เมื่อ Airdrop ถูกใช้ยิงโฆษณาในแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย

เมื่อ Airdrop ถูกใช้ยิงโฆษณาในแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย

รู้จักฟีเจอร์อันโด่งดังของ Apple ที่มีชื่อว่า AirDrop กันมั้ยครับ ? ถ้าหากว่าใครยังไม่เคยได้ยิน เบสอาจจะขออธิบายสั้น ๆ ว่ามันคือ ฟีเจอร์สำหรับส่งข้อความ ข้อมูล หรือ ไฟล์ต่าง ๆ ระหว่างสินค้าของแบรนด์ Apple ด้วยกันเท่านั้น อย่าง Iphone Ipad หรือ Mac โดยมีการส่งที่รวดเร็วแถมยังได้ไฟล์ที่มีคุณภาพเท่าเดิมอีกด้วยครับ

แคมเปญที่เบสจะเอามาเล่าให้ทุกคนอ่านในวันนี้ เป็นของ Back Market แบรนด์ผู้ให้บริการขายสินค้าอิเล็กทรอกนิกส์มือสองเจ้าหนึ่งของฝรั่งเศส โดยความน่าสนใจของแคมเปญนี้ คือ การนำ AirDrop มาใช้ทำการตลาดเพื่อโฆษณาสินค้าหรือบริการของตัวเอง ได้อย่างน่าสนใจเลยครับ

Hack Market เป็นชื่อของแคมเปญนี้ที่เกิดจากความร่วมมือของแบรนด์กับเอเจนซี่อย่าง Marcel ครับ

Hack Market : AirDrop Message from Back Market

งานวิจัยของสำนักจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานฝรั่งเศส พบว่า การนำโทรศัพท์มือสองกลับมาใช้ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงถึง 91% ในแง่ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังมีการใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยกว่าการผลิตใหม่ถึง 90% เรียกได้ว่าช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมากเลยครับ

โทรศัพท์มือสองที่เบสกำลังพูดถึงนี้ เป็น โทรศัพท์ที่ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Refurbish หรือ กระบวนการที่นำโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้น ๆ มาซ่อมแซม ทำความสะอาด รีเซ็ต ตั้งค่าระบบ ตกแต่งหน้าตา จนเหมือนเป็นโทรศัพท์เครื่องใหม่ โดยโทรศัพท์ทุกเครื่องจะต้องผ่านมาตรฐานการ Quallity Check ของโรงงานผลิตด้วยครับ

ด้วยธุรกิจของ Back Market เองก็มีโรงงานที่มีผู้ชำนาญในเรื่องของการ Refurbish ให้กลับมาดีเหมือนใหม่ แล้วมีการนำมาขายในหน้า Website อยู่เช่นกัน

อีกทั้งยังขายในราคาที่ถูกกว่าราคาเดิมของตัวสินค้าเหล่านั้นมากพอสมควรเลยครับ

ช่วงจังหวะพอดีกับวันสำคัญอย่าง วันคุ้มครองโลก (22 เมษายน) ในปี 2022 ที่ผ่านมา Back Market ต้องการที่จะจัดแคมเปญการตลาดเพื่อโน้มน้าวให้คนมาซื้อโทรศัพท์มือถือมือสองในหน้า Website มากยิ่งขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจของแคมเปญนี้ คือการวางกลุ่มเป้าหมายของแคมเปญที่เป็นบุคคลทั่วไปที่กำลังเดินดู Iphone ใน Apple Store อยู่ครับ

มาถึงตรงนี้ จากหัวข้อบทความทุกคนน่าจะพอรู้แล้วใช่มั้ยครับว่า ความสนุกและร้ายกาจของแคมเปญนี้คืออะไร

ทางทีมงานได้มีการจัดเตรียมเครื่องโทรศัพท์ Iphone ที่สามารถส่ง AirDrop ไว้ ก่อนจะส่งตัวแทนไปยังหน้า Apple Store สาขาต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ของเมืองทั้ง 3 เมือง ได้แก่ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน

เมื่อถึงเวลาอันสมควรแคมเปญก็เริ่มขึ้น โดยทางทีมงานกดส่งข้อมูลเป็น Link ที่จะ Landing ไปยังหน้า Microsite ของแบรนด์ ผ่าน AirDrop ไปยัง Iphone ทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่นั้น โดยคาดว่าการส่งนั้นจะไปยัง Iphone ที่เป็นเครื่องตัวโชว์ ทุกตัวในร้านที่ลูกค้าในร้านกำลังยืนดูมัน หรือ กดมันเล่นอยู่

การส่งแต่ละครั้งสร้างความตื่นตกใจให้เหล่าลูกค้าพอสมควรเลยครับ ซึ่งก็อาจจะมีทั้งกดรับและไม่กดรับ หรือตามพนักงานมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับโทรศัพท์เครื่องที่เป็นตัวโชว์อยู่รึเปล่า

แต่หากใครที่ได้กดยอมรับการส่งนี้ ก็จะพบกับ Journey ที่ทางแบรนด์ได้วางเอาไว้เพื่อสื่อสารกับลูกค้าเหล่านั้น เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และอาจจะถึงเวลาแล้วที่คุณอาจจะซื้อสินค้าอิเล็กทรอกนิกส์อย่าง Iphone ในรูปแบบ Refurbish ที่ทั้งถูกกว่า รักษ์โลกมากกว่า ก่อนจะปิดจบด้วยหน้าสินค้าที่มีราคาถูกกว่าราคาตั้งของ Apple Store ที่พวกเขาเห็นอยู่ตรงหน้ามากพอสมควร

เป็นการสื่อสารที่เหมือนฮุคหมัดตรงเข้าไปยังคนที่มีความต้องการซื้อสินค้า พร้อมกับข้อเสนอที่เร้าใจมากทีเดียวครับ

Back Market website

จากการยิงโฆษณาด้วย Airdrop ในครั้งนี้มีคนที่ได้รับข้อความจากแคมเปญถึงราว 5,200 คน โดยมีประมาณ 27% ที่มีแนวโน้มว่าจะหันไปซื้อสินค้าแบบ Refurbish ตามที่แบรนด์ได้ยื่นข้อเสนอให้ และสามารถปิดการขายได้ในลำดับถัดไป

นอกจากนี้ตัว Media ส่วนอื่น ๆ ที่นำเนื้อหาของแคมเปญไปใช้ในการทำการตลาดต่อก็มี Impression กว่า 100 ล้านคนเลยครับ ถือว่าเป็นแคมเปญที่มีความแปลกใหม่ ไร้ขอบเขต ที่เหมาะจะเป็น Social Issue และได้รับการพูดถึงจริง ๆ ครับ

บทสรุป

เบสอยากให้มอง Case Study นี้ไว้เป็นไอเดียในการทำการตลาดรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำการตลาด Online ที่เราสามารถทำให้ทั่วไปบ้างครับ คล้ายกับตัวแคมเปญ Snow Cam Takeover ที่เบสเคยเอามาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกันไปแล้ว

เพราะโอกาสในการทำการตลาดอยู่รอบตัวเราได้เยอะมากเลยครับ เพียงแต่เราต้องตั้งเป้าหมายในสิ่งที่เราต้องการให้ชัดเจนเท่านั้น

อีกอย่างหนึ่งการทำแบบในแคมเปญนี้ อาจจะเป็นการรบกวนความเป็นส่วนตัวของ Apple User คนอื่น ๆ ก็ได้ครับ แทนที่จะได้ ว้าวกับแคมเปญที่น่าสนใจนี้ จะกลายเป็น Negative Feedback ที่มีต่อแบรนด์แทน แต่ถ้าเราสามารถใช้ได้อย่างถูกบริบท ถูกที่ถูกเวลา ก็อาจจะเป็นแคมเปญการตลาดหนึ่งที่สร้าง Performance ให้กับแบรนด์ของคุณได้อย่างดีเลยล่ะครับ

ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ 🙂

สามารถอ่านบทความอื่น ๆ ของการตลาดวันละตอนได้ที่ คลิก

Ref

Watcharapon Kittipodpong

ลงมือเขียนเพื่อทบทวน และเข้าใจตัวเอง คนที่สนใจ Marketing คนหนึ่งที่อยากส่งต่อเหมือนที่ได้รับมา หวังว่าสิ่งที่เขียนจะมีประโยชน์กับคนอ่านทุกคนนะครับ :)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน