Case Study Super App ต่อยอด ควบรวม เพื่อเติบโต

Case Study Super App ต่อยอด ควบรวม เพื่อเติบโต

ในบทแรกถึงการวิเคราะห์กลยุทธ์ Super App Strategy ว่าการจะเป็น Super App ได้ไม่ได้เริ่มจากการปักธงว่าฉันจะเป็น Super App แต่เดย์วัน แต่เริ่มจากการทำ App ที่มีอยู่ให้ดีและตอบ Insight & Demand ที่ซ่อนอยู่ในตลาด เหมือนที่ WeChat และ Alibaba เริ่มจากการมี User มากมายและก็พบ Insight & Opportunity ที่ซ่อนอยู่ข้างใน หรือไม่ก็แค่ไม่อยากจะเสียเค้กก้อนนั้นจาก User ที่ตัวเองมีอยู่ให้คนอื่นไปก็เลยเพิ่มฟีเจอร์ความสามารถเสริมเข้าไปจน Ecosystem แข็งแรงและก็กลายเป็น Super App ในที่สุด

ในบทความแรกเราได้ทำความรู้จัก Super App แรกๆ ของโลกที่เกิดขึ้นจากประเทศจีนแล้ว ในตอนนี้เราจะไปทำความรู้จัก Super App รายอื่นๆ นอกจีนตั้งแต่ประเทศโลกตะวันออกไปยันโลกตะวันตก เพื่อให้เราได้เข้าใจบริบทหรือ Context ของ Super App เพิ่มขึ้นว่าโลกเรานั้นมีอะไรบ้างที่ถูกนับว่าเป็น Super App

Photo: https://www.webintravel.com/south-east-asias-grab-secures-us200-million-from-us-booking-holdings/super-app/

Grab เองก็เป็นอีกหนึ่งแอปที่เริ่มต้นจากการเป็นแอปเรียกรถแท็กซี่ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงค์โปร แถมยังเป็นแอปเรียกรถแท็กซี่รวมไปถึงรถอื่นๆ ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค South East Asia แห่งนี้

ซึ่ง Grab เป็นแอปที่สามารถขับไล่ Uber บริษัท Startup ด้านการเรียกรถแท็กซี่จากฝั่งอเมริกาให้กลับบ้านไปได้ด้วยดีลที่ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ เรียกได้ว่าทำเอาคนในภูมิภาคนี้อึ้งไปมากมายเพราะไม่อยากจะเชื่อว่า Uber ยักษ์ใหญ่ในความคิดเราจะยอมถอนตัวออกไปจากตลาดได้

Grab มีการต่อยอด Ecosystem ภายในแอปด้วยการออก GrabPay เพื่อทำให้การใช้เงินไม่ว่าจะเรียกรถ สั่งอาหาร หรือฝากซื้อสินค้านั้นไม่ต้องปล่อยให้เงินทองภายนอกหลุดรอดไปไหน ด้วยการเข้าลงทุนในบริษัท OVO บริษัทที่เป็นแพลตฟอร์มด้านการเงินชื่อดังในประเทศอินโดนีเซียครับ

จากนั้น Grab เข้าไปร่วมลงทุนถือหุ้นในบริษัท Startup ที่เป็น FinTech ในอินโดนีเซียอีกแห่งที่ชื่อว่า Data เพื่อจะได้เอามาเสริมบริการด้านการเงินหรือ Payment ของตัวเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีกด้วย

ถ้าคุณสงสัยว่าบริษัท Startup อย่าง Grab เอาเงินมากมายจากไหนมาเที่ยวซื้อหรือลงทุนในบริษัทอื่นมากมาย นั่นก็เพราะ Grab เคยได้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์จาก Softbank และ Didi Chuxing (ที่เป็นแอปเรียกรถแท็กซี่ในจีนที่เอาชนะ Uber ในประเทศได้) ในการเปิดตัว GrabPay ซึ่งเป็นแบรนด์ลูกของ Grab ที่ทำหน้าที่เป็น Mobile Wallet App หรือแอปกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่เอาไว้จับจ่ายใช้สอยทั้งภายในแอปและภายนอกแอปได้แบบ Seamless โดยไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่นอีกต่อไป

แต่กลยุทธ์เบื้องหลังในการต่อยอดจาก GrabPay คือ ประชากรในภูมิภาค South East Asia นี้ยังเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารได้ต่ำมาก ส่งผลให้เกิดธุรกิจเงินกู้นอกระบบมากมาย (ถ้าบ้านเราก็สังเกตตามเสาไฟ) ซึ่งเมื่อ GrabPay เข้ามาก็สามารถรู้พฤติกรรมทางการเงินได้ว่าใครมีลักษณะนิสัยการใช้เงินแบบไหน ใช้เงินกับสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ หรือแม้แต่มีวินัยในการขยับทำมาหาเงินผ่านการขับ Grab หรือเปล่า

จาก Transaction data ที่ได้มาก็ทำให้ Grab ต่อยอดออกมาทำ Finance ตั้งแต่การปล่อยให้กู้ด้วยอัตราที่สูงกว่าธนาคารทั่วไปแต่ก็ไม่โหดเท่ากับเงินกู้นอกระบบ หรือมีเปิดให้ผ่อนสินค้าที่จะเป็นในชีวิตประจำวันกับ Grab ได้ ไม่ว่าจะทีวี เครื่องซักผ้า ตู้เย็น หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คาดว่าทาง Grab เองก็ได้น่าจะได้ Deal พิเศษมาอีกทีหนึ่ง เรียกได้ว่าได้ทั้งขึ้นทั้งล่องเลยทีเดียครับ

และนี่ก็เป็นข้อมูลบางส่วนของ Grab ในการต่อยอดธุรกิจจาก Data ไปสู่ New Business ใหม่ๆ

  • จับมือกับแพลตฟอร์ม TeleHealth ในจีนที่ชื่อว่า Ping An Good Doctor เพื่อให้ User สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ในราคาที่ดีกว่าไปหาหมอตัวเป็นๆ
  • GrabFresh เกิดขึ้นมาจากการจับมือกับ HappyFresh ในการเอาของใช้หรืออาหารสดในซูเปอร์มาร์เก็ตไปส่งลูกค้า
  • เงินกู้รายย่อย ด้วยการจับมือกับบริษัทด้านการเงินเดิม ไม่ว่าจะ Credit Saison ในญี่ปุ่น หรือ Chubb ในอเมริกา
  • ประกันภัยออนไลน์ แน่นอนว่าคนขับรถจำเป็นต้องมีประกันเพื่อความปลอดภัยของทั้งคนนั่งและคนขับ รวมไปถึงรถที่ใช้ขับเองด้วย Grab ก็เลยต่อยอดกับธุรกิจประกันภัยออนไลน์ต่างๆ ในแต่ละประเทศ เช่นที่จีนก็จับมือกับ Zhong An ที่ให้บริการประกันภัยออนไลน์แบบครบวงจร

และแน่นอนว่า Grab เองก็ไม่หยุดที่จะขยายธุรกิจของตัวเองออกไปแค่นี้ ทุกวันนี้พวกเขายังคงมองหา Partner ที่จะต่อยอดจาก User ที่มีมากมายว่าเราจะทำให้พวกเขาอยู่กับเรานานขึ้นได้อย่างไร ใช้เงินกับเรามากขึ้นได้อย่างไร เพราะส่วนแบ่ง % ตัวเลขอาจจะน้อยที่ได้ แต่เมื่อนำผลรวมทั้งหมดมารวมกันย่อมมากมายมหาศาลครับ

ยังไม่พูดถึงการที่ Grab น่าจะเปิด API ให้กับนักพัฒนาภายนอกได้เชื่อมต่อเข้ามายัง Platform ของ Grab ที่มีผู้ใช้มากมายมหาศาล เอาเป็นว่าเกมนี้ของ Grab ยังอีกยาวไกลมากกับเส้นทางการรักษาตำแหน่งของคำว่า Super App ให้ User ไม่หลุดออกไปแพลตฟอร์มอื่นที่กำลังจะพูดถึงในลำดับถัดไปครับ

LINE Super App No.1 ยอดนิยมในไทย

Home - LINE BK

ปฏิเสธไม่ได้ว่า LINE เป็นแอปแชทยอดนิยมในไทย จนวันนี้แม้แต่เวลาใครบอกว่าจะโทรหากันส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าโทรผ่าน LINE โดยอัตโนมัติไปแล้วครับ ซึ่งจำนวนผู้ใช้งาน LINE ในไทยเองก็ตัวเลขทะลุ 40 ล้านมาหลายปีแล้ว เอาง่ายๆ ว่าโทรศัพท์มือถือแทบทุกเครื่องวันนี้ต้องลงแอป LINE เป็นอันดับแรกเมื่อซื้อเครื่องใหม่ด้วยซ้ำ

ซึ่งจากจำนวน User ที่มีมากมายมหาศาลในประเทศที่ LINE เป็นผู้นำ (หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย) ก็ทำให้เขาสามารถต่อยอดธุรกิจจากแอปส่งข้อความแชทคุยกันไปได้อีกมากมายดังนี้ครับ

LINE Score เป็นการเอา AI มาช่วยคิดคำนวนว่าใครคนไหนควรจะได้ Social credit Score เท่าไหร่ในระบบ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็จะมาจากการใช้งานภายในแอป LINE ซึ่งถ้าใครมีคะแนนดีๆ หรือถูกประเมินว่าเป็นคนดีก็จะสามารถได้ข้อเสนอดีๆ จาก LINE ก่อนลูกค้ารายอื่นครับ
LINE Pocket Money เป็นธุรกิจที่ต่อยอดจาก Score คือมีการปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กที่เป็น Micro-loan ผ่านแอป LINE ในบ้านเราก็คงจะเริ่มเห็นผ่าน LINE BK ที่โฆษณาว่ากู้กับไลน์ง่ายกว่ายืมเพื่อน ซึ่งตัวผมเองก็ไม่เคยกู้กับ LINE เหมือนกันครับ

LINE’s Mini App แพลตฟอร์มที่เปิดให้บริษัทหรือผู้พัฒนาอิสระจากภายนอกสามารถเข้ามาสร้าง Mini app ภายในแอป LINE ได้ เรียกได้ว่าถอดโมเดลมาจาก WeChat ก็ไม่ผิดนัก ซึ่งบริษัทหรือห้างร้านภาคธุรกิจต่างๆ สามารถเข้ามาเสริมความสามารถของ LINE OA ของตัวเองได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก จนทำให้ใครที่คิดจะสร้างแอปใหม่ของตัวเองอาจต้องคิดหนัก โดยเฉพาะกับแบรนด์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากใน LINE OA ของตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

LINE Pokeo เป็นอีกบริการใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นแต่ยังไม่เปิดให้บริการในไทย เป็นบริการสำหรับร้านอาหารที่เปิดให้ลูกค้าหรือผู้ติดตามสามารถกดสั่งอาหารจาก LINE ของร้านแล้วแวะไปรับสินค้าที่ร้านได้โดยไม่ต้องยืนคิวรอให้เสียเวลาครับ

ส่วนบริการอย่าง LINE MAN หรือ LINE Taxi ที่ขอไม่ลงรายละเอียดเพิ่มเติมเพราะคิดว่าคนไทยเราคุ้นเคยกันอย่างดีแล้ว เห็นไหมครับว่า LINE วันนี้กลายเป็น Super App เต็มตัวรายแรกๆ ของไทยซึ่งนอกจากจะคุยงานกับผ่าน LINE แล้วยังสามารถสั่งอาหาร เรียกรถ เรียกวินมารับเอกสารไปส่ง หรือแม้แต่กดฝาก LINE ซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านก็ยังได้ครับ

ส่วน Super App อื่นๆ ที่จะขอพูดถึงเพิ่มเติมแบบสั้นๆ ไม่ลงรายละเอียดมากเพื่อให้เพื่อนๆ ได้รู้จักเพิ่มเติมมีดังนี้ครับ

Super App Strategy: How To Make A Profit From Super Apps | by AgileTech  Vietnam | Medium
Photo: https://agiletech.medium.com/super-app-strategy-how-to-make-a-profit-from-super-apps-e4d1f2c865c2

Gojek แอปเรียกรถจากประเทศอินโดนีเซียที่วันนี้กลายเป็น Unicorn เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง Gojek นี้ก็กลายเป็นคู่แข่งรายสำคัญของ Grab มากขึ้นทุกวัน

Meituan แอปจีนที่เริ่มต้นจากการให้โปรโมชั่นส่วนลดด้านการท่องเที่ยว ที่พัก และโรงแรม มาวันนี้พวกเขาขยายออกไปกว้างมากจับแทบจะทุกธุรกิจที่ต่อยอดจากจำนวน User ที่มีมหาศาล แม้จะมีแต่ User ชาวจีนเป็นผู้ใช้ แต่ก็อย่าลืมว่าชาวจีนในวันนี้เป็นชาตินักท่องเที่ยวเบอร์หนึ่งของโลกทั้งในแง่ของปริมาณและกำลังการซื้อที่จะดูถูกดูแคลนไม่ได้เลย

Alipay แอปจ่ายเงินในเครือของ Alibaba จากจุดเริ่มต้นเพื่อจ่ายเงินจากการซื้อสินค้าใน e-commerce จนมาสู่การจ่ายได้ทุกอย่างที่ต้องการในจีนและก็ขยายออกไปหลายประเทศทั่วโลกตามที่นักท่องเที่ยวชาวจีนไปครับ

Fave แอปประเภท mobile payment ของประเทศสิงค์โปร ที่ค่อยๆ ขยายตัวออกไป acquire สองบริษัท Startup ด้าน food delivery ในประเทศ ซึ่งเป็นการกระตุ้น Ecosystem ให้ผู้ใช้เห็นความสำคัญของ Fave ในการจ่ายเงินค่าอาหารต่างๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้ และก็ยังขยายไปสู่ธุรกิจให้กู้ยืมเงินหรือ Micro-loans เพราะในเมื่อมี Financial data แล้วการจะประเมินความน่าเชื่อถือของผู้กู้ด้วย Score ของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

Paytm แอปกระเป๋าเงินดิจทัลอีกรายของประเทศอินเดีย ซึ่งวันนี้ก็ขยายไปสู่การเปิดให้ User สามารถจองหรือซื้อตั๋วเครื่องบินหรือตั๋วรถไฟภายในประเทศได้ อีกทั้งยังสามารถซื้อของใช้จาก e-commerce ของตัวเองอย่าง Paytm Mall ได้เช่นกัน

PhonePe เป็น Payment ของ Flipkart เว็บ e-commerce ที่ใหญ่อันดับต้นๆ หรือน่าจะใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดียด้วยซ้ำ ใน PhonePe มี Mini-app ยอดนิยมให้บริการข้างใน เช่น Ola แอปเรียกรถยอดนิยมของอินเดีย OYO จองโรงแรมก็ได้ ไปจนถึง MakeMyTrip บริการประเภทจองเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของคนในอินเดียอีกด้วยครับ

Reliance Jio ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ในประเทศอินเดียเองก็ต่อยอดจากจำนวนผู้ใช้งานหรือ User มากมายหลายร้อยล้านคนด้วยการออก Super App ขึ้นมาใหม่ที่ชื่อว่า Packed ที่มีบริการมากกว่า 100 อย่างให้เลือกใช้งานในแพลตฟอร์มเดียว เมื่อประเมินจากความสามารถของการเชื่อมต่อการบริหารแบบ O2O แล้วใหญ่จนไม่แพ้ WeChat ได้ในเร็ววันครับ

ที่เล่ามาทั้งหมดจะเป็นว่าเป็น ​Super App ของประเทศฝั่งตะวันออกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย หรืออินเดียก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากบริบทความเป็นเอเซียหรือโลกตะวันออกที่ไม่มีตลาดยุโรปหรืออเมริกาใกล้เคียงเลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าคำว่า Super App จะไม่มีทางเกิดขึ้นในโลกตะวันตกอย่างอเมริกาหรือยุโรปเสมอไป เพราะถ้าดูดีๆ ก็มีแพลตฟอร์มหนึ่งที่ใกล้เคียงอย่าง Google Maps ที่สามารถต่อยอดอะไรขึ้นมาหลายอย่างจากจุดเริ่มต้นของการเป็นแผนที่นำทาง จนไปสู่โฆษณาบนแผนที่ๆ มีโอกาศให้ผู้ใช้ได้เห็นก่อนร้านอื่น หรือแม้แต่การจองโรงแรมผ่าน Google Maps ก็เปิดให้บริการแล้ว(แต่ก็ไม่รู้ตัวเลขผู้ใช้ครับ)

ในบทหน้าจะพาไปรู้จัก Super App ในโลกฝั่งตะวันตกกันบ้างครับ เดี๋ยวจะหาว่าฝรั่งหัวทองเค้าไม่ทำกัน เค้าอาจจะทำกันแต่อาจจะไม่ได้เปรี้ยงหรือปังแบบฝั่งโลกตะวันออกเราเท่าไหร่

อ่านบทความที่เกี่ยวกับ Super App ตอนจบต่อ

What is a super app and which are the multiple services that you can offer  in it? | CustomerThink
Photo: https://customerthink.com/what-is-a-super-app-and-which-are-the-multiple-services-that-you-can-offer-in-it/

Source

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *