KFC กับแคมเปญ Pocket Franchise กับการทำ Social Commerce ที่ควรศึกษา

KFC กับแคมเปญ Pocket Franchise กับการทำ Social Commerce ที่ควรศึกษา

Social Commerce คือการใช้พลังชาวโซเชียลให้เกิดประโยชน์ ที่ถ้าในบ้านเราจะเห็นบ่อยๆก็คงหนีไม่พ้นอาหารเสริม หรือพวกผลิตภัณฑ์ความสวยความงามต่างๆใช่มั้ยครับ ที่แต่ละคนก็รับสินค้าไป แล้วก็เอาไปโปรโมตโพสขายในแบบของตัวเอง แต่กรณีศึกษาของ Social Commerce ที่ผมจะเล่าให้ฟังนี้ไม่ได้มาจากแบรนด์โนเนมใดๆ แต่มาจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง KFC Pocket Franchise ที่ใช้กลยุทธ์ชวนคนโซเชียลมาเปิดร้าน KFC โดยไม่ต้องเสียค่าแฟรนไชส์ซักบาท!

https://www.youtube.com/watch?v=r4iyJ6vv_Dw

เพราะปัญหาของ KFC ทุกวันนี้ไม่ใช่คู่แข่งที่เป็นแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดหรือธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่อย่าง McDonald’s หรือ Burger King แต่อย่างใด แต่กลับเป็นธุรกิจ Food Delivery ทั้งหลาย ที่ทำให้ผู้บริโภคในวันนี้มีตัวเลือกที่จะกินของอร่อยๆมากมายครับ

เพราะ Food Delivery ทำให้คนไม่ต้องติดกับแบรนด์อาหารยักษ์ใหญ่ที่มีบริการส่งอาหารถึงบ้านของตัวเองเท่านั้น แต่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงร้านอร่อยที่ไหนก็ได้ แค่จ่ายค่าส่งไหวก็พอ ดังนั้น Food Delivery ในวันนี้จึงเข้ามา Disrupt ธุรกิจอาหารเดิมๆที่เคยผูกขาดในหลายๆตลาดทั้งหมด ไม่ใช่แค่บรรดาฟาสต์ฟู้ดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงบรรดาอาหารกึ่งสำเร็จรูปอย่างมาม่า ไวไว ยำยำ ด้วยซ้ำครับ

KFC Pocket Franchise Social Commerce

เพราะแต่เดิมคนต้องกินอาหารเหล่านี้เพราะความ “จำเป็น” ถ้าไม่ดึกมากก็บ้านไกลจากแหล่งชุมชน ก็เลยต้องกินประทังชีวิตไประดับหนึ่ง ถัดมาในยุคนึงบรรดาร้านอาหารที่ใหญ่ๆหน่อยก็มีบริการส่งถึงบ้าน ที่เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งให้คนที่พร้อมจ่ายเลือกได้ ว่าอยากกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่บ้าน หรือจะจ่ายเพิ่มอีกนิดเพื่อกินของที่ดีขึ้นอีกหน่อย และในวันนี้ทั้งหมดก็เปลี่ยนไป จากการเติบโตของบรรดา Food Delivery ที่ทำให้ทุกร้านสามารถส่งถึงทุกบ้านได้ง่ายๆแค่พร้อมจ่ายค่าส่งเท่านั้นเองครับ

ดังนั้นเมื่อคู่แข่งของ KFC คือร้านอาหารเล็กๆธรรมดาแต่มีรสชาติแสนอร่อยนับหมื่นนับแสนร้าน แม้ว่า KFC ที่ประเทศจีนที่มีสาขามากถึง 5,800 สาขาก็ยากที่จะสู้กับคู่แข่งทั้งหลายเหล่านี้ได้ครับ

KFC และเอเจนซี่ที่ปรึกษา เลยช่วยกันคิดหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่หันมากิน KFC มากขึ้น จนเกิดเป็นแคมเปญการตลาดที่ชื่อว่า Pocket Franchise ที่ใช้กลยุทธ์ Social Commerce ที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นครับ

KFC Pocket Franchise Social Commerce
KFC Pocket Franchise Social Commerce

แคมเปญ Pocket Franchise นี้คือการชวนวัยรุ่นและทุกคนที่ชอบเล่นโซเชียลให้มาเปิดร้าน KFC ของตัวเองกัน โดยไม่ต้องเสียค่าแฟรนไชส์ซักบาท แถมที่สำคัญถ้ามีเพื่อนหรือคนมาซื้อผ่านร้านเราบนโซเชียล เรายังได้ส่วนแบ่งเป็นส่วนลด สะสมแต้มไว้แลกของต่างๆจาก KFC ได้อีกด้วยครับ

Pocket Franchise ให้คนจีนทุกคนที่ใช้ WeChat (แพลตฟอร์มโซเชียลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน มีคนใช้เดือนละกว่า 900ล้านคน) เข้ามาเปิดร้าน และตกแต่งร้าน KFC บน WeChat ของตัวเองได้ง่ายๆ แถมที่สำคัญยังสามารถเลือกได้อีกว่าจะขายเมนูอะไรของ KFC ในร้านของตัวเองบ้าง เช่น ถ้าผมเป็นคนชอบกินไก่ป๊อบแซ่บของ KFC มาก ผมก็จะเลือกขายแค่เมนูนี้ในร้านผม ในแบบของผมเองครับ

แคมเปญนี้ทำให้เจ้าของร้าน KFC บน WeChat ทุกคนอยากจะแชร์ร้านของตัวเองออกไปให้เพื่อนซื้อ หรือแม้แต่เวลาคุยกันในหมู่เพื่อนว่าวันนี้กินอะไรดี แต่ละคนก็จะรีบเอาร้าน KFC ออกมาแชร์เพื่อน ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่บอกกับเพื่อนแบบนัยๆว่า ถ้าไม่รู้จะกินอะไรก็เลือกกิน KFC จากร้านชั้นซิ ชั้นจะได้ส่วนแบ่งจากยอดขายด้วยไงเธอ

KFC Pocket Franchise Social Commerce

แคมเปญนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ที่ประเทศจีนมาก เพราะเชื่อมั้ยครับว่าจากวันแรกที่เปิดตัวแคมเปญนี้ออกไปมีไม่มีร้าน KFC บนโซเชียลเลยซักร้านเดียว แต่พอผ่านไป 4 เดือนเท่านั้นแหละ มีคนเปิดร้าน KFC ของตัวเองบน WeChat มากถึง 2,500,000 ร้าน แถมยังมีการจัดอันดับร้าน KFC บนโซเชียลที่ขายดีที่สุดให้เห็นกันชัดๆ ซึ่งร้านที่ขายดีที่สุดสามารถทำยอดขายให้ KFC ได้ถึง 1 ล้านดอลลาร์ภายใน 4 เดือนแรก หรือตีเป็นเงินไทยก็กว่า 30,000,000 บาททีเดียวครับ

แคมเปญนี้สามารถสร้างยอดขายใหม่ๆให้กับ KFC ได้มากถึง 6 ล้านเหรียญ หรือตีเป็นเงินไทยก็เกือบ 200,000,000 บาท แค่ภายใน 4 เดือนหลังจากเปิดตัวแคมเปญเท่านั้น

เป็นยังไงครับกับการเปลี่ยนพลังชาวโซเชียลให้กลายเป็นเจ้าของร้าน KFC จนสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ จนทำให้เกิดยอดขายตามมาได้ขนาดนี้ นี่เป็นหนึ่งในกลุยทธ์ด้าน Social Commerce ที่อยากให้ทุกธุรกิจต้องศึกษา ลองคิดดูว่าคุณจะใช้พลังชาวโซเชียลให้กลายเป็นยอดขายกลับมาได้อย่างไร

เพราะขนาด KFC แบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมายยังสามารถทำอะไรแบบนี้ได้ แบรนด์ที่เล็กกว่า KFC ที่มีข้อจำกัดน้อยกว่าก็ไม่มีเหตุผลที่จะทำไม่ได้ใช่มั้ยครับ

บางครั้งการคิดนอกกรอบทางธุรกิจไม่ใช่การทำอะไรใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีใครทำ แต่เอาในสิ่งที่คนอื่นทำกันจนเคยชินแต่กลับไม่มีใครเห็นความสำคัญ แล้วก่อให้เกิดผลที่ดีต่อธุรกิจและแบรนด์เหมือนที่ KFC ทำนี่แหละครับ

สุดท้ายแคมเปญนี้นอกจากจะประสบความสำเร็จในด้านการตลาดแล้ว ยังได้รางวัล Gold จากเวที Cannes Lion ของปี 2019 นี้ในสาขา Mobile มาครองด้วยครับ

อ่านกรณีศึกษาการตลาดที่ใช้ Social เพื่อเพิ่มยอดขายเพิ่มเติม https://www.everydaymarketing.co/category/media/social-media/

KFC Pocket Franchise Cannes Lion

Source : http://www.netimperative.com/2019/06/kfc-pocket-franchise-app-wins-two-gold-lions-in-mobile/

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน