เคสดีตลอดกาล Self-Exam Filter โดย J&J ตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง

เคสดีตลอดกาล Self-Exam Filter โดย J&J ตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง

แชร์เคสดีตลอดกาล ฟิลเตอร์ที่ช่วยแสดงขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้เบื้องต้นด้วยตัวเอง มีชื่อว่า Self-Exam Filter สร้างโดย Healthcare company ระดับโลกที่ใคร ๆ ก็รู้จักอย่าง Johnson & Johnson 

ขอท้าวความสักหน่อยค่ะ หลายคนอาจเพิ่งเคยรู้จัก Johnson & Johnson ช่วงที่เราเจอวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 แต่จริง ๆ แล้วเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกาที่มีผลิตภัณฑ์เพื่อ Consumer Health มากมายเช่น Johnson’s Baby, Tylenol, Listerine, Neutrogena และอื่น ๆ กระจายไปทั่วโลก และมีแคมเปญเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมาย

เคสนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่ความน่าสนใจที่ทุกแบรนด์สามารถนำไปลองปรับใช้ได้คือ J&J เลือกใช้ Social media data analysis และข้อมูลจากสถิติคนในประเทศเป็นองค์ประกอบหลักของแคมเปญนี้

จะเรียกว่าแคมเปญชั่วคราวคงไม่ถูกสักทีเดียวค่ะ เพราะ Self-Exam Filter นี้โดยรวมใช้งบประมาณไม่มาก และยังคงเปิดให้คนเข้ามาใช้ได้จนถึงปัจจุบัน แม้จะถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2020 มาดูกันนะคะว่ามีรายละเอียดอะไรน่าสนใจบ้าง

J&J ตั้งต้นเล็งปัญหาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในบราซิล

บริษัทได้อ้างอิงข้อมูลจาก Inca หรือสถาบันมะเร็งแห่งชาติของบราซิล มีรายงานเกี่ยวกับตัวเลขผู้ป่วย มะเร็งเต้านม ที่มีมากกว่า 60,000 รายในประเทศ ยิ่งในปี 2020 มีการระบาดโควิด-19ครั้งใหญ่ ทำให้การตรวจมะเร็งเต้านมล่าช้าลงค่ะ เพราะใคร ๆ ก็ต้องกักตัวและงดออกนอกเคหะสถาน

ทำให้ผู้หญิง 6 ใน 10 คนในบราซิลจำเป็นต้องยกเลิกการนัดหมายพบแพทย์ไปอย่างช่วยไม่ได้ค่ะ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอาจเพิ่มขึ้น 30% ภายใน 10 ปีข้างหน้า

เทียบกับในไทยบ้านเราเองก็ไม่น้อยนะคะ กรมการแพทย์คาดการว่าปี 2566 ที่กำลังจะถึง ไทยอาจพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมใหม่ราว 2.2 หมื่นคน อัตราการเสียชีวิตหลักพันคนต่อปีเลย 

กลับมาที่แคมเปญของ J&J เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถตรวจการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นด้วยตัวเอง ไม่ต้องมาพบแพทย์เท่านั้น ฝ่าย Consumer Health ของ Johnson & Johnson บราซิล เลยร่วมกับ Wunderman Thompson São Paulo เพื่อพัฒนา Filter บน Instagram ที่ออกแบบมาเพื่อสอนผู้หญิงถึงวิธีการตรวจหาสัญญาณของมะเร็งเต้านมค่ะ

ไอเดียการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงในแง่ Beauty & Healthcare มาจากไหน?

การดำเนินธุรกิจของ J&J ที่มี brand’s tagline: ‘Caring for the world, one person at a time’ ด้วยการสร้างบริการที่ต้องมีประโยชน์ และฟรี เพื่อให้ผู้หญิงสามารถตรวจสอบสุขภาพของตนเองได้อย่างง่ายดายค่ะ 

napoleoncat.com

J&J ใช้ข้อมูลวิเคราะห์การใช้โซเชียลมีเดีย โดยบริษัท NapoleonCat จนมาเจอเข็มทิศที่ดีอย่าง Instagram 

  • มีประชากรประเทศบราซิลใช้ Instagram ถึง 35.3%
  • ผู้ใช้แอป 59.1% เป็นเพศหญิง และอายุ 25-34 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ควรวินิจฉัยมะเร็งเต้านมระยะแรก 

อีกทั้งคนที่เล่น Instagram กำลังติดการอัป Story เลยเลือกใช้ Filter IG ที่ใช้ง่าย เล่นง่าย ไม่ต้องโหลดลงเครื่อง

วิธีการใช้งาน Self-Exam Filter เพื่อตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น

เหมือนกันการเล่น Filter IG อื่น ๆ ค่ะ ที่เราสามารถค้นหาฟิลเตอร์ที่ได้แอคเคาท์ Johnson & Johnson Brazil (@jnjbrasil) > ไปที่หมวดฟิลเตอร์ > กด Try it > เปิดกล้องโหมดเซลฟี่ขึ้นมา เลือกที่ฟิลเตอร์ จะมีหมายเลขขั้นตอนการตรวจ 1-27 ขั้นตอนด้วยกัน 

ระหว่างการตรวจวินิจฉัยด้วยตัวเองเบื้องต้นจะมีตัวช่วยบอกตำแหน่ง และวิธีอย่างละเอียดโชว์บนฟิลเตอร์ได้ ด้านความเป็นส่วนตัวไม่ต้องเป็นห่วงเลย เพราะฟิลเตอร์นี้เมื่อเปิดกล้องและถึงขั้นตอนที่ต้องถ่ายหน้าอกของเรา จะไม่สามารถแคปเจอร์ แชร์หรืออัปขึ้น Story จริง ๆ ได้นะคะ 

น้องจะบล็อกเอาไว้ แต่สามารถ ‘แชร์ฟิลเตอร์’ ไปให้เพื่อนลองตรวจได้ค่ะ ว่าง่าย ๆ คือการอาศัยช่องทาง และฟีเจอร์ฟรีของ Instagram เป็นตัวกลางที่สำคัญที่สุดนั่นเอง  

ผลลัพย์ Self-Exam Filter โดย J&J ตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง

ฟิลเตอร์มี user เข้าถึง 4.5 ล้านคน โดยภายในสัปดาห์แรกที่เปิดตัวก็มีผู้หญิง 136,000 คนลองใช้ Self-Exam Filter นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญทองในหมวด Digital/Mobile & Social Media Craft ที่งาน 2022 Clio Awards อีกด้วยค่ะ 

เห็นแบบนี้แล้วก็รู้สึกว่าเป็นเคสที่ดีควรแชร์จริง ๆ นอกจากตรงกับจุดยืนของแบรนด์แล้วยังมีการใช้ข้อมูลส่วนต่าง ๆ มาวิเคราะห์ก่อนจะคลอดออกมาเป็นแคมเปญ หากประเทศไทยมีหน่วยงานหรือแบรนด์ใดสามารถหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาต่อยอดเพิ่มอย่างจริงจังคงดีไม่น้อยนะคะ อย่างที่นุ่นเล่าให้ฟังในไทยเองก็มีสถิติผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรค มะเร็งเต้านม ปีละหลักพันคนเลย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกด้วยค่ะ

หวังว่าทุกคนจะชอบเคสนี้ และได้ไอเดียบางอย่างกลับไปไม่มากก็น้อยนะคะ ยังไงนุ่นฝากติดตามช่องทางอื่น ๆ ของการตลาดวันละตอนที่ Twitter Instagram  YouTube และ Blockdit ด้วยน้าา ^^ แล้วพบกันในบทความหน้าค่ะ

Noon Inch

นุ่น Business Data Research Analyst Specialist | Martech 🙋🏻‍♀️💻ใช้ชีวิตอยู่กับ Social Listening Tools เกือบทุกวันมาร่วม 6 ปี 🙋🏻‍♀️📈ทำงานด้าน Social Data Research ให้กับหน่วยงานรัฐและแบรนด์เอกชน 6 ปี 🙋🏻‍♀️✈️ชอบทำงานและชอบใช้เงิน แล้วก็เป็น K-POP🇰🇷 & Salmon Lover 🍣

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่