3 Case Study NFT Business เพิ่มยอดขายจาก NFT และค่า Loyalty ด้วย Smart Contract

3 Case Study NFT Business เพิ่มยอดขายจาก NFT และค่า Loyalty ด้วย Smart Contract

หนังสือ Quantum Marketing บอกไว้ว่า 1 ใน 4 ของหน้าที่ใหม่นักการตลาดยุคควอนตัมคือการสร้าง Brand Asset ใหม่ที่จะทำไปสู่รายได้ใหม่ๆ ของธุรกิจ และ NFT ก็ดูตอบโจทย์นั้นอย่างลงตัว เพราะบทความนี้จะพาไปดู Case Study NFT Business ของการต่อยอดไอเดียการตลาดและธุรกิจใหม่ๆ ด้วย NFT ที่นำไปสู่ยอดขายใหม่โดยไม่ต้องผลิตอะไรเพิ่ม และยังมีค่าส่วนแบ่ง Loyalty โดยที่ไม่ต้องตามทวงหนี้แต่อย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลหลักของการตลาดนั้นก็คือการเพิ่มยอดขาย ด้วยการทำให้กลุ่มเป้าหมายอยากซื้อ ดังนั้นการที่แบรนด์จะออก NFT มาสัก Collection หนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งยอดขายก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรนัก

Budverse แค่ขายเบียร์ NFT ก็ทำเงินได้กว่าล้านเหรียญ โดยไม่ต้องผลิตเบียร์เพิ่มสักกระป๋อง

ตัวอย่างตอนปลายปี 2021 บริษัท AB InBev สามารถทำรายได้กว่า 33 ล้านบาท ด้วยการขาย NFT ที่มีชื่อว่า Budverse (มาจาก Budweiser + Metaverse) จำนวน 1,936 ชิ้น

Photo: https://opensea.io/collection/budverse-cans-heritage-edition

จากนั้นอีก 3 เดือนถัดมา เมื่อต้นปี 2022 มานี้เอง พวกเขาก็สร้างยอดขายได้อีกกว่า 4.5 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 150 ล้านบาท ด้วยการขาย NFT เบียร์ Bud Light 12,000 ชิ้น ทั้งหมดนี้ไม่ต้องขายเบียร์จริงสักกระป๋อง

อ่านถึงตรงนี้ต้องเริ่มคิดต่อยอดแล้วนะครับว่า เราจะขายสินค้าแบรนด์เราในรูปแบบ NFT อย่างไรให้ได้ยอดขายแบบ Budweiser บ้าง

Bacardi NFT กับการรายได้จาก Loyalty แล้วเอาไปสนับสนุน Community เปลี่ยน Fan ให้กลายเป็น Invertos

หรืออย่างที่ Bacardi ทำโปรเจค NFT แต่ไม่ได้ทำเพื่อยอดขายทางธุรกิจ แต่ทำเพื่อสนับสนุนนักดนตรีด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ดีได้

https://www.youtube.com/watch?v=eFZjVvI5hcQ

พวกเขาจึงสร้าง Music Liberates Music ขึ้นมา เป็นการชวนเหล่าศิลปินไม่ดังนอกกระแสให้ได้มีพื้นที่ของการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชอบฟังเพลงมากขึ้น (นั่นก็คือกลุ่มลูกค้าของ Bacardi นั่นเอง) ด้วยการสามารถเอาผลงานเพลงตัวเองมา Mint เป็น NFT ได้ โดยพวกเขาได้ทำการสนับสนุน 3 เพลง NFT ที่มีผู้หญิงเป็น Producer อีกด้วย

แคมเปญนี้ถูกตั้งชื่อให้ว่า Fanvestors หรือการชวนแฟนคลับให้มาเป็นนักลงทุนในตัวศิลปินที่ชื่นชอบแทน ด้วยการที่คนที่ซื้อผลงานเพลง NFT ชิ้นไหนไปก็ได้จะได้รับค่าตอบแทนหรือค่าลิขสิทธิ์เมื่อมีคนเรียกฟังกลับมา และนั่นหมายความว่าถ้าแฟนเพลงที่ลงทุนซื้อผลงาน NFT ชิ้นนั้นไปขยันโปรโมทให้ศิลปินมากเท่าไหร่ ตัวเขาเองก็จะได้ส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ตอบแทนทุกครั้งที่มีคนฟังแบบอัตโนมัติครับ

และนี่ก็คือข้อดีของ NFT ที่สามารถกำหนดสัญญาข้อผูกมัดที่เรียกว่า Smart Contract กำกับไว้ได้ว่าจะให้แบ่งใครเท่าไหร่อย่างไร ซึ่งไม่มีทางเบี้ยวได้ และไม่ต้องไปไล่ตามทวงหนี้ เพราะระบบจะทำหน้าที่ของมันเองตามโค้ดที่กำกับไว้แต่แรกครับ

และนั่นหมายความว่ายิ่งผลงานมีการซื้อขายเปลี่ยนมือมากเท่าไหร่ ตัวศิลปินเองก็จะยิ่งได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น

เรียกได้ว่าเป็นการเก็บค่า Loyalty ค่าลิขสิทธิ์ที่แสนสะดวกสบายในยุค Blockchain อย่างยิ่ง ฟังเท่าไหร่ก็รู้ ซื้อขายกันกี่ทอดก็บอก เบี้ยวไม่ได้ โกงไม่ได้ นี่แหละครับอนาคตการทำธุรกิจที่ลดความเชื่อใจ แล้วหันไปใช้การเชื่อโค้ดดิ้งแทน

และ Case Study สุดท้ายของการทำเงินจากค่าลิขสิทธิ์จาก NFT คือการบริจาคสู่องค์กรการกุศลครับ

NFT for Charity กับแคมเปญ Immortal Poppy เงินบริจาคทุกบาทไม่หล่นหาย

ปัญหาเรื่องเงินบริจาคหล่นหายไประหว่างทางกลายเป็นเงินทอน เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทั่วโลก ใน Case Study สุดท้ายนี้จึงหยิบเอาแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นให้คนบริจาคให้กับองค์กรทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่หนึ่งของประเทศแคนาดา กับแคมเปญที่มีชื่อว่า Immortal Poppy ครับ

Immortal Poppy แปลเป็นไทยง่ายๆ คือดอกป๊อปปี้ ดอกไม้ที่จะเอาไว้ขายเพื่อหาเงินบริจาคให้กับทหารผ่านศึกทั่วโลกเหมือนกับบ้านเรา แต่เดิมทีต้องบริจาคแลกดอกป๊อปปี้จริง หรืออาจจะเป็นดอกเทียมที่ทำเลียนแบบมา แต่ในโลกยุคใหม่วันนี้ที่อะไรๆ ก็กลายเป็นดิจิทัลได้ทั้งนั้น ทางองค์กรนี้ก็เลยเกิดไอเดียว่า ทำไมเราไม่ทำเป็นดอกป๊อปปี้ NFT ขึ้นมาแทนหละ

และเจ้าดอกป๊อปปี้ NFT นี้ก็สามารถทำเงินได้กว่า 31,600 ดอลลาร์ ทั้งจากเงินที่ได้จากการขายครั้งแรกตรงให้กับผู้ที่สนใจ ไปจนถึงเงินที่ได้เป็นส่วนแบ่งเมื่อมีการซื้อขายผ่านมือในครั้งต่อๆ ไปครับ

ซึ่งทุกครั้งที่มีการขายต่อๆ กันไปใน Smart Contract ก็จะตัดส่วนแบ่ง 10% จากยอดขายส่งต่อให้มูลนิธิต้นทาง เรียกได้ว่าเงินทุกบาท เหรียญคริปโตทุกเหรียญนั้นจะไม่มีวันหลุดลอดหายจากสายตากลายไปเป็นเงินทอนของใคร ไม่มีทางกลายเป็นรถเบนซ์ที่บ้านผู้มีอำนาจคนไหนได้แน่นอน

สรุป NFT Business กับการสร้างยอดขายใหม่ของแบรนด์ ด้วยชิ้นงาน NFT และค่าลิขสิทธิ์ Loyalty ที่เบี้ยวไม่ได้

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ 3 Case Study ของ NFT Business ที่เป็นการสร้างยอดขายใหม่ให้กับธุรกิจโดยไม่ต้องผลิตของจริง แค่ผลิตผลงาน NFT ออกมาขายก็สามารถทำเงินเป็นกอบเป็นกำได้ ไปจนถึงการเก็บค่าลิขสิทธิ์ Loyalty Fee เมื่อมีการขายต่อไปเรื่อยๆ ที่เราไม่ต้องตามทวงหนี้ และไม่ต้องกลัวว่าส่วนแบ่งที่ควรเป็นของเราจะหลุดหายไประหว่างทาง

และนี่ก็เป็นหน้าที่ใหม่ของนักการตลาดยุค Quantum Marketing ที่จะต้องมองหา Opportunity ใหม่ให้กับธุรกิจเสมอ เมื่อการตลาดมีมากกว่าแค่การทำแคมเปญว้าวๆ หรือการเพิ่มยอดขายทั่วไป แต่ยังต้องเพิ่มหน้าที่การสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ นั่นก็คือการสร้าง Brand Asset ใหม่ๆ ขึ้นมา และดูเหมือนว่า NFT จะเป็นคำตอบที่ใช่ของทั้ง Business and Marketing ในวันนี้ครับ

อ่านบทความที่เกี่ยวกับ NFT Marketing ในการตลาดวันละตอนต่อ > https://www.everydaymarketing.co/tag/nft/

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *