Food Delivery Data Insight จาก Hungry Hub ช่วงโควิด

Food Delivery Data Insight จาก Hungry Hub ช่วงโควิด

ช่วง COVID19 ที่ผ่าน เราจะเห็นผู้ให้บริการส่งอาหาร Delivery หลายๆ เจ้าโตขึ้นไปพร้อมๆ กับการแจ้งเก็บค่า GP ที่เพิ่มขึ้นจนเป็นประเด็นดราม่าไปในหลายๆ Social แต่วันนี้การตลาดวันละตอนได้มีโอกาสคุยกับ Hungry Hub บริการจองร้านอาหารชั้นนำในประเทศไทยจนพบ Food Delivery Data Insight น่าสนใจว่า ลูกค้าที่ใช้ Hungry Hub ส่วนใหญ่เนี่ยกลับเป็นกลุ่มที่ไม่ Sensitive กับราคา หรือพูดอีกแง่ก็คือเงินไม่ใช่ปัญหาของลูกค้าบนแพลตฟอร์มนี้เลยค่ะ

Hungry Hub คืออะไร?

ที่ผ่านมาเราได้เห็นบริการจองร้านอาหารต่างๆ มากมาย ที่ให้ลูกค้าจองร้านเข้ามาก่อนรับประทานเพื่อรับดีลพิเศษต่างๆ ซึ่ง Hungry Hub เองก็เช่นกัน ที่เป็นเหมือนผู้ให้บริการจองร้านอาหารชั้นนำในราคาเน็ต คุมงบได้ กับร้านอาหารกว่า 250 ร้านทั่วกรุงเทพ เชียงใหม่ และ ภูเก็ตค่ะ ซึ่งหลังจากที่มี COVID19 เข้ามา ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัวหันมาทำ Delivery เพิ่มขึ้นด้วยค่ะ

จากชุดกราฟเราจะเห็นได้เลยว่า แบรนด์โดนผลกระทบจังๆ ในช่วงประมาณวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นไป และเริ่ม Drop ลงอีกในช่วงวันที่ 1 มีนาคม หลังจากที่กระแส Work From Home เริ่มเข้ามาแรงขึ้น และหลายๆ บริษัทก็เริ่มพูดถึง Policy นี้

แต่ถ้าเรามาดูในช่วงของวันที่กราฟตกลงมาถึงจุดต่ำสุดนั่นก็คือ ช่วงวันที่ 22-25 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงหลังรัฐประกาศแคมเปญ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ พร้อมประกาศปิดห้างและพื้นที่ในกทม. ด้วยค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากเรามองดีๆ จะเห็นว่าแบรนด์ปรับตัวเร็วมากในการทำ Delivery Service เพิ่มขึ้นมา เพื่อ Support การอยู่บ้านของลูกค้า ทำให้ลูกค้ากลับมาเพิ่มขึ้น และช่วงวันที่ 17 หลังรัฐเปิดห้างในวันแรก หลังจากนั้นลูกค้าก็เรียกได้ว่าค่อยๆ ดีขึ้นมาตามลำดับเลยค่ะ เรียกได้ว่าเกือบจะเทียบเท่าช่วงก่อนโควิดเลยเสียด้วยซ้ำเนาะ

ซึ่งถ้าดูจากกราฟจะเห็นได้ว่า ลูกค้าที่เข้ามานั้น มาจาก Delivery 75% และลูกค้าที่กลับไปทานที่ร้านแล้ว 25% ในช่วงวันที่ 1-10 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งต้องบอกว่ามียอด Revenue เพิ่มขึ้นกว่าก่อนโควิดวันที่ 1-10 มกราคมถึง 220% ก็คงจะอารมณ์แบบว่า คนอั้นอยากออกจากบ้านมานาน พอคลาย Lockdown สถานการณ์เริ่มดีขึ้นก็ออกข้างนอกเลยทันที คนอยากได้ Experience ที่ร้านมากกว่าที่บ้านนั่นเองค่ะ

Food Delivery – Data Insight 

Data Insight ช่วงเวลา

จากช่วงบนที่เราเห็นว่า ทางแบรนด์ออกมาปล่อย Delivery Service ในช่วงปลายเดือนมีนาคม-วันนี้ ก็ราวๆ 6 สัปดาห์แล้วค่ะ (25 March – 6 May 2020) ซึ่งหลังจากแบรนด์เปิดตัวบริการส่งถึงบ้าน เราก็จะเห็นได้ว่า Orders เริ่มเข้ามาจริงๆ ในช่วงกลาง Week ที่ 2 เป็นต้นไป และเริ่มดีขึ้นในช่วงวีคที่ 3 / 4 และ 5 ค่ะ และพอเข้าเดือนพฤษภาคมหรือวีคที่ 6 ออร์เดอร์ก็เริ่มเพิ่มขึ้นอีก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วในช่วงเดือนพ.ค. เนี่ย มีหลายๆ บริษัทเริ่มให้พนักงานกลับไปทำงานตามปกติแล้วค่ะ

ช่วงเวลาที่คนสั่งอาหารบนแพลตฟอร์มส่วนมากอยู่ที่ช่วงเที่ยง แต่คนจะเริ่มมองหาว่าจะทานอะไรจริงๆ ตั้งแต่ 11:00 AM เหมือนกลัวคนเยอะ แล้วก็ค่อยผ่อนลงเรื่อยๆ จนพอจะถึงมื้อถัดไป หรือมื้อเย็น คนก็กลับมาใช้แอปเพื่อสั่งอาหารกันใหม่ โดยการใช้งานจะเริ่มตั้งแต่ 4 โมงเย็นเป็นต้นไป และพีคสุดๆ ในช่วง 6 โมงเย็นค่ะ โดยออร์เดอร์ก็ Drop ลงเช้ากว่าปกติ เนื่องจากเคอร์ฟิวแน่นอนอยู่แล้ว ส่วน Day of Week ที่คนสั่งอาหารบ่อยที่สุดก็คือ ช่วง Weekend หรือศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ค่ะ

Data Insight ระยะทาง Delivery

แบรนด์เผย Data พฤติกรรมการสั่งอาหารของลูกค้าพบว่า เฉลี่ยระยะทางส่วนมากใน 6 อาทิตย์ที่ผ่านมา อยู่ที่ 12.4 km โดยระยะทางไกลที่สุดที่พนักงานของ Hungry Hub เคยส่งนั้นอยู่ที่ 58.7 km เรียกได้ว่าจะข้ามจังหวัดเลยทีเดียว แต่ลูกค้าที่สั่งในระยะทาง Max หรือมากกว่า 40 km นั้นมีเพียง 0.2%เท่านั้นค่ะ ส่วนระยะทางใกล้ที่ต่ำกว่า 3 km นั่นมีลูกค้าที่ใช้บริการเพียง 8% ค่ะ 

จะเห็นได้เลยว่า ลูกค้าของแบรนด์นี้ค่อนข้างมี Personality ที่แตกต่างจากแอป Food Delivery อื่นๆ ในท้องตลาดค่ะ เพราะลูกค้าของเค้าค่อนข้างเน้นระยะทางไกลมากกว่าร้านแบบ ‘Near me’ หรือ Local ใกล้บ้าน ทำให้เราได้เห็น Positioning ที่ค่อนข้างชัดเจนของแบรนด์เลยก็ว่าได้ ว่าใครคือลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายของเค้า

จุดนี้เนี่ยแหละค่ะ เป็น Insight ธุรกิจของ Hungry Hub อย่างนึงที่น่าสนใจทีเดียว เพราะเค้าใช้ร้านอาหารเป็นตัวตั้งต้นมากกว่าลูกค้าหรือ End Users โดยร้านที่เป็น Partner ของเค้าล้วนแต่จะเป็นร้านอาหารระดับกลาง-สูง จึงทำให้กลุ่มเป้าหมายของแอปเองก็ชัดเจนตามร้านอาหารคู่ค้าไปด้วยนั่นเองค่ะ สิ่งนึงที่แบรนด์ยึดถือเลยก็คือ การดูแลรักษาร้านอาหาร Partner ให้ดีที่สุด เพื่อสุดท้ายแล้ว End Users เองก็จะเข้ามาตามรายชื่อร้านเหล่านี้ตามลำดับค่ะ

Data Insight พฤติกรรมการสั่งอาหาร

อย่างที่บอกไปว่า ลูกค้าของแบรนด์นี้นั้นแตกต่างจากแบรนด์ Delivery อื่นๆ ตาม Positioning ของร้านอาหาร Partners ข้างใน ทำให้ยอดเฉลี่ย Basket Size ต่อลูกค้า 1 ท่านอยู่สูงถึง 1,050 บาท ไม่ใช่ราคาแบบร้านก๋วยเตี๋ยวข้างซอย หรืออาหารตามสั่งที่ตลาดข้างๆ ทั่วไป

นอกเหนือจากนั้นจะเห็นได้ว่า ลูกค้าของเค้ามีการสั่งออร์เดอร์ล่วงหน้าไว้นานถึง 10 ชั่วโมงด้วยค่ะ แถมยังมีลูกค้าที่ใช้บริการของฮังกรี้ฮับซ้ำสูงสุดอยู่ที่ 14 orders ใน 6 อาทิตย์ด้วย ยังไม่พอ ถ้าได้ฟังยอดออร์เดอร์สูงสุด คุณต้องร้อง Wow เหมือนเราแน่นอน เพราะยอด Order สูงสุดอยู่ที่ 60,000 บาทเลยทีเดียว หืม.. ไม่แน่ใจว่าสั่ง Chef Table หรือแบบ Party From Home หรือเปล่านะคะ แต่เรียกได้เลยว่า เงินไม่ใช่ปัญหากับคนกลุ่มนี้จริงๆ ค่ะ

และทั้งหมดนี้ก็เป็น Data Insight จากบริการ Food Delivery ของฮังกรี้ฮับที่ปรับตัวแบรนด์ เข้ารับกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที แถมมีการ Retain ลูกค้าได้แบบต่อเนื่องด้วย Positioning ชัดเจน ไม่ต้องแย่ง Pool เดียวกันกับ Players เจ้าอื่นๆ ซึ่งหลังจากที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้วในเดือนพฤษภาคม จะเห็นว่ายังมีลูกค้าติดใจ New Normal จากแบรนด์ สั่งอาหารร้านดังมาทานที่บ้านเหมือน Quarantine Life อยู่เลย หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยนักการตลาดในเพจของเรา นำไปต่อยอด ได้ไอเดียใหม่ๆ เพิ่มขึ้นนะคะ ถ้าใครมีความคิดอะไรดีๆ ลองมาแชร์กันเพิ่มได้ค่ะ

Plearn Wisetwongchai

Marketing Strategic Planner ในเครือการตลาดวันละตอน | A Creator สาวพลัสไซส์ @Fabfatkid | A Travel Lover ที่หมดเงินเกือบ 80% ไปกับการเดินทางแบบแมสๆ | An Instagrammer @theplearn ที่ชอบเล่น Story เป็นชีวิตจิตใจ | สุดท้ายคือ Data Researcher ทั้ง Social และ Search Data etc. ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่