วิเคราะห์ Loyalty Program ไทย และ Retail ว่าทุ่ม Privilege แบบไหนเพื่อดึงกลุ่ม Exclusive

วิเคราะห์ Loyalty Program ไทย และ Retail ว่าทุ่ม Privilege แบบไหนเพื่อดึงกลุ่ม Exclusive

กลุ่มลูกค้าที่เป็นระดับ Exclusive หรือ Luxury นั้นเป็นที่รู้กันดีว่าถูกต้องมองตาเป็นมันจากบรรดานักการตลาดและแบรนด์ต่างๆ เลยทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้องพยายามสรรหา Privilege และ Promotion ชั้นดีเพื่อจะดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ให้ใช้เงินกับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ และก็นั่นแหละครับถ้าจะมีการทำ Loyalty Program เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่ม Big Top Spender ให้อยู่กับแบรนด์เราให้ได้ก็ต้องสรรหาโปรโมชั่นที่เร้าใจแบบที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Stickiness หรือติดหนึบไม่อยากย้ายไปหาคนอื่นนั่นเองครับ

และนี่ก็เป็นอีกงานหนึ่งของการตลาดวันละตอนที่เราได้ทำการ Research & Analyze เพื่อวิเคราะห์ดูบรรดา Loyalty Program สำหรับลูกค้ากลุ่ม Exclusive หรือ Luxury ให้กับทางลูกค้ารายหนึ่ง ก็เลยนำบางส่วนที่เปิดเผยได้มาเล่าให้เพื่อนๆ นักการตลาดได้เรียนรู้ไปด้วยกันว่าบัตรแต่ละใบ หรือโปรแกรมสมาชิกแต่ละที่นั้นเขาจัดหนักโปรโมชั่นและดีลดีๆ ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ของตัวเองกันอย่างไร ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มบทความการวิเคราะห์จักรวาล Loyalty Program สำหรับลูกค้าระดับ Exclusive ของไทยไปพร้อมกันเลยครับ

โดย Loyalty Program ในภาพรวมของกลุ่ม Exclusive ที่ผมเลือกมาวิเคราะห์มีดังนี้ครับ

Starbucks Gold ที่สุดของ Loyalty Program ในสาขาร้านกาแฟ (ผมคนนึงที่ตกเป็นทาสสตาร์บั๊คได้ Gold มานานมาก) Serenade Platinum ที่สุดของ Loyalty Program ในของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (อันนี้ผมแค่ Emerald เอง) และ Citi Premier บัตรเครดิตที่ให้อภิสิทธิ์ความสะดวกสบายมากมายครับ

AIS Serenade Platinum กินขาดด้วยที่จอดรถ เพิ่มเติมด้วย Lounge ที่หรูหรา

AIS Serenade

ในฐานะที่ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของ AIS มานาน แต่ก็ยังไม่เคยได้เป็น Serenade Platinum กับเขาสักที เอาแค่ Serenade Gold ก็ยังไม่ถึงเลยครับ แต่เนื่องด้วยสังเกตุเห็นเป็นประจำว่าไม่ว่าจะขับรถไปที่ไหนที่คนเยอะๆ มักจะมีพื้นที่สำรองสำหรับลูกค้า Serenade Gold & Platinum ให้อิจฉาตาร้อนเป็นประจำ เวลาขับไป The Circle ราชพฤกษ์ก็เจอเป็นบล็อคใหญ่ที่กั้นไว้สำหรับลูกค้า Serenade Gold ขึ้นไปเท่านั้น

หรือล่าสุดที่ขับรถไปเมืองทองก็พบว่า ที่กั้นสำหรับลูกค้า Serenade Gold & Platinum นั้นเยอะมาก มากจนรู้สึกว่าอยากจะอัพแพคเกจที่ใช้แล้วขอเข้าไปจอดให้ได้ในตอนนั้นเลย

ยังไม่นับถึง Lounge ที่ให้บริการไม่ใช่แค่ในสาขาศูนย์ให้บริการของ AIS แต่ยังกระจายออกไปมากมายหลายที่ทั้งโรงภาพยนต์ ทั้งในสนามบิน(ได้ส่วนลดพิเศษ 60%) ในแบบที่ตกแต่งประดับประดาอย่างดี พร้อมกับมีเครื่องดื่มให้บริการอีกด้วย

นี่ยังไม่นับรวมถึงโปรโมชั่นส่วนลดสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่มียิบย่อยมากมาย เอาเป็นว่าขอพูดถึงแต่ Privilege ที่ทำให้รู้สึก Exclusive หลักๆ ในแบบที่ผมรู้สึกว่าถ้าได้แบบนี้ก็จะรู้สึกดีไม่น้อยเลยทีเดียว

อีกข้อที่น่าสนใจไม่น้อยคือมี Personal Assistant หรือผู้ช่วยส่วนตัวเฉพาะลูกค้า Serenade Platinum ที่พิเศษจริงๆ เท่านั้น

ต้องบอกเลยว่า Loyalty Program ของ AIS Serenade เป็นอะไรที่เกินไปกว่าการเป็นเครือค่ายโทรศัพท์มือถือแล้วจริงๆ เพราะวันนี้ครอบคลุม Lifestyle ไปอย่างรอบด้านไม่ใช่แค่ส่วนลดร้านอาหารหรือช้อปปิ้งเล็กๆ น้อยๆ แบบเดิมๆ 

เรียกได้ว่ายิ่งใช้บริการ AIS ยิ่งคุ้มค่า จากเดิม Serenade มีแค่ระดับเดียวจนแตกออกมาเป็นหลายระดับ เรียกได้ว่ายิ่งไปได้ลึกถึง Platinum มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งติดใจจนย้ายค่ายยากมากเท่านั้นครับ

เครือข่ายค่ายสัญญาณมือถือผ่านไปแล้ว มาต่อกันที่ Starbucks Gold ที่ทำไมทาสกาแฟอย่างผมติดกับดัก Loyalty Program Starbucks แห่งนี้มานานหลายปีเพราะอะไร

Source: https://privilege.ais.co.th/serenade/th/benefitandservices 

Starbucks Reward Gold Level ที่อาจไม่ Exclusive เท่าวันวาน

เดิมทีเงื่อนไขการได้เป็น Gold ไม่ใช่ง่ายแบบทุกวันนี้นะครับ ตอบด้วยความอินมากเพราะอยู่ในสมัยที่ยังได้บัตรใบเป็นๆ สีทองส่งตรงมาบ้านได้อยู่เลย วินาทีแรกที่ได้รับรู้สึกถึงความพิเศษอย่างแท้จริง เพราะไม่ใช่ทุกคนจะทุ่มทุนกิน Starbucks จนได้ Gold กันง่ายๆ แบบทุกวันนี้

ยังจำในช่วงแรกที่แบบว่าต่อให้มีแอปก็ยังรู้สึกอยากหยิบบัตร Gold ขึ้นมาโชว์ตอนจ่ายเงินอยู่ แต่ก็อย่างว่าแหละครับด้วยความสะดวกสบายของเทคโนโลยีที่ไม่ต้องพกบัตรแล้วเอามือถือแตะก็สามารถจ่ายได้จบในเครื่องเดียวก็ทำให้ทิ้งบัตร Gold ที่มีไปไหนแล้วไม่รู้

ซึ่ง Privilege ของ Starbucks Gold อาจจะไม่เหมือนกับ Loyalty Program อื่นที่หยิบมาวิเคราะห์ร่วม แต่ลำพังแค่ Privilege ภายในร้าน Starbucks เองก็เพียงพอที่จะทำให้ลูกค้า Starbucks อย่างผมยอมเป็นทาสแบรนด์นี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาความเป็น Gold ให้นานๆ ครับ

การสะสมแต้มเริ่มจากทุกๆ 25 บาทจะถูกเปลี่ยนเป็นดาว 1 ดวง และทุกๆ ดาว 120 ดวงก็จะสามารถเอาไปแลกเป็นเครื่องดื่มอะไรก็ได้ ไซส์ไหนก็ได้ 1 แก้ว เราคงเคยเห็นบางคอนเทนต์ที่บอกว่าเป็นเมนูลับในระดับที่ว่าถ้าสั่งปกติจะแพงมากแก้วละ 2xx บาท ต้องรอให้ได้สิทธิ์ในการแลกฟรีเท่านั้นค่อยสั่งนะ ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง Challenge ของการกิน Starbucks ที่น่าสนใจ

จากนั้นในเดือนเกิดคุณก็จะได้รับเค้กและกาแฟฟรีอีกด้วยเช่นกัน หลายครั้งจากคนไม่เคยกินขนมใน Starbucks อย่างผมก็ทำให้ได้รู้จักเมนูขนมใหม่ๆ ที่อร่อยติดใจจนสั่งกินเองต่อแม้จะไม่ได้ฟรีอยู่เรื่อยๆ ครับ

ที่ชอบอีกอย่างของลูกค้า Starbucks ที่เป็น Gold Level คือ แต่ก่อนมักจะได้สิทธิ์รับเมนูใหม่ๆ ที่เป็น Seasonal ฟรีเป็นประจำ แน่นอนว่าแค่การได้กินก่อนใครก็ทำให้หลายคนอิจฉาได้แล้ว เพราะเมนูใหม่ของ Starbucks มักจะมีราคาสูงกว่าเมนูปกติไม่น้อย ดังนั้นการที่ลูกค้าในระดับ Gold Level ได้รับสิทธิ์กินฟรีก็เป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจทำให้รู้สึกคุ้มค่าที่อุตส่าห์ทุ่มทุนจ่ายจนเป็น Gold นี่แหละนะ

อีกหนึ่งสิ่งสุดท้ายที่พีคมากและก็ไม่เคยยอมพลาดสักปี นั่นก็คือของขวัญปีใหม่จาก Starbucks ที่ตื่นเต้นทุกปีที่รอรับ ลุ้นว่าปีนี้จะได้อะไร ดีกว่าปีที่แล้วหรือไม่ แน่นอนว่าปีหลังๆ อาจจะถูกเสียงครหาจากแฟนๆ สตาร์บั๊คในระดับ Gold บ้างไม่มากก็น้อย แต่ต้องบอกว่าสมัยนั้นผมได้แต่ของดีๆ มากมาย ทั้งแก้วเซรามิกเอย ทั้งจานเอย ทั้งกระเป๋าสตางค์ที่ทำจากหนังแท้เอย เรียกได้ว่าได้มาทีแค่หยิบมาถ่ายรูปอวดเพื่อนลงโซเชียลก็ฟินแล้ว

แต่เนื่องจากวันนี้ Starbucks มาปรับการเข้าสู่ Gold Level ให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก จากเดิมทีต้องกินปีละ 25,000 บาท มาตอนนี้เหลือแค่ 7,500 บาทก็ Gold แล้ว

เมื่อการเข้าร่วมเป็น Gold ง่ายเกินไปก็เลยทำให้ความรู้สึก Exclusive นั้นหายไป เพราะการจะสร้างความพิเศษหรือ Exclusive คือการทำให้ใครๆ ก็อยากได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถได้สิ่งนั้นง่ายๆ ซึ่งการปรับระบบสมาชิกของ Starbucks ในตอนหลังอาจจะหลงลืม Exclusive Strategy นี้ไปครับ

Source: https://www.starbuckscardth.in.th/thhome

Citi Premier กับ Privilege แบบหรูหรา แค่มีเงินเดือนเริ่มต้น 30,000 บาท

เมื่อดูจาก Privilege ที่ได้รับจาก Citi Premier ที่สามารถใช้ได้ทั้ง Lounge ที่สนามบินปีละ 2 ครั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ หรือห้องรับรองตามสนามบินอื่นๆ ทั่วโลก แถมยังมีสิทธิพิเศษคุ้มครองการเดินทาง และวงเงินชดเชยให้อีกด้วยต่างหาก แล้วก็ยังมีบริการฟรีรถลีมูซีนรับจากบ้านไปยังสนามบิน ในกรณีที่ซื้อตั๋วเครื่องบินที่ไม่ใช่ Low-cost ผ่านบัตร Citi Premire ครับ ที่สำคัญทุกๆ 3 คะแนนในบัตรยังสามารถเอาไปแลกกลับได้ 1 ไมล์จากหลายสารการบินชั้นนำอีกด้วย เรียกได้ว่าสายบิน ตปท. จะฟินมากับบัตรนี้

บวกกับสิทธิพิเศษที่จะได้รับเครื่องดื่มฟรีจากร้านดังที่คุ้นเคยเดือนละแก้วถ้าสิทธิ์ที่ Citi สำรองไว้ยังไม่หมด(ซึ่งก็น่าจะหมดยากอยู่) และที่ขาดไม่ได้คือที่จอดรถพิเศษสำหรับคนถือบัตรพิเศษตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำและชื่อดัง เช่น เอ็มควอเทียร์ สยามพารากอน(แค่อันนี้ก็ชอบแล้วเพราะหาที่จอดรถยากมาก) เซ็นทรัลชิดลม เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลบางนา และ เดอะมอลล์ บางกะปิ

ถ้าไม่นับรวมส่วนลดโน่นนี่นั่นที่ทาง Citi มักไปดีลตามร้านอาหารและร้านค้าต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่า Tent card ของ Citi กลายเป็น Marketing ที่ดีกว่าโฆษณาทั่วไปเป็นไหนๆ เพราะทำให้คนที่ไม่มีบัตร Citi Bank มักรู้สึกว่าฉันน่าจะต้องมีบัตรนี้สักใบนะ

ยังไม่นับรวมถึงแต้มต่างๆ ที่ทาง Citi Premier คูณแล้วคุณอีกเอาให้รูดกันได้อย่างกระหน่ำใจ เรียกได้ว่าเป็น Privilege ของ Loyalty Program ที่ Exclusive แต่เข้าถึงได้ง่ายจริงเมื่อเทียบหลายบัตรที่รู้จักมาครับ

Source: https://www.citibank.co.th/welcome/premier/index.html

เมื่อเราสำรวจจักรวาล Loyalty Program ของไทยในภาพรวมผ่านไปแล้ว ทีนี้จะมาลงเจาะลึกวิเคราะห์เปรียบเทียบ Privilege ของลูกค้าระดับ Exclusive จาก 4 Loyalty Program ในกลุ่ม Retail ห้างสรรพสินค้าดัง ใครหรูหรากว่ากัน และใช้ได้จริงแบบเทียบกันเม็ดต่อเม็ดครับ

เป็นที่รู้กันว่าลูกค้าทุกวันนี้หายากมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะลูกค้าชั้นดีในระดับ Exclusive ที่ช้อปหนักๆ ถี่ๆ ปีๆ นึงหลักแสนไปจนถึงล้านก็ยิ่งถูกแย่งกันตาเป็นมัน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่มีการแข่งขันกันหนักเหลือเกิน โดยเฉพาะการช้อปปิ้งออนไลน์ที่สะดวกสบายแถมยังเข้าถึงได้ง่ายกว่า ก็เลยทำให้บรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในบ้านเราพยายามทำ Loyalty Program เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่ม Exclusive ให้ได้มากที่สุด

ด้วยการมอบ Privilege มากมายที่บอกให้รู้ว่าถ้าช้อปกันฉันบ่อยๆ แล้วเธอจะสะดวกสบาย แถมยังรู้สึกว่ามีแต่ได้ ทั้งได้รับโปรโมชั่นพิเศษที่แสนจะรู้ใจแบบ Personalization หรือได้รับการดูแลที่พิเศษตั้งแต่ที่จอดรถเพื่อทำให้ลูกค้าในกลุ่มนี้อยากจะขับรถออกจากบ้านเพื่อมายังห้างสรรพสินค้ามากกว่านั่งช้อปออนไลน์อยู่หน้าจอมือถือครับ

โดย 4 Loyalty program ที่หยิบยกเลือกมาวิเคราะห์ก็จะมีดังนี้ เริ่มที่ SCB M LUXE, The 1 Exclusive, ONE SIME Infinite และ VIZ Card ครับ ถ้าพร้อมแล้วเราไปเริ่มเปรียบเทียบ Privilege กันทีละข้อเลยครับว่าบัตรใบไหนให้ความเป็น Exclusive ได้ดีที่สุด

Exclusive Parking ลูกค้าชั้นดีขับรถมาทีต้องมีที่จอดสะดวกสบาย

เชื่อมั้ยครับว่าที่จอดรถนั้นเป็นอะไรที่สำคัญมากสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ที่ช้อปกันปีละหลักแสนหลักล้าน แม้หลายคนจะอยู่คอนโดหรูติดรถไฟฟ้ากลางเมืองในระดับที่มีทางเชื่อมตรงเข้า Sky walk แต่ละสถานีเลยก็ตาม แต่ลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะขับรถจากคอนโดมายังห้างสรรพสินค้าเพราะแต่ละคนก็มีนิยามของความสะดวกสบายที่แตกต่างกัน

ดังนั้นที่จอดรถจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการ Convince ให้ลูกค้ากลุ่ม Exclusive เหล่านี้เลือกว่าพวกเขาควรจะเลือกเปย์ไม่อั้นกับห้างไหน ลองมาดูเทียบกันทีละข้อว่าแต่ละบัตร Loyalty Program ของทั้ง 4 ที่มอบ Privilige Parking ให้กับลูกค้าอย่างไรบ้างครับ

SCB M LUXE สำรองที่จอดรถและเพิ่มชั่วโมงจอดฟรี 2 ชั่วโมง

ถ้าคุณเป็นลูกค้าชั้นดีระดับ Exclusive ของที่นี่คุณจะได้รับการสำรองที่จอดรถพิเศษไว้ให้พร้อมทุกครั้งเมื่อคิดจะขับรถมาแบบมาก่อนได้ก่อนจองสิทธิ์ไม่ได้ ที่ต้องทำก็แค่แสดงบัตรให้พนักงานในลานจอดรถเห็นเพียงเท่านี้ก็ขับสวยๆ เข้าซองไปจอดได้เลย แถมคุณยังสามารถเพิ่มชั่วโมงจอดรถฟรีได้อีก 2 ชั่วโมง ยกเว้นแค่ที่ Siam Paragon เท่านั้นที่จะไม่ได้รับสิทธิ์นี้ครับ

Source
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/cards/credit-cards/all-cards/scb-m-luxe/privilege-shopping-mall/extended-parking-hours.html
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/cards/credit-cards/all-cards/scb-m-luxe/privilege-shopping-mall/reserved-parking.html

ONE SIAM INFINITE เพิ่ม Valet Parketing และจอดฟรีได้นานถึง 8 ชั่วโมง

ใครที่ช้อปกับห้างสรรพสินค้าในเครือ Siam Piwat เป็นประจำอย่าง Siam Paragon, Siam Discovery, Siam Center และ Icon Siam นอกจากคุณจะได้สำรองที่จอดรถไว้ครบทุกห้างที่กล่าวมาทาง ONE SIAM ยังมีบริการ Valet Parking เพิ่มให้ด้วยถ้าขี้เกียจวนหาที่จอดเอง และที่เหนือกว่าคือสามารถจอดฟรีได้นานถึง 8 ชั่วโมงครับ

Source: https://kasikornbank.com/th/personal/Credit-Card/Pages/Siamone-KBank.aspx

VIZ Card Black จอดฟรี 1 ปี!

ต้องบอกว่า Privilege Parking ของ VIZ Card มาแรงแซงทุกโค้งมาก คนอื่นให้กันหลักชั่วโมงเท่านั้น แต่สำหรับลูกค้า VIZ Card Black จอดยาวๆ ไปเลย 1 ปี!

Source: https://www.siamcenter.co.th/trendupdate/SIAM-VIZ-CARD/114

The 1 Exclusive สำรองที่จอดรถพร้อมทุกสาขา และจอดฟรี 4 ชั่วโมง

สำหรับลูกค้าระดับ Exclusive ของทาง Central สิ่งที่จะได้รับคือที่จอดรถสำรองพร้อมรับทุกสาขาในบริษัทที่ใกล้ทางเข้าห้างมากที่สุด บวกกับสามารถจอดได้ฟรี 4 ชั่วโมงโดยไม่มีเงื่อนไข ก็เรียกได้ว่าสะดวกสบายสมระดับ Exclusive ไม่น้อย

ส่วนที่น่าสนใจที่สุดคือไม่จำเป็นต้องโชว์บัตรเบ่งความเป็น Exclusive เพราะทาง The 1 เขาทำทุกอย่างให้อยู่ในแอปพร้อมก็แค่เปิดแอปโชว์ความเป็น The 1 Exclusive ก็พร้อมถอยเข้าซองจอดได้เลย เพราะบัตรเราอาจเผลอลืมทำหายให้คนในบ้านหยิบเอาไปใช้กับรถคันอื่นได้ แต่พอเป็นแอปแล้วไม่มีทางที่เราจะกล้าลืมมือถือออกจากบ้าน ทำให้การแสดงตัวว่าเป็นลูกค้า Exclusive เพื่อรับ Privilege กับทางห้าง Central นั้นเป็นเรื่องที่สะดวกสบายกว่าครับ

Source: https://www.the1.co.th/en/the1exclusive/services/view_detail/exclusive-parking

ถ้าให้สรุปเรื่อง Exclusive Parking ก็จะเห็นว่า ONE SIAM Infinite นั้นนำโด่งเรื่องระยะเวลาที่สามารถจอดฟรีได้นานถึง 1 ปีเต็ม เรียกว่าจอดแทนที่จอดรถบ้านตัวเองก็ยังได้ครับ ส่วนเรื่องความสะดวกสบายก็มีความแตกต่างกันสองที่ SCB M LUXE ก็จะมี Valet Parketing ให้สำหรับคนที่รีบไม่อยากวนจอดเองในวันรถเยอะ ส่วน The 1 Exclusive ก็สะดวกสบายในการแสดงสิทธิ์ความเป็นลูกค้าชั้นดีผ่านแอปที่ไม่ต้องพกบัตร เข้ากับยุค Digital Transformation จริงๆ

ที่จอดรถผ่านไปก็มาถึงเรื่องของความ Exclusive ภายในห้าง เราลองมาดูในเรื่องของ Exclusive Lounge กันบ้างว่าแต่ละบัตรเค้าดูแลลูกค้าระดับ Exclusive อย่างไร

Exclusive Lounge ใครๆ ก็มีแต่เหนือกว่าที่ใครพาผู้ติดตามเข้าได้ และใครมีสาขามากกว่า

เมื่อดูจากข้อมูลที่หาได้พบว่าเงื่อนไขของการใช้ Exclusive Lounge ของแต่ละบัตรมีความเหมือนกันในเงื่อนไข ซึ่งจะมีแค่ทาง SCB M LUXE กับ The 1 Exclusive ที่บอกว่าสามารถพาผู้ติดตามเข้าไปได้ 1 คน ซึ่งถ้าจะวัดกันที่ความต่างก็คงจะเป็น The 1 Exclusive ที่ได้เหนือกว่าในแง่ของจำนวนสาขาห้างสรรพสินค้า Central ที่มีเยอะกว่ามากครับ

ถัดจาก Exclusive Lounge เรามาต่อกันที่ Personal Assistant ซึ่งงานนี้บอกได้เลยว่าแต่ละห้างสรรพสินค้าก็มีรายละเอียดในความต่าง ของการดูแลลูกค้า Exclusive ให้สะดวกสบายถึงใจอย่างที่สุดครับ

Personal Assistant สำหรับลูกค้า Exclusive

The 1 Exclusive อยากได้อะไรในเครือ Central แค่บอกผ่านเบอร์พิเศษ

ความพิเศษต้องเริ่มจากเบอร์ติดต่อพิเศษ ซึ่งจะเป็นเบอร์ติดต่อเฉพาะสมาชิก The 1 Exclusive เท่านั้นที่สามารถต่อสายตรงหา Personal Assistant ได้ทันที ถ้าคุณอยากรู้ข้อมูลอะไร อยากจองสินค้าหายากชิ้นไหนที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าในเครือ Central หรือ Robinson รวมไปจนถึงจองโต๊ะร้านอาหารที่อยู่ในห้างทั้งสองเครือที่กล่าวมา

จะจองร้านทำผมหรือสปาก็ได้เหมือนกัน แถมยังช่วยโอนส่งสินค้าจากสาขาหนึ่งไปยังสาขาที่ลูกค้าสะดวกก็ทำได้ เรียกได้ว่าเป็นบริการ Personal Assistant ที่เรียบง่ายแต่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายเหลือเกิน

Source: https://www.the1.co.th/the1exclusive/services/view_detail/personal-assistant

SCB M LUXE กับ Personal Assistant ที่คอยเดินตามและไม่ต้องลำบากถือถุง

สำหรับลูกค้า SCB M LUXE จะได้ Personal Assistant แบบตัวเป็นๆ ที่จะคอยเดินตาม เพียงแค่ต้องไปติดต่อที่ห้อง Platinum M Club Lounge ก่อนครับ จากนั้นคุณก็จะมีคนมาคอยดำเนินความสะดวกสบายในการช้อปปิ้ง ไม่ว่าจะให้คำแนะนำในเรื่องของโปรโมชั่นต่างๆ ไปจนถึงหาของที่คุณอยากได้มาให้แค่เอ่ยปากขอ

และยังมีบริการเพิ่มความสะดวกให้คุณช้อปปิ้งโดยไม่ต้องถือถุงสินค้า หรือที่เรียกว่า Hand Free Shopping ที่จะให้คุณช้อปไปเรื่อยๆ แล้วจะเอาของทั้งหมดที่คุณเลือกไปรวมไว้ในจุดเดียวตอนจ่ายเงินครั้งสุดท้าย แต่บริการนี้จะไม่ได้ทั้งหมดทุกสาขา เพราะจะมีให้บริการแค่ที่ The Emporium, The Emquartire และ Paragon Department Store เท่านั้น

Source
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/cards/credit-cards/all-cards/scb-m-luxe/privilege-shopping-mall/hands-free-shopping.html
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/cards/credit-cards/all-cards/scb-m-luxe/privilege-shopping-mall/personal-assistant.html

ส่วนทาง SIAM ONE กับ VIZ Card Black ไม่พบข้อมูลดังกล่าวในตอนนี้ ดังนั้นผมจึงขอสรุปจากข้อมูลที่มีแค่ 2 บัตร คือ The 1 Exclusive กับ SCB M LUXE ว่าแต่ละรายก็มีวิธีการมอบ Personal Assistant ที่แตกต่างกันไปอย่างค่อนข้างชัด

นั่นก็คือทาง SCB M LUXE จะมีการให้บริการในส่วนนี้แบบจัดเต็มด้วยเอาพนักงานคนเป็นๆ คอยเดินตาม แต่ก็จะติดตรงข้อจำกัดที่ต้องเป็นในพื้นที่ของทางห้างเท่านั้น ไม่ครอบคลุมไปถึงร้านค้าหรือร้านอาหารภายในห้างที่ไม่ใช่ของทางห้างนั่นเอง

ส่วนทาง The 1 Exclusive แม้จะไม่ได้มีพนักงานคนเป็นๆ มาให้บริการ แต่ก็ใช้วิธีการที่เข้าถึงง่ายดายกว่านั่นก็คือผ่านทางโทรศัพท์ที่เป็นเบอร์แบบ Private สำหรับลูกค้า Exclusive เท่านั้น แล้วถ้าอยากได้อะไรก็แค่บอกไป หรืออยากให้จองร้านอะไรในห้างก็แค่สั่ง อารมณ์เหมือนโทรหาเลขาอัจฉริยะที่ไม่ต้องเห็นหน้าแต่ก็สามารถจัดการงานทุกอย่างได้ดั่งใจครับ

ตอนนี้เราดูกันไป 3 เรื่องของการดูแลลูกค้า Exclusive ของทั้ง 4 บัตร เริ่มจาก Exclusive Parketing, Exclusive Lounge แล้วก็ Exclusive Personal Assistant ตอนนี้ลองมาดูเรื่องของวิธีการจ่ายเงินในซูเปอร์มาร์เก็ตแบบ Exclusive ดูบ้างครับ

เพราะหนึ่งในการจับจ่ายใช้สอยที่เกิดขึ้นไม่น้อยแถมยังเกิดขึ้นเป็นประจำก็คือการซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่อย่างน้อยต้องมีเดือนละครั้ง หรือบางคนหรือบางครอบครัวอาจจะมาบ่อยกว่าสัปดาห์ละหนึ่งครั้งด้วยซ้ำครับ ดังนั้นการดูแลลูกค้า Exclusive ในพื้นที่ Supermarket จึงมีความสำคัญมากกว่าทุกวัน

ลองนึกถึงภาพเราไปซื้อของเข้าบ้านครั้งละหลายพันบางทีอาจทะลุถึงหลักหมื่น แต่ต้องมาต่อแถวในช่วงเวลาเย็นที่คิวแน่น หรือช่วงวันหยุดที่คิวเยอะ มันก็คงรู้สึกเบื่อไม่น้อยที่ต้องมารอคิวอะไรแบบนี้ แต่จากข้อมูลในตอนนี้ก็พบว่ามีแค่ที่เดียวที่มีบริการ Exclusive ใน Supermarket ครับ

The 1 Exclusive Checkout ช่องจ่ายเงินพิเศษในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อลูกค้ากลุ่มสำคัญ

จากข้อมูลที่พบในตอนนี้มีเพียงแค่ The 1 Exclusive เท่านั้นที่มีบริการนี้ ซึ่งจะเป็นช่องจ่ายเงินพิเศษที่มีสัญลักษณ์ Exclusive Checkout ที่จะอยู่ตาม Tops Market, Central Food Hall และ Supersports ซึ่งรวมแล้วมีจำนวนกว่า 15 สาขา ส่วนการใช้สิทธิ์ก็ง่ายไม่ต้องพกบัตรไปก็ได้ แค่เปิดแอป The 1 แล้วโชว์ความเป็น Exclusive ภายในแอปให้พนักงานเห็นเท่านั้นเอง

Source: https://www.the1.co.th/the1exclusive/services/view_detail/exclusive-checkout

ถัดจากการจ่ายเงินแบบ Exclusive Checkout แล้วก็มาดูกันต่อที่เรื่องของ Delivery บ้าง ก็ถ้าเราเป็นลูกค้าที่ช้อปหนักมากแล้วจะให้ถือของขึ้นรถแล้วยกเข้าบ้านด้วยตัวเองมันก็ดูจะกะไรอยู่ใช่มั้ยครับ

The 1 Exclusive Delivery เมื่อช้อป OfficeMate

ถ้าใครมีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าจาก OfficeMate ไม่ว่าจะผ่านหน้าร้านตรงหรือเบอร์โทรศัพท์ ก็สามารถขอรับบริการ Delivery ฟรีถึงบ้านหรือออฟฟิศสำนักงานได้ทันทีแค่โชว์เป็นความเป็น Exclusive ผ่านแอป The 1

Source: https://www.the1.co.th/the1exclusive/services/view_detail/free-delivery

SCB M LUXE Delivery เมื่อช้อปครบ 5,000 บาท

เพียงแค่มียอดซื้อสินค้าในห้างผ่านบัตรนี้ถึง 5,000 บาทเท่านั้นก็ไม่ต้องยกของขึ้นรถแล้วขนเข้าบ้านด้วยตัวเองให้ลำบากอีกต่อไป

Source: https://www.scb.co.th/th/personal-banking/cards/credit-cards/all-cards/scb-m-luxe/privilege-shopping-mall/delivery-service.html

เมื่อทำการสรุปเรื่อง Exclusive Delivery จะเห็นว่าทาง SCB M LUXE เหนือกว่า The 1 Exclusive ไปพอสมควร ในแง่ของการไม่จำกัดว่าต้องเป็นแค่ส่วนสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่ขอแค่ช้อปให้ถึง 5,000 บาทในวันและสาขานั้นก็พอ ส่วนทาง The 1 Exclusive ที่ส่งแค่ OfficeMate ก็มีข้อดีตรงไม่มีขั้นต่ำ เรียกได้ว่าอันนึงก็สะดวกตรงอยากส่งอะไรก็ได้ อีกอันนึงแม้จะสั่งได้แค่ไม่กี่อย่างแต่ก็จะซื้อแค่ไม่กี่บาทก็ Delivery ให้ครับ

พูดถึงสิทธิพิเศษในประเทศไปก็เยอะแล้ว ลองมาดูสิทธิพิเศษในด้านต่างประเทศกันบ้างครับ เพราะลูกค้ากลุ่ม Exclusive นี้เป็นกลุ่มที่เที่ยวต่างประเทศเป็นปกติ จากข้อมูลที่ผมเคยคุยกับเพื่อนๆ ในสายงานประกันภัยก็พบว่าคนไทยกลุ่มที่มีเงินจำนวนหนึ่งเวลามีวันหยุดต่อเนื่องช่วงสั้นๆ 3-4 วัน บางทีคนกลุ่มนี้ก็เลือกที่จะบินไปเที่ยวต่างประเทศในเอเซียใกล้ๆ แล้ว

ส่วนช่วงไหนที่เป็นวันหยุดยาวมากๆ แบบถึงหนึ่งสัปดาห์หรืออาจจะสามารถลาหยุดต่อเนื่องได้เกินกว่านั้น คนกลุ่มนี้ก็มีพฤติกรรมที่จะบินออกไปเที่ยวไกลถึงยุโรปขึ้นไปเป็นเรื่องปกติ

ดังนั้น Privilege แบบ Exclusive จึงเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่สำคัญในการจะจับกลุ่มนักช้อปสายเปย์หนัก ซึ่งจากข้อมูลที่มีในตอนนี้ก็พบว่ามี 2 รายที่ให้สิทธิพิเศษได้ถึงนอกประเทศไทยครับ

VIZ Card Black ไม่ใช่แค่ศูนย์การค้าในไทย แต่ยังใช้ได้ทั่วโลก

ใครที่ถือบัตร VIZ Card Black สามารถใช้ได้ตามสถานที่ช้อปปิ้งสำคัญทั่วโลกอย่าง Hong Kong Times Square, PARCO, Taipei 101, Lotte Department Store, TsUM Moscow และ Harrods ถือว่าเหมาะมากกับสายช้อปที่ชอบบินไปช้อปต่างที่ต่างๆ ทั่วโลกครับ

Source: https://www.siamcenter.co.th/trendupdate/SIAM-VIZ-CARD/114

The 1 Exclusive ไม่ใช่แค่ Rewards หรือ Discount แต่เป็น Luxury Service ในยุโรป

ด้วยความที่ Central มีพาร์ทเนอร์อยู่ตามที่ต่างๆ มากมาย ทำให้ผู้ที่เป็น The 1 Exclusive จะได้รับบริการพิเศษที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำของกลุ่มเซ็นทรัลในยุโรปครับ ทั้งห้างสรรพสินค้า KaDeWe, Rinascente และ ILLUM มีตั้งแต่การนำของที่ช้อปไปส่งถึงโรงแรมให้ฟรีในวันเดียวกัน หรือถ้าอยากจะได้ Personal Shopper Assistant ก็สามารถรีเควสขอล่วงหน้าได้ว่าอยากไปช้อปที่ไหน อยากได้คนมาช่วยแนะนำว่าควรซื้ออะไรดี ทั้งหมดนี้ไม่ต้องพกบัตรแต่แค่โชว์แอป The 1 ให้เห็นถึงความ Exclusive ก็พอครับ หรือสามารถรับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนได้โดยตรงจากร้าน ก็จะช่วยลดความยุ่งยากวุ่นวายและการเสียเวลาเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ไม่ Exclusive พอ

Source: https://www.the1.co.th/the1exclusive/services/view/luxury-services-in-europe

ถ้าให้สรุปในเรื่อง Privilege นอกประเทศไทยก็จะมีสองแง่มุม VIZ Card Black จะดีตรงที่มีความหลากหลายของสถานที่หรือประเทศที่ค่อยข้างกระจายออกไปตามประเทศต่างๆ มากกว่า The 1 Exclusive แต่ของ The 1 Exclusive ก็มีข้อดีตรงที่ได้รับ Luxury Experience จริงๆ ถ้าไปยุโรปและเลือกช้อปที่ห้างสรรพสินค้าในกลุ่มเซ็นทรัลครับ

นี่เป็นภาพรวมของการสรุป Privilege แบบ Exclusive ของ 4 บัตรดังอย่าง SCB M LUXE, ONE SIAM Infinite, VIZ Card Black และ The 1 Exclusive ซึ่งในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยเรื่องสิทธิพิเศษร้านอาหาร หรือการช้อปปิ้งขอไม่ลงรายละเอียดมาก ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนก็พยายามสรรหาดีลดีๆ ต่างๆ มาดึงดูดลูกค้าชั้นดีให้กลับมาใช้เงินกับตัวเองมากขึ้น

ข้อดีบางอย่างที่อาจไม่ได้หยิบมาเปรียบเทียบเช่น VIZ Card Black มีบริการปิดโรงหนังฉลองวันเกิดให้ และก็ยังมีบริการรถรับส่งในสนามบินที่ไม่เหมือนใคร ส่วน ONE SIAM Infinite ก็มีบริการแลกคะแนนสะสมเป็นไมล์ Royal Orchid Plus หรือรับโปรแกรมตรวจสุขภาพฟรี ไปจนถึงใช้บริการฟิตเนสดีๆ ได้ฟรีอีกด้วย และก็มีบริการรถรับส่งในสนามบินเหมือนกับ VIZ Card Black แต่ที่มี ONE SIAM Infinite มีเหมือนกับ SCB M LUXE ก็คือมีบริการ Lounge ที่สนามบินให้ใช้ และที่พิเศษของ SCB M LUXE คือรับเครดิตเงินคืน 3% ที่ปั๊มน้ำมันเชลล์ทั่วประเทศครับ

ส่วนทาง The 1 Exclusive ของ Central ก็จะมีกิจกรรมพิเศษที่จะเชิญลูกค้ากลุ่มนี้ก่อนลูกค้ากลุ่มอื่น บวกกับในแอปจะมี Deal แบบ Exclusive ทำนองเอา 1 แต้มแลก 1 บาท หรือ 1 แต้มแลกส่วนลด 1% ได้เลย(ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของดีลว่าให้ลดได้กี่ %) ซึ่งดีลที่นำมาเสนอก็ไม่ได้จับทั้งหมดมัดรวมมากองให้ แต่ใช้ AI เลือกมาให้แบบ Personalization จากการเก็บ Data ของลูกค้ามาต่อยอดเพื่อจะได้ให้ดีลเฉพาะแบบรู้ใจที่ต่างกันไปไม่เหมือนกัน

และก็มาสู่ช่วงสุดท้ายของบทความวิเคราะห์ 4 Loyalty Program ของธุรกิจ Retail ห้างสรรพสินค้าดังในบ้านเราก็คือ บัตรแต่ละใบมีเกณฑ์การเข้าร่วมอย่างไร ซึ่งในจุดนี้สำคัญมากเพราะว่าถ้ามีสิทธิพิเศษที่ดีมาก แต่ก็ยากที่จะเข้าถึงได้เหลือเกิน ก็ทำให้สิทธิพิเศษที่มีอาจไม่ได้มีค่าสำหรับคนที่จ่ายได้เสมอไป ลองมาดูกันดีกว่าครับว่าการจะเป็นซูเปอร์ลูกค้าของแต่ละห้างต้องใช้จ่ายเป็นเงินเท่าไหร่ หรือมีเงื่อนไขอย่างไรบ้างครับ

VIZ Card – Black Invitation Only ใช้จ่าย 1,000,000 ขึ้นไปภายใน 1 ปี

เงื่อนไขการจะได้ถือบัตร VIZ Card Black คือต้องถือบัตร VIZ Card Titanium มาก่อน และต้องมีการใช้จ่ายภายในศูนย์การค้า 3 แห่งนี้ (Siam Discovery, Siam Center และ Siam Paragon) 1,000,000 บาทขึ้นไปภายใน 1 ปี หรือช้อปวันเดียวให้เกิน 20,000 บาท ก็จะได้รับอัพเกรดเป็น VIZ Card Black ครับ

ONE SIAM Infinite – Invitation Only ค่าธรรมเนียม 30,000 บาท ถ้าใช้เกินล้านเวฟได้

เงื่อนไขการจะได้บัตรใบนี้มาไม่มีบอก แต่ถ้าเป็นบัตรอีกใบที่อาจไม่ Exclusive เท่าอย่าง ONE SIAM Signature ต้องมีรายได้ต่อเดือน 70,000 บาทขึ้นไป หรือต้องมีเงินออมตั้งแต่ 1,500,000 บาทขึ้นไป แต่ก็นั่นแหละครับการจะได้เป็น ONE SIAM Infinite ทางผมเองก็หาข้อมูลตรงส่วนนี้ไม่เจอ รู้แต่ว่ามีค่าธรรมเนียมการถือปีละ 30,000 บาท! แต่ Wave ได้ถ้าใช้จ่ายเกิน 1,000,000 บาท/ปี 

SCB M LUXE – รายได้ขั้นต่ำต้อง 300,000

รายได้ของผู้ถือสมกับคำว่า LUXE จริงๆ ครับ เพราะต้องมีรายได้ขั้นต่ำที่ 300,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป บอกตรงๆ เป็นเงื่อนไขที่คัดกรองคนถือได้ดีมากๆ แต่ก็อาจจะมากเกินไปในบางที ส่วนค่าธรรมเนียมการถือกลับต่ำมากปีละแค่ 4,000 บาท สามารถเวฟได้ถ้ามียอดการใช้จ่ายเกิน 400,000 บาทในปีนั้นครับ

The 1 Exclusive – แค่ช้อป 250,000 ต่อปีก็ Exclusive แล้ว

จากที่ดูมาทั้งหมด The 1 Exclusive น่าจะเป็นอะไรที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ไม่ต้องมีเงินเดือนใดๆ ไม่ต้องมีรายได้ เพียงแค่ใช้จ่ายภายในกลุ่ม Central ที่มีร้านค้ามากมายที่รับบัตร The 1 ตั้งแต่ห้างเซ็นทรัลไปจนร้านอาหารในเครือมากมาย หรือ Tops ที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ นอกเซ็นทรัล ไปจนถึงร้านสะดวกซื้ออย่าง Family Mart จนทำให้รู้สึกว่าการจะใช้จ่ายให้ถึง 250,000 ในหนึ่งปีไม่ใช่เรื่องยากและไกลเกินเอื้อมแต่อย่างไรสำหรับคนที่พอมีฐานะดีหน่อย

และนี่ก็คือการวิเคราะห์ Loyalty Program ของแบรนด์ไทยและ Retail ห้างสรรพสินค้าดังที่แข่งขันกันดึงลูกค้ากลุ่มคนมีกำลังซื้อขั้นสุดให้ได้มากที่สุดนั่นเอง ในวันที่ลูกค้าหายากแล้ว แต่การจะเข้าถึงลูกค้ากลุ่ม Exclusive นั้นยากกว่า ใครที่กำลังศึกษาว่าจะทำ Privilege Program สำหรับลูกค้ากลุ่ม Luxury หรือ Exclusive อย่างไร หวังว่าบทความนี้ที่ผมทำการ Research ไว้จะช่วยคุณได้ไม่มากก็น้อยครับ

สำหรับนักการตลาดหรือเจ้าของธุรกิจที่สนใจอยากได้บริการวิเคราะห์ Market & Target แบบนี้สามารถติดต่อผมตรงได้ที่ [email protected] ครับ

อ่านบทความเรื่อง Loyalty Program ในการตลาดวันละตอนต่อ > https://www.everydaymarketing.co/?s=loyalty

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน