วิธีเลือก Influencer ให้ตอบโจทย์ Marketing Strategy

วิธีเลือก Influencer ให้ตอบโจทย์ Marketing Strategy

วันนี้จะมาบอก วิธีเลือก influencer ให้ตอบโจทย์กลยุทธ์ทางการตลาด หรือ Marketing Strategy กัน

แบมเชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นหูคุ้นตากับคำนี้ไม่มากก็น้อย เพราะ Influencer นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลับกัน Influencer นั้นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ในการโปรโมตมากที่สุดในการทำการตลาดในรูปแบบออนไลน์ โดยมีเป้าหมายในการสร้าง Positive Brand Experience ผ่านตัวบุคคลที่เราใช้เป็น Influencer นั่นเอง

ดังนั้นประเด็นที่สำคัญอาจจะไม่ได้อยู่ที่ Influencer คือใคร? หรือหมายถึงอะไร? แต่ประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่เราจะเลือกใช้ Influencer อย่างไรให้ตอบโจทย์ธุรกิจ หรือกลยุทธ์ทางการตลาดเรามากกว่า เพราะฉะนั้นในบทความนี้แบมจะมาพูดถึงความแตกต่างของ Influencer โดยจะแบ่งโดยใช้เกณฑ์ Follower เป็นหลัก เนื่องจากเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในแง่ของ Reach  Awareness Engagement และ Conversion โดยตรง

ทำไม Influencer ถึงเป็นที่นิยม

แบมมองว่าในยุคที่ทุกคนสามารถหาข้อมูลสินค้าและบริการได้จากหลากหลายแหล่งโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งคอนเทนต์ที่มาจากแบรนด์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป จึงทำให้ความคิดเห็นจากผู้บริโภคคนอื่น ๆ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า Influencer จึงเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น เพราะคนเราจะมองว่าคนด้วยกันนั้นน่าเชื่อถือมากกว่าแบรนด์นั่นเอง 

Influencer คือผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้บริโภคบนสื่อออนไลน์ ด้วยการสร้างคอนเทนต์และเผยแพร่ลงตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook Instagram Youtube TikTok Blog หรือ Podcast ซึ่งประเภทของเนื้อหาที่สร้างนั้นก็แบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสายท่องเที่ยว สายอาหาร สายสุขภาพและการออกกำลังกาย สายแฟชั่นและความงาม หรือสายเกม แล้วแต่ว่า Influencer คนนั้น ๆ จะมีความชื่นชอบ ไลฟ์สไตล์ หรือความถนัดด้านใดเป็นพิเศษ 

Influencer แบ่งได้กี่ประเภท

สำหรับการแบ่งประเภท Influencer นั้นเราสามารถแบ่งได้ตามจำนวนผู้ติดตาม ได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้

1. Nano Influencer (มีผู้ติดตาม 1,000-10,000 คน)

สำหรับ Influencer ประเภทนี้นั้นจะเป็นที่รู้จักกันในวงเล็ก ๆ เช่นในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือกลุ่มคนที่สนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ อย่างดาวมหา’ลัย นักกีฬาโรงเรียน หรือไอดอลคอสเพลย์ เป็นต้น 

เหมาะกับการตลาดแบบไหน

แบมมองว่าคนกลุ่มนี้แม้จะมีผู้ติดตามไม่มากนัก แต่ก็เป็นบุคคลที่ได้รับความน่าเชื่อถือจากบุคคลรอบข้าง ทำให้มีผู้สนใจฟังและพร้อมแสดงความคิดเห็นตอบโต้ได้ง่ายกว่า ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของ Nano Influencer คือราคาในการจ้างงานไม่สูงมาก ทำให้แบรนด์สามารถจ้างได้ครั้งละหลายคน เหมาะกับการตลาดในรูปแบบ SME แบรนด์ที่มีงบไม่มากนัก หรือการตลาดที่ต้องการเข้าถึงเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม

2. Micro Influencer (มีผู้ติดตาม 10,000-50,000 คน)

คนกลุ่มนี้ส่วนมากมักพัฒนามาจาก Nano Influencer คือเริ่มมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น มีแนวทางการทำคอนเทนต์ที่ชัดเจน โดดเด่น และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองมากขึ้น จึงทำให้มีคนมาสนใจและติดตามเพิ่มมากขึ้น

เหมาะกับการตลาดแบบไหน

ข้อดีของ Micro Influencer นั้นมีส่วนคล้ายกับ  Nano Influencer แต่ดูมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น และมีแนวทางคอนเทนต์ที่ชัดเจนเช่นรีวิวร้านอาหาร โรงแรม คาเฟ่ สอนแต่งหน้า  หรือท่องเที่ยว ทำให้แบรนด์สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ตรงกับวัตถุประสงค์ได้ แต่ถ้าอยากได้ทั้ง Engagement ทั้ง Reach จาก Micro influencer นั้นอาจจะต้องใช้หลายคนหน่อยนะคะ เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าคนกลุ่มนี้ยังไม่ได้มีฐานแฟนที่เยอะมากเท่าไหร่นัก

3. Mid-Tier Influencer (มีผู้ติดตาม 50,000-500,000 คน)

Influencer กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มที่ทำคอนเทนต์กันเป็นอาชีพ  เป็นที่รู้จักและติดตามในวงที่กว้างขึ้น มีแนวทางในการสร้างเนื้อหาที่ชัดเจนเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือมีเทคนิคที่ดี จึงทำให้คอนเทนต์มีความโดดเด่นกว่านั่นเอง

เหมาะกับการตลาดแบบไหน

แม้ว่าราคาจะสูงกว่า 2 กลุ่มแรก แต่ถ้าแบรนด์ไหนที่อยากเริ่มสร้าง Brand awareness แบมบอกเลยว่า Influencer กลุ่มนี้ถือว่าตอบโจทย์ เพราะนอกจากจะมีความเป็นมืออาชีพ มีแนวทางและตัวตนที่ชัดเจนแล้ว ยังสามารถสร้างการรับรู้ในกลุ่มคนทั่วไปได้ในเวลาเดียวกันด้วย

4. Macro Influencer (มีผู้ติดตาม 500,000-1,000,000 คน)

กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนที่มีผู้ติดตามค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือเป็นบุคคลที่เป็นรู้รู้จัก เช่นดารา ไอดอล นักร้อง นักแสดง หรือแม้แต่บล็อกเกอร์ที่มีผู้ชื่นชอบเยอะ ๆ ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน

เหมาะกับการตลาดแบบไหน

แบรนด์ไหนที่งบพร้อม และต้องการ Brand awareness บอกเลยว่าไม่ผิดหวัง เพราะMacro Influencers มักมีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก ทำให้มีพลังในการ Reach คนสูงจึงช่วยสร้าง Brand awareness ได้ดี 

5. Mega Influencer (มีผู้ติดตาม มากกว่า 1,000,000 คนขึ้นไป)

ระดับนี้พูดได้คำเดียวว่าคือตัวท็อป ตัวแม่ของวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการอาหาร กีฬา บิวตี้ ดนตรี หรือแฟชั่น ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และมักจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงในฝั่งออฟไลน์มาก่อน Influencer กลุ่มนี้มีอิทธิพลสูงมาก ๆ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ล้ำ นำทุกเทรนด์ พรีเซนต์อะไรออกมาคนก็รู้สึกว่าอยากไป อยากกิน หรืออยากซื้อตาม

เหมาะกับการตลาดแบบไหน

สำหรับแบรนด์ที่ต้องการความน่าเชื่อถือและต้องการเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก เนื่องจากราคาในการจ้างงานที่สูงมาก จึงเหมาะกับแบรนด์ขนาดใหญ่ และสินค้าที่มีมูลค่าสูงมากกว่า เพราะการนำ Influencer เบอร์ใหญ่ขนาดนี้มาทำแคมเปญการตลาดสินค้าที่ราคาไม่สูงนักอาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกไม่เชื่อสนิทใจได้มากเท่าที่ควรนั่นเองค่ะ

แม้ Influencer จะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าจับตามองและเป็นตัวช่วยในการสื่อสารการตลาดที่ดี แต่สุดท้ายแล้วแบมมองว่าการจะเลือกใช้ Influencer ไม่ว่าประเภทไหนนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กรับสินค้าและการวางแผนการตลาดเป็นหลัก แล้วจึงค่อยมาพิจารณา Influencer ที่เหมาะสมกับแผนการตลาดและกลุ่มเป้าหมายที่เราวางไว้ เพื่อให้ตลาดทำการตลาดในแต่ละครั้งมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์มากที่สุดค่ะ

และนี่ก็คือ วิธีเลือก Influencer ให้ตอบโจทย์ Marketing Strategy หรือกลยุทธ์การตลาดมากที่สุด

สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดการอัปเดตเทรนด์เกี่ยวกับ Influencer สามารถอ่านบทความ อัปเดต Influencer Trends 2020-2021 ที่นักการตลาดต้องตามให้ทัน และบทความเกี่ยวกับ Influencer Marketing ในแง่มุมอื่น ๆ ได้ ที่นี่

Bambinun*

Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน ที่หลงรักการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ พอๆ กับการกินของอร่อย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นทาสแมว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *