Market Segmentation 4 ประเภทที่ช่วยเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น

Market Segmentation 4 ประเภทที่ช่วยเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น

คงเคยได้ยินหรือผ่านหูผ่านตากันมาบ้างกับคำว่า Market Segmentation หรือบางคนก็เรียกสั้น ๆ ว่าการทำ Segment ซึ่งการทำสิ่งนี้เตยต้องขอบอกว่ามันมีประโยชน์ต่อธุรกิจ การตลาดของเรามาก ๆ ไม่ควรพลาดอย่างแรง

สำหรับใครที่ได้ยินมาแต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร มีอะไรบ้าง กี่ประเภท และทำยังไง หรือ กำลังศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งนี้อยู่ สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้ได้เลยค่ะ

Market Segmentation คือ

การแบ่งส่วนตลาด เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การวางแผนธุรกิจ และ การตลาด ตลอดจนการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม โดยเป็นใช้วิธีการแบ่งกลุ่มตลาดตามลักษณะของผู้บริโภคที่มีความเฉพาะบางอย่างที่คล้าย หรือเหมือนกัน

โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทดังนี้

#1 Demographic segmentation: The who (ใคร)

Market Segmentation 4 ประเภทที่ช่วยเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น

เป็นการแบ่งส่วนตลาดด้วยปัจจัยทางประชากรหรือผู้บริโภค เพื่อทำให้เรารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเราเป็น ‘ใคร’ โดยสามารถจัดกลุ่มได้จากปัจจัย เช่น อายุ เพศ สถานภาพการสมรส ขนาดครอบครัว อาชีพ ระดับการศึกษา รายได้ สัญชาติ และ ศาสนา

ซึ่งวิธีการแบ่งส่วนตลาดเช่นนี้ จะแบ่งกลุ่มของลูกค้าได้ชัดเจน และมีความสัมพันธ์กับอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์ จึงนิยมนำมาใช้ในการแบ่งส่วนตลาดมากที่สุดนั่นเองค่ะ

#2 Psychographic segmentation: The why (ทำไม)

Market Segmentation 4 ประเภทที่ช่วยเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น

การแบ่งส่วนตลาด ตามหลักจิตวิทยาโดยการแบ่งตลาดตามวิถีการดำรงชีวิตของบุคคล เช่น รูปแบบการดำรงชีวิต บุคลิกภาพ สิ่งจูงใจ ซึ่งเน้นไปที่ข้อมูลเชิงลึกในด้านอารมณ์ ความรู้สึก ที่มีคุณค่าและเกี่ยวกับแรงจูงใจ ความชอบ ตามจิตนิสัย

การทำความเข้าใจลูกค้าในแง่มุมเหล่านี้ ช่วยให้เรารู้ได้ว่า ‘ทำไม’ เขาถึงมาซื้อหรือใช้บริการ ทำให้ธุรกิจสามารถสร้างเนื้อหาที่ดึงดูดใจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

#3 Geographic segmentation: The where (ที่ไหน)

Market Segmentation 4 ประเภทที่ช่วยเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น

การแบ่งส่วนตลาด แบบภูมิศาสตร์ เช่น ประเทศ จังหวัด ภูมิภาค ภูมิอากาศ ลักษณะประชากร จำนวนประชากร หรือ ทวีป เป็นต้น

เนื่องจากภูมิภาคแต่ละพื้นที่นั้นมีรูปแบบของประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ความเชื่อ หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นที่ส่งผลต่อการซื้อสินค้าหรือบริการด้วย นอกจากจะรู้ว่าลูกค้าคือ ใคร และทำไมเขาถึงซื้อแล้ว การที่เรารู้ว่าพวกเขาอยู่ ‘ที่ไหน’ จะช่วยทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่าย ถูกที่ ถูกจุดและเร็วขึ้นนั่นเองค่ะ

#4 Behavioral segmentation: The how (อย่างไร)

Market Segmentation 4 ประเภทที่ช่วยเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น

การแบ่ง Market Segmentation ตามหลักพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงความคาดหวังของผู้บริโภคว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร

การแบ่ง Segmentation ประเภทนี้จะช่วยทำให้สามารถหากลยุทธ์การทำ Marketing ที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ เช่น ผู้บริโภคชื่นชอบการซื้อของออนไลน์มากกว่าหน้าร้าน แต่ระบบการจ่ายเงินของแบรนด์ยังทำได้ไม่ดี ก็อาจจะทำการปรับปรุงช่องทางการชำระเงินออนไลน์ให้ดีขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ก็จะมี การแบ่งส่วนตลาด แบบอื่น เช่น

  • Technographic segmentation: แบ่งตามการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี เช่น ผู้นำ ผู้ตาม ผู้ที่เฉย ๆ กับเทคโนโลยี ผู้ที่สนใจเพียงราคาถูก
  • Generational and life stage segmentation: แบ่งตามเจเนอเรชั่น เช่น Baby boomer, Gen X, Gen Y, Gen Z เป็นต้น
  • Transactional segmentation: แบ่งตามการจับจ่ายใช้สอย เช่น วันที่ซื้อล่าสุด รู้จักแบรนด์จากช่องทางไหน จำนวนครั้งที่ซื้อ เป็นต้น
  • Firmographic Segmentation: แบ่งตามรูปแบบขององค์กร เช่น ขนาดองค์กร จำนวนพนักงาน อุตสาหกรรม เป็นต้น วิธีนี้เหมาะสมกับสินค้าและบริการที่เน้น B2B เป็นส่วนใหญ่

ประโยชน์ของทำการแบ่งส่วนการตลาด

การแบ่งส่วนตลาด มีประโยชน์มากมายหลายด้าน วันนี้เตยจึงสรุปประโยชน์แบบเน้น ๆ ที่ได้จากการทำ Segment มาฝากกันค่ะ เพื่อเป็นการชี้ทางให้เห็นว่าการทำสิ่งนี้มันมีประโยชน์จริง ๆ!

ช่วยให้ ROI ดีขึ้น

การแบ่งตลาดของผู้บริโภคออกเป็นกลุ่มๆ ช่วยจัดสรรงบประมาณได้ลงตัวมากขึ้น ทำให้เรารู้ว่าควรจะทุ่มเงินโฆษณาไปในช่องทางใด และควรสื่อสารออกมาในรูปแบบใดจึงจะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ช่วยสร้าง Customer loyalty

การแบ่งส่วนตลาด ช่วยสร้างความภักดีให้กับแบรนด์ได้ จากข้อมูลของ Accenture พบว่า 79% ของผู้บริโภคมีความภักดีต่อแบรนด์ที่ใช้กลยุทธ์การทำ Personalization

ช่วยเข้าถึงกลุ่มตลาดใหม่ ๆ

การแบ่งส่วนตลาด จะช่วยให้เรามองเห็นกลุ่มใหม่ได้อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทกล้องชื่อดัง Canon ที่ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดกล้องดิจิทัลได้ถึง 40% เพราะหันไปจับกลุ่มเด็กเล็กที่ไม่มีโทรศัพท์ แต่ชอบถ่ายรูป เพราะบริษัทรู้ว่ากลุ่มคนที่เป็นพ่อแม่ จะชอบซื้อกล้องของเล่นให้ลูกเพราะไม่ต้องการให้เล่นโทรศัพท์ จึงได้ออกสินค้าใหม่เป็นกล้องคุณภาพต่ำออกมาที่ใช้ถ่ายรูปได้

ช่วยพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ที่ดีขึ้น

หากเรามีความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าลูกค้าของเราคือใคร เราก็สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการ และความคาดหวังของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น เช่น คุณทำธุรกิจด้านยานยนต์ Market segment ของธุรกิจคือ คนมีครอบครัว การออกแบบผลิตภัณฑ์ก็ต้องตอบโจทย์สำหรับคนมีครอบครัว เช่น ออกแบบรถยนต์ที่มีพื้นที่กว้าง ที่นั่งเยอะ มีพื้นที่ขนของ แต่ราคาไม่สูง เป็นต้น

ช่วยยกระดับความพึงพอใจให้กับลูกค้า 

การแบ่งส่วนตลาด ช่วยให้บริษัทสามารถให้เราส่งมอบและบริการผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของธุรกิจ เพราะเรารู้ว่าพวกเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ต้องการสิ่งไหน ไม่ต้องการสิ่งใด

ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ของคุณ

การแบ่งส่วนตลาดออกเป็นกลุ่มย่อยๆ สามารถสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบเฉพาะ (Personalized marketing) ได้ง่ายขึ้น เช่น การใช้ข้อความสื่อสารถึงตัวบุคคลนั้นๆ เพื่อลดระยะห่างระหว่างแบรนด์กับกลุ่มลูกค้าโดยตรง เป็นต้น

ลดต้นทุนการเข้าหาลูกค้า (CAC)

ปกติแล้วการเข้าหาลูกค้าหากเราไม่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายให้ดี เราจะเสียเงินทุนไปมหาศาล เพราะเราไม่รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเราคือใคร อยู่ตรงไหน ชอบอะไร การแบ่งส่วนตลาด จะช่วยให้เราลดต้นทุนได้ เพราะเรารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร

สรุป การแบ่งส่วนตลาด 4 ประเภทที่ช่วยเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เตยคิดว่าทุกคนคงจะเริ่มมองเห็นประโยชน์ของข้อมูลที่มีอยู่ในมือ หรือใครที่ยังไม่ได้เริ่มเก็บข้อมูล ก็คงรู้สึกที่อยากจะเก็บข้อมูลกันขึ้นมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ

การทำ ‘การแบ่งส่วนตลาด‘ จริง ๆ แล้วไม่ได้ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไรแบบที่เราคิดกัน แค่แบ่งออก หรือ จัดกลุ่มเป็น 4 ประเภทแบบที่กล่าวไปในข้างต้นได้ ก็สามารถช่วยให้ธุรกิจ รวมถึงตัวเราเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นแล้วนั่นเองค่ะ

เตยหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ต่อผู้อ่านทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาด หรือข่าวสารการตลาด แบบจัดหนักจัดเต็ม สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Source

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *