Smart Contract เทคโนโลยีคนกลางที่ไร้ตัวตน

Smart Contract เทคโนโลยีคนกลางที่ไร้ตัวตน

ยังจำเรื่อง Blockchain ที่ผมเคยพูดถึงเมื่อปีก่อนได้มั้ยครับ ว่าจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราในอนาคตอันใกล้ เหมือนกับอินเทอร์เน็ตเมื่อ 20 ปีก่อน ที่เราเคยคิดว่าอินเทอร์เน็ตก็เป็นแค่กิจกรรมของคนเนิร์ดๆ พวกติดหน้าจอไม่ยอมออกจากบ้านไปไหน แต่มาวันนี้เราส่วนใหญ่ขาดอินเทอร์เน็ตแล้วเหมือนจะขาดใจยังไงไม่รู้ แน่นอนผมคนนึงแหละครับ เพราะผมไม่สามารถสแกน QR Code เพื่อจ่ายค่าโน่นนี่นั่นได้เลยถ้าไม่มีเน็ต

ถ้าคุณลืมแล้วว่า Blockchain คืออะไรไม่เป็นไร ผมเกริ่นเตือนความจำให้นิด มันคือเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ หรือเป็นระบบที่ไม่มีศูนย์รวมตรงกลางผิดกับอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ แบบนี้ครับ สมมติว่าคุณมีเงินฝากอยู่ที่ธนาคาร A แล้ววันหนึ่งเซิร์ฟเวอร์ของธนาคาร A โดนแฮ็ก หรือถูกพนักงานข้างในแอบแก้ข้อมูล คุณจะไม่มีทางได้เงินคืนง่ายๆ เลย เพราะข้อมูลทั้งหมดของคุณถูกเก็บไว้ที่เดียว แต่ถ้าเป็นเทคโนโลยี Blockchain ข้อมูลเงินฝากของคุณจะถูกกระจายไว้ที่เซิร์ฟเวอร์มากมาย ถ้าจะมีใครแอบเข้ามาแฮ็กเพื่อขโมยเงินคุณ เขาจะต้องแฮ็กทุกเซิร์ฟเวอร์พร้อมกัน เพราะเขาแฮ็กได้หนึ่งเซิร์ฟเวอร์ แต่เมื่อระบบ Blockchain ตรวจเช็กข้อมูลของทุกเซิร์ฟเวอร์แล้วมีเซิร์ฟเวอร์หนึ่งที่ถูกแฮ็กไม่ตรงกัน เซิร์ฟเวอร์นั้นจะถูกตัดทิ้งออกจากระบบ และเงินของคุณก็จะยังปลอดภัยดีเหมือนเดิม

แต่เทคโนโลยีนี้มีข้อยกเว้นเดียวที่สามารถเป็นไปได้ยากมาก นั่นคือคนแฮ็กต้องแฮ็กทุกเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดในระบบให้มากกว่า 50% ให้ได้ภายในเวลาที่จำกัดแค่ 10 นาที การแฮ็กเซิร์ฟเวอร์เดียวว่ายากแล้ว แต่การจะแฮ็กร้อยพันเซิร์ฟเวอร์พร้อมกันนั้นยากยิ่งกว่า เท่ากับว่าการจะแฮ็ก Blockchain นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ยิ่งกว่าเป็นไปไม่ได้อีกครับ

แล้ว Smart Contract เกี่ยวกับ Blockchain อย่างไร

เกี่ยวตรงที่ Smart Contract เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่อยู่บน Blockchain มันคือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางอัจฉริยะ โปร่งใส ชัดเจน และต้นทุนต่ำเอาสุดๆ ข้อดีก็คือหลายๆ อย่างในชีวิตเราจะง่ายขึ้นด้วย Smart Contract แต่หลายๆ อาชีพที่เป็นตัวกลางจะถูกแทนที่ด้วย Smart Contract เช่นกัน ผมขอยกตัวอย่างเรื่องการโอนที่ดินแล้วกัน

เมื่อไม่นานมานี้ผมไปโอนรับที่ดินที่ต่างจังหวัดจากน้องชายมา ผมเพิ่งพบว่าการจะโอนที่ดินให้กันนั้นไม่ง่าย แถมต้องใช้เวลาไม่น้อย และผมก็สังเกตพบว่าสิ่งที่นานก็คือการที่เจ้าพนักงานต้องไปค้นหาโฉนดที่ดินที่ถูกเก็บไว้ที่ห้องนิรภัยส่วนกลาง และการที่หัวหน้าของที่นั่นต้องเป็นคนเซ็นอนุมัติให้การโอนที่ดินนั้นถูกต้องลุล่วง ส่วนขั้นตอนที่เหลือหรอครับ แป๊บๆ แค่บอกว่าใครจะโอนให้ใคร โอนให้เพราะอะไร พอดีเป็นพี่น้องกันก็เลยโอนให้เปล่า ไม่ได้ซื้อขาย แล้วก็ไปจ่ายภาษี แล้วก็รับโฉนดของแต่ละฝ่ายมา เป็นอันจบพิธี

จากขั้นตอนการโอนที่ดินนี้ทำให้ผมรู้ว่า แท้จริงแล้วมีโฉนดอยู่ 3 ฉบับ คือส่วนของเจ้าของเดิม ส่วนของเจ้าของใหม่ และส่วนของที่ราชการเก็บไว้ ดังนั้นถ้าใครคนหนึ่งแก้ไขโฉนดเอง แต่กรมที่ดินไม่แก้ด้วย ก็เป็นอันโมฆะไป นี่คือระบบการใช้ตัวกลางแบบเดิมที่เก็บไว้ที่ศูนย์กลาง อย่างเรื่องโฉนดตัวกลางที่ต้องเก็บไว้ที่กรมที่ดิน ทีนี้ลองคิดดูซิครับว่าถ้าวันนึงเอกสารที่ศูนย์กลางเกิดถูกแก้ไข หรือบังเอิญเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นมา นั่นคงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องสืบหาว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินแต่ละผืนกันบ้างนะครับ

จากเรื่องนี้ทำให้ผมพบว่า Smart Contract จาก Blockchain จะทำให้เรื่องการโอนที่ดินง่ายจนไม่น่าเชื่อ เริ่มจากการร่างสัญญาหรือกำหนดเงื่อนไขบน Smart Contract ขึ้นมาระหว่างผมกับน้องชายว่า ถ้าผมโอนเงินให้น้องชาย ผมจะได้เป็นเจ้าของที่ดินผืนนั้นทันที นี่คือการร่างสัญญาแบบเดิม หรือการกำหนดเงื่อนไขด้วย Smart Contract ขึ้นมาระหว่างผมกับน้องชายบน Blockchain จากนั้นพอผมโอนเงินให้น้องชายตามที่กำหนดไว้ใน Smart Contract ปุ๊บ โฉนดหรือกรรมสิทธิ์บนที่ดินนั้นก็จะกลายเป็นของผมปั๊บ เรียกว่าเป็นการยื่นหมูยื่นแมวที่แท้จริง แบบที่ไม่มีใครโกงกันได้ เพราะอย่างที่บอกไปว่าการจะแก้ไขข้อมูลบน Blockchain นั้นเป็นไปแทบไม่ได้เลย

ลองคิดดูว่าถ้า Smart Contract เข้ามาตรงจุดนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่ในกรมที่ดินคงสบายขึ้นเยอะ ไม่ต้องเดินไปค้นหาเอกสารโฉนดที่ดินมากมายเป็นหมื่นๆ แสนๆ ใบที่คลังตู้เก็บเอกสาร ไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นหัวหน้ามาอ่านความถูกต้องของสัญญาก่อนเซ็นอนุมัติ เพราะทุกอย่างถูกทำให้เป็นอัตโนมัติด้วย Smart Contract

ลองคิดดูไปถึงการซื้อขายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ตั๋วเครื่องบิน หรือแม้แต่ภาพเขียนงานศิลปะ ทุกอย่างก็สามารถทำให้เป็นอัตโนมัติได้ด้วย Smart Contract ครับ หรือแม้แต่จะเอามาประยุกต์กับการให้กู้เงินใช้หนี้ก็ได้นะครับ ก็คงไม่ต้องมีใครตามทวงหนี้ให้เหนื่อยใจ เพราะเงื่อนไขถูกกำหนดไว้แบบแก้ไขไม่ได้แล้ว

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ Blockchain เทคโนโลยีของอนาคตที่เริ่มเข้ามาในชีวิตเราเรื่อยๆ แล้ว แม้วันนี้จะยังไม่ได้ใช้ แต่ศึกษาไว้ก่อนได้เปรียบครับ

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่