เวิร์ดคำเดียวกันเข้าไปในหลายๆ หน้า หลายคนมองว่าการใส่คีย์เวิร์ดเข้าไปในหลายๆ ที่นั้นจะยิ่งทำให้อันดับเราดีขึ้น หรือทำให้เว็บไซต์ของเรามีโอกาสติดอันดับในหน้าแรกมากขึ้น แต่ผลลัพธ์บอกเลยค่ะว่าตรงกันข้าม เพราะยิ่งเราใส่คีย์เวิร์ดเดิมซ้ำๆ ไปในหลายๆ หน้า ก็จะยิ่งทำให้ Search Engine เกิดความสับสน และเมื่อมีการจัดอันดับในคีย์เวิร์ดเดียวกัน ก็จะทำให้คีย์เวิร์ฆ่ากันเอง หรือทำให้เกิดการแข่งขันกันเอง ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำ SEO ของเราแน่ๆ 

เพราะฉะนั้น เราจึงควรตรวจสอบคีย์เวิร์ดในแต่ละหน้าของเว็บไซต์เราให้ดี ไม่ให้เกิดกรณี Keyword Cannibalization หรือคีย์เวิร์ดที่ซ้ำซ้อน โดยควรปรับเปลี่ยนคีย์เวิร์ดในแต่ละหน้าให้มีความแตกต่างกัน และสอดคล้องกับเนื้อหาที่แสดงในหน้านั้นๆ หรือถ้าเราตรวจสอบแล้วพบว่าหน้าเว็บนั้นมี Keyword Cannibalization เกิดขึ้น ก็ให้ลองเปลี่ยนเส้นทางโดยการรวมเนื้อหาไว้ในหน้าหลักที่เราต้องการเพียงหน้าเดียวก็ได้เช่นกัน

ขั้นตอน​ที่​ 4 -​ แก้ไขปัญหาการจัดทํา Index

ถึงแม้ว่า Google จะเข้ามาเก็บข้อมูลของเราทุกหน้า แต่ก็ไม่ได้เข้ามา Index หรือจัดทำดัชนีของหน้าเว็บไซต์ของเราทุกหน้าหรอกนะคะ หรือบางครั้ง Google ก็อาจจะส่ง Bot เข้ามา Index แต่อาจจะช้ามาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนทำ SEO ต้องทำก็คือ เราจะต้องทำให้หน้าที่ไม่ถูก Index มีน้อยที่สุดให้ได้

ซึ่งส่วนมากแล้วหน้าที่ไม่ถูก Index มักจะมีปัญหาต่างๆ เช่น มีคีย์เวิร์ดที่ซ้ำกันในหลายๆ หน้า ขาด Internal link มีเนื้อหาหรือ URL ที่คล้ายกับหน้าอื่นๆ มากเกินไป เวลาในการโหลดช้า เป็นต้น

สำหรับวิธีแก้ปัญหาอย่างแรกก็คือการเข้าไปที่ Google search console เพื่อเช็กก่อนหน้าไหนที่ยังไม่ index จากนั้นก็ไปดูวันที่ที่ bot เข้ามารวบรวมข้อมูลครั้งสุดท้าย หากยังไม่เกิน 1 อาทิตย์ก็ให้รอก่อน โดยที่ยังไม่ต้องทำอะไร เพราะบางทีถึงแม้ว่า Bot จะเก็บข้อมูลไปแล้วแต่ก็ยังต้องใช้เวลา แต่ถ้า Bot เก็บข้อมูลไปแล้วเกิน 1 อาทิตย์ ก็ให้ลองเข้าไปแก้ไขเนื้อหา แก้ไข URL รวมถึงเปลี่ยนวันที่ในการเผยแพร่หน้าเว็บนั้นด้วย

ขั้นตอน​ที่ 5 -​ ตรวจสอบเนื้อหาที่ซ้ำกัน

เนื่องจาก Google มองว่าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาซ้ำกันนั้นเป็นเนื้อหาที่คุณภาพต่ำ ดังนั้นเราจึงควรตรวจเช็ก  Duplicate Content หรือเนื้อหาที่ซ้ำกันหรือใกล้เคียงกัน อยู่หรือไม่ เพราะการที่เนื้อหาในเว็บไซต์ของเรานั้นไปซ้ำกันกับเว็บไซต์อื่นๆ หรือซ้ำกันกับเนื้อหาหน้าอื่นๆ ในเว็บไซต์ของเรานั้นอาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพ SEO ของเราได้

ซึ่งหลังจากที่เราเข้าไปตรวจสอบและแก้ไขเนื้อหาที่ซ้ำกันเรียบร้อยแล้วก็สามารถเขียนโปรแกรมเพื่อใส่ Canonical Tag ลงในหน้าที่เราต้องการชี้เพื่อให้ Google เข้ามาเก็บ Index ได้

ขั้นตอน​ที่ 6 -​ เพิ่มประสิทธิภาพเนื้อหาด้วยคีย์เวิร์ด

โดยปกติแล้วผลการค้นหาจาก Google นั้นจะได้รับการคลิกมากกว่าการคลิกผ่านหน้าเว็บถึง 10 เท่า แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับต้นๆ ของการค้นหาก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของคีย์เวิร์ด การเลือกคีย์เวิร์ดที่เหมาะสมจะช่วยให้เว็บไซต์ของเราสามารถไต้อันดับขึ้นไปอยู่หน้าแรกของการค้นหาได้ รวมถึงมีโอกาสเพิ่ม Traffic ในการเข้าเว็บไซต์และ Backlink มากขึ้นด้วย

โดยเกณฑ์ในการเลือกนั้นมีอยู่หลักๆ 3 ข้อด้วยกัน คือ 

  • คีย์เวิร์ดที่เราเลือกมานั้นจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาและตัวเว็บไซต์ 
  • คีย์เวิร์ดที่เลือกมาใช้งานนั้นจะต้องมีปริมาณSearch Volume อยู่พอสมควร โดยเราสามารถทําการวิจัยคู่แข่งโดยใช้เครื่องมือช่วยหา Keyword ที่เหมาะสมในการทำ SEO เช่น SEMRush Ahrefs หรือ Ubersuggest เป็นต้น
  • ที่สำคัญคือเราต้องดูด้วยว่าคีย์เวิร์ดที่เราเลือกนั้นมีค่าการแข่งขันที่ไม่สุงจนเกินไปด้วย

ขั้นตอน​ที่​ 7 -​ ตรวจสอบเวลาในการดาวน์โหลด

ปกติแล้วเว็บไซต์จะใช้เวลาดาวน์โหลดบนเดสก์ท็อปโดยเฉลี่ยประมาณ 1.286 วินาที และบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ประมาณ 2.594 วินาที แต่ถ้าเว็บไซต์ของคุณใช้เวลาดาวน์โหลดนานจนเกินไปอาจจะทำให้เกิดอัตรตีกลับที่สูงขึ้น และ Conversion และการมองเห็นที่ลดลง

ซึ่งเราสามารถแก้ไขการดาวน์โหลดช้าได้เบื้องต้นด้วยการตรวจเช็กและปรับขนาดภาพให้เหมาะสม ลดจำนวน​ปลั๊กอิน​และสคริปต์​ลง​ รวมถึงลดขนาดของ​ CSS จาวาสคริปต์​ และ​ HTML ลงด้วย

และเนื่องจาก​เนื้อหาในบทความนี้ค่อนข้างยาว​ แบมจึงจะขอแบ่งออกเป็น​ 2 ตอนนะคะ​ โดยในตอนแรกจะขอนำเสนอก่อน​ 7 ขั้นตอน​ แล้วขั้นตอน​ที่เหลือขออนุญาต​ยกยอดไปต่อกันใน​ Ep.​ที่ 2 ยังไงก็อย่าลืมติดตามอ่านต่อกันด้วยนะคะ​ สัญญาเลยว่า​ Ep.2 จะรีบตามมาอย่างแน่นอนค่ะ

สำหรับใครที่อ่านจบแล้ว​ ลองเอาขั้นตอนเหล่านี้ไปลองตรวจเช็กและปรับปรุง​เว็บไซต์​ของคุณดูก่อนได้เลยนะคะ

ส่วนใครที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การทำตลาดในรูปแบบอื่นๆ แนะนำให้ไปอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่ 

ในบทความหน้าแบมจะมีอะไรมาอัปเดตอีกบ้าง สามารถติดตามได้ผ่านเพจการตลาดวันละตอน รวมถึง Twitter และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนนะค​ะ

Bambinun*

Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน ที่หลงรักการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ พอๆ กับการกินของอร่อย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นทาสแมว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *