Neuromarketing Strategy วางกลยุทธ์ให้เข้าถึงจิตใต้สำนึกของมนุษย์

Neuromarketing Strategy วางกลยุทธ์ให้เข้าถึงจิตใต้สำนึกของมนุษย์

มีใครจำบทความที่เบสเขียนไว้อย่าง Neuromarketing การตลาดประสาทวิทยา เข้าใจสมองมนุษย์ กันได้บ้างมั้ยครับ พอนานเข้าก็เริ่มมีเพื่อนเข้ามาถามครับว่าเราจะสามารถนำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้มาปรับใช้กับการทำกลยุทธ์การตาดได้ยังไงบ้าง วันนี้เบสเลยอยากกลับมาเล่าเกี่ยวกับ Neuromakreting Strategy มาแชร์ให้กับทุกคนได้อ่านกันครับ

ก่อนอื่นเบสขออนุญาตเท้าความย้อนกลับไปในบทความก่อนหน้านิดนึงครับว่า Neuromarketing หรือ การตลาดแบบประสาทวิทยา เป็นการนำความเข้าใจในเรื่องของสมองและระบบประสาทส่วนต่าง ๆ ในการรับรู้ของมนุษย์มาประสานรวมกันกับองค์ความรู้ทางการตลาดมาปรับใช้ในการเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด

โดยวิธีการจะเป็นการศึกษาหาข้อมูลจากการตอบสนองจากสมองของมนุษย์ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.Reptilian Brain : สมองส่วนแรกที่เกิดขึ้นในตัวมนุษย์ที่ทำงานในส่วนของจิตใต้สำนึกและสัญชาติญาณ

2.Limbic System : สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการจดจำ อารมณ์และความรู้สึก

3.Neo-cortex : สมองส่วนที่ใช้เรื่องของตรรกะและความเป็นเหตุเป็นผล

ซึ่งปกติเรามนุษย์เราจะใช้สมองส่วน Reptilian Brain เป็นหลักในการกระทำสิ่งต่างในกิจวัตรประจำวัน ตามความเคยชิน โดยมีสมองส่วนอื่น ๆ เป็นตัวเสริมเข้ามาตามวัวัฒนาการของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มากน้อยตามแต่ละคนไป อย่างการใช้ตรรกะและความเป็นเหตุเป็นผลเป็นต้นครับ

และสาเหตุที่ Reptilian Brain มักจะทำงานก่อนเป็นส่วนแรกเพราะสมองส่วนนี้ของเราเป็นส่วนที่ใช้พลังงานน้อยที่สุดครับเมื่อเทียบกับการใช้สมองส่วนอื่น ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของเราจะพยายามเลือกใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ใช้พลังงานน้อยเป็นหลักเพื่อรักษาพลังงานในร่างกายอยู่แล้ว

หากเรามองในมุมมองของการตลาดพร้อม Quote ที่ว่า ‘มนุษย์เราไม่ได้ซื้อสินค้าด้วยหลักการและเหตุผล แต่ซื้อด้วยอารมณ์และความรู้สึก’ ก็อาจจะไม่ได้เกินจริง

ซึ่งเราสามารถแปลอีกความหมายได้ว่า การปล่อยให้สินค้าของเราตกไปอยู่ในส่วนของ Neo-cortex ที่ลูกค้าของเราเริ่มคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากยิ่งขึ้น ก็อาจทำให้โอกาสในการขายสินค้าของเราลดน้อยลงตามไปด้วย

ดังนั้นโจทย์ที่น่าสนใจสำหรับนักการตลาด อาจเป็นเรื่องของการเข้าถึงและการรีบปิดการขายในช่วงเวลาที่มีโอกาสปิดการขายมากที่สุดให้ได้ ขณะที่ลูกค้ากำลังใช้สมองส่วน Reptilian Brain กับ Limbic System อย่างรวดเร็วที่สุด

จากองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ในเชิงทฤษฏีครับว่า หากเราสามารถทำการตลาดที่สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยากับสมองส่วนนี้ได้ ก็จะสามารถเพิ่มโอกาสให้แคมเปญการตลาดของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้มากเลยทีเดียวครับ ทั้งในแง่ของการเปิดใจของลูกค้าและการตัดสินใจซื้อ

เดี๋ยวเรามาดูกันครับว่ามีกลยุทธ์อะไรบ้างที่จะช่วยให้แคมเปญการตลาดของเราสามารถเข้าถึงจิตใต้สำนึกของลูกค้าได้บ้างครับ

Neuromarketing Strategy: Reach to Reptilian Brain

การที่เราจะเข้าไปสู่สมองของลูกค้าของเราได้นั้น ไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปในรูปแบบของการยัดเยียดความถี่ หรือ การคุกคามลูกค้าด้วยการโฆษณาของเราที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งก็ได้นะครับ

เราสามารถวางกลยุทธ์เหล่านี้ซ่อนเอาไว้เป็น Sub-Sequence ของกลยุทธ์หลักทั้งหมดไปแทนได้ เพียงแค่เราต้องรู้ว่าเราจะใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นเครื่องมือในการส่งข้อความที่แบรนด์ต้องการสื่อสารให้ผู้บริโภคได้จดจำและนึกถึงอย่างไร

และเบสกำลังจะเล่าให้ทุกคนได้อ่านต่อไปนี้ คือ 5 กลยุทธ์ที่จะเป็นสะพานที่ช่วยพาทุกคนเข้าไปสู่สมองส่วน Reptilian ของลูกค้าให้การทำการตลาดของทุกคนสามารถสร้างผลลัพธ์ได้ที่มากยิ่งขึ้นครับ

1.การพูดถึง Painpoint แทนคุณประโยชน์

ระหว่างมีคนมาบอกว่า ปัญหาที่เราเจออยู่จะหมดไป ถ้าเราทำสิ่งนี้ กับ มาบอกเราเฉย ๆ ว่า ถ้าทำสิ่งนี้ชีวิตเราจะดีแบบนี้ เราจะเลือกฟังและเปิดใจให้กับวิธีการพูดแบบไหนครับ ?

กลยุทธ์นี้ว่าด้วยเรื่องของ โดยปกติแล้วมนุษย์เราเกิดมาพร้อม Mindset ในเรื่องของการเอาตัวรอด หรือ Survival Mode ครับ

การที่สมองจะได้รับรู้ Fact หรือบางสิ่งบางอย่างเพื่อเอาตัวรอด สมองของมนุษย์จะเปิดรับมากกว่าการที่มีใครเดินมา บอกว่า เราต้องทำแบบนั้นถึงจะดี ทำแบบนี้ถึงจะดี สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นเรื่องที่สำคัญน้อยกว่าจะมีโอกาสที่สมองเปิดรับน้อยกว่ามาก

ซึ่งถ้าจะให้เปรียบ การเอาตัวรอด ก็เหมือน Painpoint ที่ลูกค้ามีในชีวิตประจำวันนั่นแหละครับ

ยกตัวอย่างกรณีของ Domino Pizza ที่จะเห็นว่าการสื่อสารของแบรนด์นี้ไม่ได้พยายามเจาะจงไปที่ Pizza ว่าอร่อยอย่างไร แต่แบรนด์ให้ความสำคัญในเรื่องของเวลา การส่ง และระยะทางในการส่งสินค้าแทน เพราะ Painpoint จริง ๆ ของลูกค้าที่กิน Pizza คือ พวกเขาอยากรู้ว่าสินค้าที่สั่งนั้นอยู่ที่ไหนแล้ว หรือ เมื่อไรเค้าถึงจะได้รับสินค้า มากกว่า

เพราะการรอคอยแบบไม่เห็นปลายทางมันเจ็บปวดน่าดูนะครับ …

*จริง ๆ แล้วโฆษณานี้ยังแอบใช้เทคนิคอื่น ๆ ที่เบสกำลังจะเล่าให้ทุกคนได้อ่านต่อจากนี้ด้วยนะครับ อ่านจบแล้วอยากชวนให้ทุกคนย้อนหลังกลับมาดูเพื่อให้เข้าใจได้เพิ่มมากขึ้นไปอีกครับ

2.การสื่อสารที่ให้นึกถึงตัวเอง

ส่วนนี้ยังพูดถึงเรื่อง Survival Mode ในสมองเราอยู่ครับ แต่จะเป็นมุมมองในเรื่องของการถูกทำให้รู้สึกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของเราที่ต้องรู้ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความคิดบางอย่างอยู่เสมอโดยมีตัว “เรา” เป็นศูนย์กลางครับ โดยในทางทฤษฏีอธิบายเอาไว้ว่า สมองของเราจะชอบการที่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปเพื่อเอาตัวรอดให้ได้

ดังนั้นโดยสัญชาติญาณแล้วสมองของเราจะพยายามเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวมันเองเสมอ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการรับมือกับสิ่งที่เจอตรงหน้าได้ เบสอยากให้ทุกคนลองนึกสถานการณ์ง่าย ๆ ที่เราอยากรู้ก่อนโดยอัตโนมัติดูครับ

เช่น เวลาพักเที่ยงที่เราไปกินข้าวที่ร้านอาหาร สิ่งแรกที่สมองของเราจะเริ่มทำงานและพยายามเก็บข้อมูลเลยคือ มีร้านไหนมีโต๊ะว่างบ้างมั้ย หรือ เวลาจะให้คำปรึกษาอะไรบางอย่าง เราก็จะต้องการรู้ข้อมูลทั้งหมดก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถึงจะให้คำปรึกษาได้ใช่มั้ยครับ

ซึ่งสถานการณ์เหล่านั้นก็ล้วนแล้วเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเราจะต้องรับมือทั้งหมดเลย ความนึกคิดแบบนั้นแหละครับ คือการทำงานของทฤษฏีนี้

Neuromarketing Strategy : Communicate to YOU or target mind
ภาพประกอบจาก Danielle Muntyan

ยกตัวอย่าง ภาพโฆษณาการรณรงค์เรื่องของการลดโรคร้อนด้านบน ที่สื่อสารเกี่ยวด้วยการข้อความเกี่ยวกับ การทำลายสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งผลต่อวิธีการใช้ชีวิตของหมีขาวกับสถานการณ์น้ำแข็งขั้วโลกละลาย

อย่างน้อยเมื่อเราอ่านแล้วเจอคำว่า You ในประโยคนี้ ก็จะกระตุ้นสมองของเราโดยธรรมชาติเลยครับว่า ตัวเราเองนั้นได้ทำอะไรแบบนั้นไปบ้าง เพียงเท่านี้ข้อมูลของเราก็สามารถเข้าไปสู่ผู้รับสารได้แล้วครับ

เบสคิดว่าส่วนนี้เราจะต้องวางกลยุทธ์การสื่อสารเป็นเชิง คำถามนำ ที่เป็นการนำเสนอวิธีการคิด หรือ ข้อมูลบางอย่าง ผ่านการเอากลุ่มเป้าหมายที่เราพยายามสื่อสารด้วยเป็นศูนย์กลาง โดยที่ข้อมูลเหล่านั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายของเราโดยตรงด้วย

ยิ่งถ้าเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่รู้มาก่อน สิ่งที่มักจะไม่ค่อยถามหรือตอกย้ำกับตัวเอง หรือยิ่งถ้าเป็นข้อมูลเชิงฉุกคิด เบสคิดว่าจะสามารถทำให้การสื่อสารของเรามีประสิทธิภาพและเข้าไปในสมองของลูกค้าได้ง่ายมากยิ่งขึ้นครับ

3.การทำให้เห็นเป็นรูปธรรม

เนื่องจาก Reptilian Brain เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัญชาติญาณและการใช้พลังงานให้น้อยที่สุด สมองส่วนนี้เลยจะมีความพยายามตีความหรือการทำความเข้าใจน้อยมาก ๆ ครับ มันมักจะไม่คอยสนใจอะไรการสื่อสารที่ยาว ๆ หรือต้องมานั่งแปลความหมายเพิ่มเติมต่อ

ซึ่งในทางทฤษฏีการสื่อสารที่มีอิทธิพลต่อ Reptilian มากที่สุด คือ Visual หรือก็คือการทำให้เห็นภาพนั่นเองครับ

โดยในฝั่งของ Text เราสามารถเลือกใช้คำที่กระชับ ตรงประเด็น หรือเราเลือกหยิบคำหรืออะไรก็ตามที่มีภาพจำ หรือ ความคุ้นเคยในบริบทของกลุ่มเป้าหมายมาใช้ก็จะทำให้ดึงดูดความสนใจกับสมองส่วนนี้ง่ายขึ้นมากเลยครับ

อย่างภาพโฆษณาด้านล่างเป็นของ Heiz ที่ใช้ในการโปรโมทสินค้าทุกคนลองดูไว ๆ แล้วตอบกันดูมั้ยครับ ว่าโฆษณานี้ต้องการสื่อสารกับเราว่ายังไง

Neuromarketing Strategy : Show Value Tangibility
ภาพประกอบจาก Portifolio Publicitario

โฆษณานี้ Heiz ใช้ในการโปรโมทสินค้า Heiz Hot Ketchup ที่มีรสเผ็ดร้อน เลยเอาเรื่องเวลาที่เราเผ็ดร้อนแล้วเราจะรู้ ๆ กันอยู่แล้วว่าเราจะต้องเหงื่อแตกพลักกันแน่นอนมาใช้ในภาพ ซึ่งการที่เราสื่อสารอย่างนี้จะเล่นกับ Reptilian ที่ทำให้รับรู้สิ่งที่เราสื่อสารได้ทันทีเลยครับ

มีใครตอบออกมาตรงกับที่เบสเขียนบ้างมั้ยครับ ถ้ามีใครที่ตอบถูก แปลว่า ทีมการตลาดทีมนี้ก็ประสบความสำเร็จแล้วครับ แต่ถ้าไม่ก็แสดงว่าบริบทที่ทีมเข้าใจอาจจะไม่ตรงกันกับเราก็ได้ครับ

4.การกระตุ้นให้เห็นการเปรียบเทียบ

ในทางทฤษฏีกล่าวไว้ว่า “การเปรียบเทียบ” เป็นสิ่งที่กระตุ้นการรับรู้ของสมองคนเราได้ง่ายมากที่สุด อีกทั้งยังช่วยทำให้คนเราตัดสินใจอะไรบางอย่างได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วยครับ

เหตุผลก็เพราะว่า การรับรู้ในรูปแบบนี้สมองจะใช้พลังงานน้อยมาก เพราะเป็นเพียงแค่การเปิดลิ้นชักอะไรบางอย่างขึ้นมาเท่านั้นเอง ไม่ต้องฉุกคิด หรือ ต้องหาเหตุผลใด ๆ เลยในขั้นต้นที่ได้รับสาร ยิ่งเราสามารถทำให้เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนมากเท่าไร ก็จะยิ่งสามารถเข้าถึงและสร้างภาพจำให้กับลูกค้าได้ดีขึ้นมากเท่านั้นครับ

ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์กับกลยุทธ์ในข้อ 1. และ 3. ได้นะครับ อย่างข้อ 1. จะเป็นการให้ลูกค้าเห็นผลลัพธ์ก่อนและหลังในการที่แบรนด์ของเราเข้ามาแก้ Painpoint ของลูกค้าให้ดีขึ้นได้อย่างไร

ยกตัวอย่างภาพโฆษณาด้านล่างของแบรนด์ Ulrta Vision ที่นำการเปรียบเทียบระหว่าง การมองที่ไม่มีคอนแทคเลนส์ กับการมองที่ใส่คอนแทคเลนส์ของแบรนด์ มีความคมชัดที่แตกต่างกันมากแค่ไหน

Neuromarketing Strategy : Show Contrast
ภาพประกอบจาก webneel

หรือในส่วนของ Pepsi ที่เปรียบให้เห็นระหว่างการเสียบหลอดเข้าไปแล้ว หลอดยอมเข้ากระป๋อง Pepsi แต่โดยดี กลับกันหลอดกลับไม่ยอมเข้าไปในกระป๋องของแบรนด์คู่แข่ง

Neuromarketing Strategy : Show Contrast 2
ภาพประกอบจาก  Ads of the World

เบสคิดว่าส่วนนี้เราควรที่จะดึงส่วนที่เป็นจุดแข็งที่แข็งแรงมาก ๆ ของแบรนด์เรามาเล่น และชูเป็นจุดเด่นของเราที่มีความจำเป็นจะต้องสื่อสารออกไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คู่แข่งจะมาแย่งเราไปได้ครับ การสื่อสารแบบนี้จะยิ่งเป็นภาพจำและจะยิ่งตอกย้ำให้ลูกค้าจดจำเราได้อย่างแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

ข้อควรระวังของการนำสิ่งนี้ไปประยุกต์ใช้คื อย่าให้การสื่อสารต้องมีการตีความที่มากเกินไป เพราะแต่ละคนมีเรื่องที่เข้าใจไม่เหมือนกัน หรือมองบางอย่างคนละมุมมองกัน พยายามหาตรงกลางที่เข้าใจง่ายเอาไว้จะดีที่สุดครับ ซึ่งส่วนนี้เราสามารถนำข้อ 3. มาผนวกกันเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ได้เลยครับ

5.Focus จุดเริ่มต้นและตอนจบของการสื่อสาร

กลยุทธ์ในข้อนี้จะเป็นการต่อยอดจากการนำกลยุทธ์อื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อให้การเข้าถึง Reptilian ของเราสร้างประสิทธิภาพให้กับการทำการตลาดของเราได้ดีที่สุด

กลยุทธ์นี้เราจะให้ความสำคัญที่สมองส่วน Limbic System ที่เป็นเรื่องทางอารมณ์เพิ่มเข้ามา เพื่อวัดผลการตื่นตัวของสมองของคนเราเวลาที่เห็นโฆษณาไม่ว่าจะเป็น Print ads หรือ Advertising Video และอื่น ๆ

ซึ่งโดยทฤษฏีแล้วจากการวิจัยเชิงประสาทวิทยา ‘สมองของคนเราจะตื่นตัวอย่างมากในช่วงเริ่มต้นและตอนจบของโฆษณา’ อย่างมีนัยยะสำคัญ

ลองเริ่มสังเกตจากตัวเราเองง่าย ๆ ก่อนก็ได้นะครับว่า เวลาที่เราจะติดซีรี่ส์สักเรื่องหนึ่ง ตอนแรกมักจะเป็นตอนที่กระตุ้นให้เราอยากดูต่อว่าเรื่องราวจะเกิดขึ้นในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งจะมากระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกอย่างที่จะรู้ว่า ตอนจบของเรื่องนี้มันจะเป็นแบบไหนกันแน่ และนำไปสู่ลูป อีกสักตอนนึงละกันตอนตี 2 …

ซึ่งเราสามารถเอาสิ่งนี้มาประยุกต์ใช้ในการทำการตลาดของเราได้นะครับ

นัยยะสำคัญที่ทฤษฏีนี้ใช้ในการพิสูจน์คือ มาตรวัดที่ชื่อว่า “Neuro Engagement” การตอบสนองของสมอง และ “Emotional valence” ระดับความสนใจและการตื่นตัวทางอารมณ์ ต่อสิ่งที่เรามองเห็นมาอธิบาย

ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้จะถูกประเมินออกมาเป็นค่า NES (Neuro Engagement Score)และ EVS (Emotianl valence score) ตามลำดับ จากอุปกรณ์สื่อกลางที่ใช้ในการติดตามการทำงานของสมอง หากมีค่า NES และ EVS มากก็จะหมายความว่าสมองมีการตื่นตัว หรือ การตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นสูง

เพื่อให้เข้าใจง่ายมากขึ้น เบสมีโฆษณาตัวหนึ่งมาให้ทุกคนดู โดยโฆษณานี้เป็นของแบรนด์รถยนต์อย่าง Volkswagen ที่ถูกฉายในงาน Super Bowl ปี 2011

โฆษณาชิ้นนี้ถูกนำมาวิจัยเพื่อหาค่า NES กับ EVS ตามภาพด้านล่างด้วยครับ

Neuromarketing Strategy : NES
ภาพประกอบจาก neurosciencemarketing.com

ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมา ให้ทุกคนสังเกตเส้นความถี่ด้านซ้ายล่างของรูปภาพ เริ่มต้นจากเส้นล่างที่เป็น Emotional valence เราจะเห็นว่าในช่วงต้นและท้ายของโฆษณาสมองของเรามีคลื่นความถี่ที่ตื่นตัวมากเป็นพิเศษ เมื่ออิงเส้นสีแดงเป็นค่ากลางในการตอบสนอง ทั้งนี้เลยส่งผลให้ฝั่ง NES ที่เป็นภาพรวมมีความถี่หรือการตื่นตัวที่สูงตามไปด้วย

คะแนนที่ออกมาโฆษณานี้อยู่ที่ 6.36 ซึ่งถือว่าเป็นการตอบสนองจากสมองที่สูงมากเมื่อเทียบกับโฆษณาอื่นที่ฉายในงาน Super Bowl ในปีนั้น

และต้นตอของความสำเร็จก็มาจากการที่ทีมการตลาดทีมนี้เลือกหยิบกลยุทธ์การให้ความสำคัญกับจุดเริ่มต้นและตอนจบ มาประยุกต์ใช้กับกลยุทธ์การเข้าถึง Reptilian อื่น ๆ เพื่อสร้างความน่าดึงดูดจากกลุ่มเป้าหมายผู้ชายในงาน Superbowl

อย่างช่วงต้นเรื่องที่คนจะให้ความสนใจเป็นพิเศษเพื่อตัดสินใจว่าจะเปิดรับข้อมูลที่พวกเขากำลังจะได้ดูนี้หรือไม่

ทีมการตลาดเลือกที่จะหยิบเพลง Theme และตัวละครชื่อดังอย่าง Darth Vader จากหนัง Star Wars ที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชายและใครหลายคนอยากลองเป็นดูสักครั้ง (เห็นได้จากการคอสเพลย์และคอนเทนต์ต่างประเทศมากมาย) มาใช้โดยการให้เด็กในหนังคอสเพลย์เป็นตัวละครนี้

ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความเป็นรูปธรรมอย่างมาก ที่กระตุ้นการตอบสนองสมองส่วน Reptilian ของกลุ่มเป้าหมายโดยไม่ให้พวกเขาต้องตีความเพิ่มเติมว่าสิ่งที่เรากำลังจะสื่อเกี่ยวกับอะไร เพราะโฆษณาจะต้องเล่นอะไรเกี่ยวกับตัวละครนี้อย่างแน่นอน

โดยตลอดทั้งเรื่องจะปล่อยให้เป็นเรื่องราวที่คนน่าจะอยากเห็นจากสิ่งที่ปูมาในช่วงต้น แล้วค่อยปิดจบหนังโฆษณาด้วยการทำให้เป็นจุด Climax ที่เป็นจุดที่ทุกคนอยากเห็นมากที่สุด ที่หนังสร้างความประทับที่สร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนที่ดูโฆษณาผ่านการทำให้เห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วน้องก็ใช้พลัง Force ได้สำเร็จ (แม้ว่าจะมาจากคุณพ่อที่กดรีโมทก็ตาม)

The Force เลยกลายเป็นโฆษณาที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำให้คนที่เห็นโฆษณาสนใจและจดจำสิ่งที่โฆษณากำลังสื่อสารได้อย่างดี

Neuromarketing Strategy : NES Ranking in Super Bowl 2011
ภาพประกอบจาก neurosciencemarketing.com

บทส่งท้าย

เป็นยังไงกันบ้างครับ ส่วนตัวเบสรู้สึกสนุกกับเรื่อง Neuromarketing มาก ๆ เลย แล้วก็คิดว่ามันสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลหรือ Sense ที่น่าสนใจในการคิดเชิง Strategic Thinking ได้อย่างมีนัยยะสำคัญเลยครับ

แม้ว่าอย่างไรก็ตามทฤษฏีและกลยุทธ์เหล่านี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงในแวดวงของนักวิชาการอยู่นะครับว่าจริงหรือไม่ ใช่หรือมั่ว

สิ่งที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่สุด ก็คือ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างมีความหลากหลายและความซับซ้อนกันหลาย Layer ที่แต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป การจะนำทฤษฏีที่มีข้อสรุปมาจากกลุ่มตัวอย่างเพียงจำนวนหนึ่งอาจไม่สามารถนำมาใช้ตัดสินในเชิงประจักษ์ได้ครับว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเชื่อถือได้ 100% ครับ

ซึ่งครึ่งนึงเบสก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับเรื่องนี้นะครับ สังเกตเห็นได้ง่าย ๆ เลยก็คือ แต่ละตลาด แต่ละประเภทธุรกิจต่างก็มีกลยุทธ์ทางการตลาดและการขายที่มองผิวเผินแล้วอาจจะดูเหมือนกันแต่แก่นข้างในแทบจะไม่เหมือนกันเลย

อย่าง B2B กับ B2C ก็จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน แม้กลุ่มเป้าหมายจะเป็นมนุษย์แต่ปัจจัยที่ใช้ในการดึงดูดและการตัดสินใจก็แตกต่างกันแล้ว อีกทั้งเบสมีโอกาสได้สังเกตและพูดคุยกับนักวางกลยุทธ์การตลาดหลายคน ทุกคนวางแผนในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ยังประสบผลสำเร็จทางการตลาดในแบรนด์ที่ตัวเองดูแลอยู่ดี

กลายเป็นว่านอกเหนือจากการที่เรามี Strategic Thinking แล้ว สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น คือ การที่เราต้องรู้จักร้อยเรียงความเป็นไปได้จาก ความเข้าใจในลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ความเข้าใจในสินค้าและตลาด กับ ความเข้าใจในการทำการตลาดเข้าด้วยกัน แล้วค่อยนำองค์ความรู้อื่น ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในวางกลยุทธ์เพื่อให้แคมเปญของเราประสบความสำเร็จอย่างที่เราตั้งใจ

การที่เรามีคลังข้อมูล หรือ องค์ความรู้ใด ๆ มาใช้ในการคิดเชิงกลยุทธ์ ก็ย่อมต้องดีกว่าอยู่แล้ว แต่นอกเหนือจากนั้นเราจะต้องลองลงมือทำ กับสร้างประสบการณ์เพิ่มเท่านั้นจะยิ่งเป็นสิ่งที่สอนให้เราเข้าใจและใช้ Strategic Thinking ได้อย่างชำนาญมากและเฉียบคมมากยิ่งขึ้น

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ เบสตั้งใจเขียนมันมาก ๆ เลย
ขอบคุณทุกคนที่อ่านจนจบ แล้วเจอกันบทความหน้านะครับ 🙂

Ref.

Watcharapon Kittipodpong

ลงมือเขียนเพื่อทบทวน และเข้าใจตัวเอง คนที่สนใจ Marketing คนหนึ่งที่อยากส่งต่อเหมือนที่ได้รับมา หวังว่าสิ่งที่เขียนจะมีประโยชน์กับคนอ่านทุกคนนะครับ :)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน