[หนังสือแนะนำ] UBER กลยุทธ์ครองโลก

[หนังสือแนะนำ] UBER กลยุทธ์ครองโลก

คุณเคยใช้ UBER มั้ยครับ? ผมคนนึงครับที่มักจะเรียกรถผ่าน UBER ก่อนแอพอื่นทุกครั้ง ทุกวันนี้ยังแอบนึกเสียดายเหมือนกันที่ UBER ถอยทัพออกจากไทยไป

ผมเองเป็นหนึ่งในผู้ใช UBER รุ่นแรกๆตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มี UberX ที่ราคาถูกให้ใช้ด้วยครับ ในตอนแรกที่ Uber เข้าไทยนั้นมีแค่ Uber เดียว คือที่เป็นรถใหญ่ ที่แม้ราคาจะแพงกว่ารถแท็กซี่ปกติในตอนนั้นไม่น้อยแต่ผมก็เป็นหนึ่งคนที่เต็มใจเรียก Uber และรอทุกครั้งครับ

ผมขอเล่าเหตุผลที่ทำไมผมจึงชอบ Uber นักให้ฟังซักนิดก่อนเข้าสรุปหนังสือแล้วกันนะครับ เรื่องมันเล่มจากวันนั้นตอนผมอยู่คอนโดแถวเจริญนคร ผมต้องการเดินทางเข้าเมืองไปยังเซ็นทรัลเวิร์ลแต่ไม่อยากขับรถไป ทีแรกผมเปิดแอพดูเห็นว่ากว่าจะได้รถต้องรอถึง 20 นาที ผมเลยคิดว่าถ้าตั้ง 20 นาทีผมเดินไปหน้าคอนโดริมถนนแล้วโบกรถแท็กซี่น่าจะเร็วกว่า

แต่เชื่อมั้ยครับว่าผมเรียกแท็กซี่กี่คันก็ไม่มีคันไหนยอมไปซักคน ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าใกล้ไปบ้าง หรือต้องเข้าเมืองบ้าง ไม่ก็เหตุผลสุดคลาสสิคคือไปส่งรถไม่ก็เติมแก๊ส

เวลาผ่านไป 20 นาที แต่ตัวผมยังอยู่กับที่ไม่ไปไหน ยืนอยู่หน้าคอนโดเดิมริมถนนแดดร้อนๆ

และนับแต่วันนั้นผมบอกกับตัวเองว่า ต่อให้ต้องรอ Uber นานแค่ไหนผมก็จะรอ จะไม่ออกไปยืนเรียกรถให้เสียอารมณ์อีกต่อไป

หลังจากนั้นเวลาผมเรียก Uber ไม่ว่าจะต้องรอ 20 นาที 30 นาที หรือนานกว่านั้น เวลาคนขับโทรหาผมเพื่อถามว่าแน่ใจหรอว่าจะรอ ผมก็ยืนยันว่า “รอครับ”

ที่ผมชอบ Uber มากเพราะผมได้ยินมาว่าเป็นแอพเดียวที่คนขับปฏิเสธลูกค้าไม่ได้ เพราะถ้าปฏิเสธในช่วงแรกนั้นจะโดนปรับเป็นเงินประมาณ 500 บาท ทำให้ไม่ว่าลูกค้าเรียกไปไหนก็ต้องไปรับหมด

และผมชอบที่ Uber เป็นแอพที่แฟร์มาก ไม่ใช่กับแค่คนเรียก แต่ยังแฟร์กับคนขับด้วย เพราะถ้าเรียกคุณยกเลิกหลังจากเค้าขับมาแล้ว 5 นาที คุณต้องเสียเงินฟรีให้คนขับนะครับ และการปรับราคาขึ้นตามปริมาณการใช้งานก็เป็นอะไรที่ผมชอบมาก เพราะผมรู้สึกว่ามันยุติธรรมกับคนขับดี

ถ้าคนขับปฏิเสธไม่ได้ เค้าก็ควรได้ข้อเสนอที่ดีขึ้นในเวลาที่สมควรจริงมั้ยครับ

ทำให้แม้บางครั้งผมจะเคยโดนชาร์จสูงถึงเกือบ 4 เท่าจากราคาปกติในช่วงคืนวันศุกร์สิ้นเดือน แต่ผมก็ยังสบายใจที่จะเรียก Uber ครับ

และอีกข้อที่ผมชอบ Uber มากๆคือเป็นเจ้าแรกที่ให้จ่ายด้วยการตัดผ่านบัตรเครดิต ประหยัดการควานหาเศษเงินและความรู้สึกกระอักกระอ่วนเวลามีเศษค่าเดินทางด้วยแหละครับ

ทั้งหมดนี้มาจากแนวคิดของ Uber ที่เน้นให้ความสำคัญกับลูกค้าผู้เรียก และก็ยังรู้จักใช้หลักเหตุและผลทางเศรษฐศาสตร์ในการคิดคำนวนราคาที่ยุติธรรม

เพราะถ้าราคาในช่วงที่คนต้องการรถเยอะมันแพง มันก็จะส่งผลสองอย่าง คือทำให้คนขับอยากออกมาขับมากขึ้น และทำให้คนเรียกนั้นเรียกน้อยลง จนสุดท้ายมันก็กลับคืนจุดสมดุลของราคาอยู่ดีครับ

นี่คือเสน่ห์ของ Uber ที่นำโดย Travis Kalanick ผู้เป็น CEO ที่เต็มไปด้วยข่าวฉาวเป็นประจำแบบไม่เหมือน CEO คนไหนในวงการเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันเค้าก็สามารถพา Uber ขึ้นไปถึงจุดที่ไม่มีใครจะคาดคิด คือสามารถสร้างมูลค่าให้ Uber ได้ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ในเวลาอันรวดเร็วกว่าที่ใครจะเดาได้ ล่าสุดผมเสริชดูเมื่อกี๊พบว่ามูลค่า Uber ไปถึง 120,000 ล้านดอลลาร์แล้วครับ

นี่ไม่ใช่บริษัท Internet อย่าง Facebook หรือ Google แต่เป็นบริษัท Tech Disruption เป็นส่วนผสมระหว่าง Bit และ Atom ที่ลงตัวระหว่าง แพลตฟอร์มที่เป็นดิจิทัล คนขับและรถที่เป็น Physical และลูกค้าผู้โดยสารที่ต้องการทางเลือกที่ดีกว่าแท็กซี่เดิม

ความยิ่งใหญ่ของ Uber ไม่ได้เกิดจากตัวเทคโนโลยีแต่อย่างไร แต่เกิดจากความ “ไม่พอใจ” จากการ “ไม่มีประสิทธิภาพ” ของระบบแท็กซี่ที่เป็นเหมือนกันทั่วโลก Uber แค่เอาทางเลือกที่ดีกว่ามาให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ และถ้าคนขับแท็กซี่ทั้งหลายทำในส่วนของตัวเองได้ดี ใครที่ไหนจะเข้ามาแย่งชิงตลาดไปได้ล่ะจริงมั้ยครับ

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของหนึ่งในผู้ก่อตั้งอย่าง Travis Kalanick เป็นหลัก ที่จากเป็นแค่ที่ปรึกษาจนกลายมาเป็นผู้กุมบังเหียน CEO ของ Uber ในที่สุด

หลายคนอาจคิดว่า Travis Kalanick ที่เป็น CEO หรือหน้าตาของ Uber ตลอดเวลาที่ผ่านมาอาจเป็นผู้คิดไอเดีย Uber ขึ้นมาเป็นคนแรก แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ครับ เป็นไอเดียของอีกคนหนึ่งเพียงแต่เค้าไม่ได้ลงมาลุยกับ Uber เต็มตัวเพราะต้องรับผิดชอบอีกบริษัทที่ Google ซื้อไป แต่ก็อย่างที่บอกว่าเพราะ Travis Kalanick นี่แหละที่ทำให้ Uber เป็น Uber ทุกวันนี้

Uber เองเป็นผู้สร้างนิยามทางเศรษฐศาสตร์หรือการจ้างงานใหม่ที่เรียกว่า Gig Economy ที่หมายถึงงานแบบไม่ประจำ ทำชั่วครั้งชั่วคราว ก็เริ่มมาจากคนที่ต้องการเอาเวลาว่างกับรถที่ไม่ใช้งานที่บ้านออกมาขับ Uber ซักสองสามชั่วโมงเพื่อหาเงินนี่แหละครับ

Uber เองกลายเป็นคำ “กิริยา” หรือเป็นคำเรียกการเรียกรถในอเมริกาบางพื้นที่ไปแล้ว เหมือนกับคำว่า Google คนจะไม่บอกว่าตัวเองจะเสริชหาข้อมูล แต่ตัวเองจะกูเกิลแปบนึง แบรนด์ไหนที่สามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ต้องยิ่งใหญ่สุดๆครับ

Travis Kalanick เองก็ไม่ได้เริ่มบริษัทแรกในย่าน Silicon Valley ที่โด่งดังเรื่อง Stratup แบบบริษัท Tech หรือ Internet อื่นๆ ที่มาจากมหาลัย Standford แต่เค้ามาจาก UCLA ที่เป็นต้นกำเนิดของ Internet ที่ได้รับการสนุนสนุนจาก ARPA หรือ DARPA หน่วยงานทางการทหารของสหรัฐในปัจจุบัน นั่นหมายความว่าถ้าไม่มี UCLA ก็อาจไม่มี Silicon Valley ในวันนี้ครับ

บริษัทแรกที่ Travis Kalanick ร่วมก่อตั้งกับเพื่อนนั้นชื่อ Scour เป็นเว็บที่ให้บริการแชร์ไฟล์เพลง MP3 กันในกลุ่มนักศึกษาเป็นส่วนใหญ่ จะว่าไปก็คล้ายกับ Napster ที่โด่งดังนั่นแหละครับ

แต่รู้มั้ยครับว่าเว็บแชร์ MP3 แรกไม่ใช่ Napster ที่โด่งดัง แต่เป็น Scour ของ Kalanick เพียงแต่ว่าระบบของ Scour ของเค้าไม่สุดพอตรงที่ต้องรอให้เจ้าของไฟล์เพลง MP3 ที่คนอื่นต้องการโหลดกด Accept ก่อนจะโหลด ผิดกับของ Napster ที่ให้แต่ละคนสามารถโหลดไฟล์เพลงของอีกคนได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาตทุกครั้ง ถ้าเจ้าของไฟล์เลือกจะวางไฟล์ไว้ให้พร้อมโหลด

จุดเล็กๆแค่นี้กลายเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของ Napster ในหน้าประวัติศาสตร์ MP3 เลยครับ

แต่ในระหว่างที่ Scour กำลังจะบรรลุข้อตกลงได้เงินทุนจากนักลงทุนกว่า 4 ล้านเหรียญ แต่ Kalanick ทำผิดข้อตกลงที่เรียกกันว่า “เลิกชอปปิ้ง” คือห้ามไปคุยข้อเสนอกับคนอื่นอีกในช่วงนั้นก่อนจะได้เงินทุน พอถูกจับได้ข้อเสนอนั้นก็เลยยกเลิกไปทันที เรียกได้ว่าเงิน 4 ล้านเหรียญหายวับกับตาเพราะไม่รู้จักพอครับ

แต่ซักฟักบรรดาเว็บที่เปิดให้ดาวน์โหลด MP3 ก็ถูกบริษัทค่ายหนังค่ายเพลงไล่ฟ้องเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะ Napster หรือ Scour ของ Kalanick ก็ตาม และค่าเสียหายที่ค่ายเพลงฟ้องร้องนั้นก็สูงถึง 250,000,000,000 เหรียญ ผมพิมพ์ตัวเลขไม่ผิดครับ สองแสนห้าหมื่นล้านเหรียญ เรียกได้ว่าเป็นการฟ้องร้องเอาตายทีเดีย จนทำให้ Scour ต้องประกาศล้มละลายและขายทรัพย์สินทั้งหมดที่มีเพื่อใช้หนี้แบบที่ Kalanick จะได้เป็นบทเรียนสำหรับบริษัทต่อไปของเค้าเลยครับ

และที่น่าตลกในเรื่องนี้คือระหว่างที่การฟ้องร้องดำเนินไป บริษัทค่ายหนังหลายๆค่ายก็ติดต่อมาให้เค้าช่วยโปรโมตทำการตลาดผ่านเว็บ Scour ไปพร้อมกัน เรียกได้ว่าตอนเช้า Kalanick เจอแผนกกฏหมายโทรมาก่นด่า สาบแช่ง และขู่เข็ญ แล้วพอตอนเย็นแผนกการตลาดก็โทรมาบอกว่าอยากร่วมงานด้วยให้ช่วยโปรโมตหนังให้หน่อย

เป็นความย้อนแย้งทางธุรกิจที่โชคดีที่ได้รู้ไว้เลยครับ ว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรที่แท้จริง

บริษัทที่สองของ Kalanick คือ Red Swoosh เป็นบริษัทที่เอาเทคโนโลยีหรือแนวคิดเดิมคือการแชร์ไฟล์ผ่านออนไลน์ไม่ต้องมีตัวกลางอย่างแผ่นดิสก์(ถ้าคุณเกิดทันพอจะรู้จักนะ) หรือเทปบันทึกข้อมูลในตอนนั้นให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ด้วยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กรเป็นตัวกลางในการดำเนินกลางของระบบนี้

และสิ่งที่แน่นอนของ Kalanick คือกล้าที่จะเดินเข้าไปขายงานกับบริษัทที่เพิ่งฟ้องร้องเค้าล่มจมไปไม่นาน เพราะเค้ามองว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านภาพยนต์พวกนี้แหละที่ต้องส่งข้อมูลขนาดใหญ่หากันมากที่สุด ดังนั้นถ้าได้ใช้ระบบของ Red Swoosh จะเป็นประโยชน์กับบริษัทพวกนี้มาก

ทำเอาพวกผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุมด้วยงงเป็นแถวๆทำนองว่า “เราเพิ่งฟ้องมันชิบหายวายป่วงมาไม่ใช่หรอ แล้วทำไมยังกลับมาเสนอหน้าได้ อ่ะ แต่ก็ไม่เป็นไร ขอฟังดูหน่อยก็แล้วกัน”

นับถือความเป็นผู้ประกอบการตัวจริงเลยครับ

และระหว่างที่ Kalanick ทำบริษัท Red Swoosh อยู่นั้นเคยมีครั้งนึงที่พวกเค้ายกขโยงกันทั้งออฟฟิศ (อย่าลืมว่าสตาร์ทอัพนั้นคนยังไม่เยอะ) ย้ายมาทำงานที่หาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่กันเป็นเวลาสองเดือน ทุกคนได้เขียนโปรแกรมกันริมทะเล เล่นน้ำ ดื่มเบียร์ เป็นแนวทางการทำบริษัทที่น่าสนใจมากครับ เพราะในเมื่อโปรแกรมเมอร์สามารถทำงานได้ทุกที่ที่มีปลั๊กไฟและอินเทอร์เน็ต การยกโขยงเปลี่ยนออฟฟิศก็ไม่ใช่เรื่องยาก

และก็ขอเข้าสู่ช่วงขอ Uber

สรุปหนังสือ Uber กลยุทธ์ครองโลก

จุดเริ่มต้นของ Uber ไม่ใช่แพลตฟอร์มจับคู่คนขับอิสระกับลูกค้าผู้เรียกรถอย่างทุกวันนี้

Garrett Camp นักลงทุนชาวแคนาดาที่เป็นผู้คิดไอเดีย Uber ขึ้นมาในครั้งแรกนั้นเกิดจากปัญหาไม่มีแท็กซี่ว่างก็จริง แต่ความตั้งใจแรกของเค้าคือจะทำแท็กซี่หรูๆแบบ Limousine ขึ้นมาแข่ง แล้วมีแอพเป็นตัวเรียก หรือสรุปง่ายๆคือตั้งใจจะทำอู่แท็กซี่ขึ้นมาแข่งกับแท็กซี่แบบเดิมแหละครับ

แถมยังตั้งใจว่าจะให้บริการ Uber นั้นจำกัดอยู่กับแค่กลุ่มคนมีเงินที่มีภาพลักษณ์แบบหนุ่มโสด เลยจะให้มีแต่รถแบบ Limousine เท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจให้ Uber นั้น mass มีรถทุกรูปแบบในแบบทุกวันนี้

และด้วยวิกฤตไม่มีแท็กซี่ตอนที่ทั้งคู่ Garrett Camp และ Travis Kalanick ติดอยู่ท่ามกลางพายุหิมะที่ปารีส ยิ่งทำให้ทั้งคู่ผูกใจเจ็บและกลายเป็นไฟให้ Uber ถือกำเนิดออกมาในที่สุด

เรียกว่าเปลี่ยนแรงแค้นให้กลายเป็นธุรกิจล้านๆก็ว่าได้ครับ

และ Kalanick เองก็เป็นคนที่ทำให้ Uber เป็น Platform แทนที่จะเป็นแค่แอพเรียกรถของอู่แท็กซี่หรูแห่งเดียวตามความคิดของ Garrett Camp

และต้องบอกว่าทั้งหมดนี้มาจากประสบการณ์ดั้งเดิมของ Kalanick ตอนที่ทำบริษัทแรก Scour เว็บแชร์ไฟล์เพลง MP3 ที่ตัวเองเป็นแค่ตัวกลางให้คนที่ต้องการเพลงได้เจอกับคนที่โหลดเพลง และจากบริษัท Red Swoosh ที่เป็นเทคโนโลยีตัวกลางเหมือนกันที่ให้บริษัทต่างๆเอาคอมพิวเตอร์ที่ว่างเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายในการส่งไฟล์ขนาดใหญ่ของค่ายหนังให้กันอย่างรวดเร็ว จนวิธีคิดเดียวกันกลายเป็นแก่นของ Uber ไปโดยไม่รู้ตัว ก็คือการคิดแบบให้ตัวเองเป็นแพลตฟอร์มคนกลางที่พาคนที่ต้องการเรียกรถได้เจอกับคนที่ขับรถ โดยที่ตัวเองไม่ต้องมีรถแท็กซี่ Limousine ของตัวเองซักคัน

แค่เอาแอพไปให้คนขับใช้ และเอาแอพไปให้คนเรียกโหลดก็พอ

ความน่าตลกของช่วงแรกที่ทำ Uber คือโปรแกรมเมอร์ต้องมีพจนานุกรมภาษาสเปน-อังกฤษติดโต๊ะไว้ เพราะเว็บ Uber เวอร์ชั่นแรกถูกส่งไปให้ outsource ที่ประเทศเม็กซิโกทำ ทำให้การจะแก้ไขระบบหรือเว็บทำงานได้ดีขึ้นก็ต้องแก้ด้วยภาษาสเปนตามที่มันถูกเขียนขึ้นมา

ลืมบอกไปว่า Uber เวอร์ชั่นแรกยังไม่เป็นแค่แอพอย่างเดียวนะครับ แต่สามารถเรียกผ่านเว็บได้ด้วย ได้ยุคนั้นตลาด Smartphone เพิ่งถือกำเนิดเพราะ iPhone เพิ่งออกใหม่ ทำให้ต้องเรียกรถผ่านเว็บด้วยครับ

และเมื่อก่อน Uber ไม่ได้ชื่อ Uber แต่ชื่อ UberCab ที่บอกให้รู้ว่าเป็นแท็กซี่ แต่พอโดนจดหมายจากทางการแคลิฟอร์เนียที่สั่งให้หยุดดำเนินการให้บริการรถแท็กซี่โดยไม่ได้รับอนุญาต ทาง Travis Kalanick ที่เพิ่งเข้ามาทำงานเต็มตัวในฐานะ CEO เลยสั่งให้ตัดคำว่า Cap ออกจากชื่อบริษัท จนเหลือแค่ Uber เพียงเท่านี้ทางการก็สั่งให้เค้าหยุดให้บริการในฐานะบริษัทแท็กซี่ไม่ได้แล้ว

เป็นการแก้ปัญหาที่ศรีธนญชัยดีจริงๆครับ

และในช่วงแรกที่เริ่มให้บริการ Uber ที่มีแต่รถ Limousine นั้นทาง Uber น่าจะเป็นลูกค้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดของ Apple เพราะเค้าเหมา iPhone เป็นแสนเครื่องเพื่อเอามาแจกให้คนขับที่เข้ามาลงทะเบียนฟรีๆ เพราะอย่างที่บอกไปครับว่าตอนนั้นโลกเพิ่งรู้จัก Smartphone และคนที่ขับ Limousine ก็เป็นพวกชายวันกลางคนขึ้นไป ทำให้พอจับคนขับมาสมัครกับ Uber ได้ปุ๊บ ก็แจก iPhone ที่ติดตั้งแอพ Uber ให้พร้อมออกไปวิ่งรถรับลูกค้าได้เลย

และกลยุทธ์การเปิดตัวของ Uber ในแต่ละเมืองคือ เงียบที่สุด และไม่สนใครหน้าไหน เพราะ Uber ยังคงเป็นธุรกิจสีเทาในหลายพื้นที่ คือแม้จะไม่ถูกกฏหมาย 100% แต่ก็ยังไม่มีกฏหมายไหนมารองรับซักเท่าไหร่ โดยทีมงาน Uber จะใช้วิธีศึกษาข้อกฏหมายของแต่ละพื้นที่ๆไปเปิดให้บริการ เพื่อดูว่ากฏหมายของที่นั่นมีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง แล้วก็ซิกแซกไปให้รอดให้ได้

Ride Zero คือหัวใจของแผนการตลาดเปิดตัวของ Uber เป็นแนวทางเดียวกันทั่วโลก นั่นคือคนแรกที่ใช้ Uber ในเมืองนั้นคือคนสำคัญที่สุด

เพราะคนแรกคือหน้าตาของแบรนด์ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ คือสิ่งที่คนจะจดจำ และคนจะเอาไปพูดต่อ ดังนั้นถ้าคนแรกไม่ดัง ไม่ปัง ไม่สะท้อนคุณค่าที่ Uber อยากจะเป็นก็จะไม่ใช้คนนั้น

Edward Norton คือหนึ่งในดาราดังที่มาเป็น Ride Zero ให้กับ Uber ตอนเปิดตัวครั้งแรกที่ New York แถมยังเป็นคนที่ร่วมลงทุนกับ Uber ด้วยครับ เห็นมั้ยว่า Uber นั้น Cool ขนาดไหน

จุดเปลี่ยนเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ของ Uber คือระบบนำทางผ่านแอพแผนที่บนมือถือ

ในช่วงแรกคนขับจะต้องขับมารับคนเรียกที่จุดเรียกก่อน จากนั้นคนเรียกถึงจะบอกคนขับว่าอยากจะไปที่ไหน แล้วคนขับก็ต้องพิมพ์ข้อความนั้นลงไปบน GPS แผนที่อย่าง Garmin หรืออะไรอื่นในเวลานั้น แล้วพอหนึ่งในทีมผู้บริหาร Uber คนนึงเห็นก็พบว่ามันไม่ควรเป็นแบบนี้เลย เราใช้แจก iPhone ให้คนขับทุกคนไปแล้ว ทำไมไม่ให้คนขับใช้แอพแผนที่บนมือถือให้คุ้ม และทำไมถึงไม่ให้คนเรียกบอกคนขับล่วงหน้าได้ว่าจะไปที่ไหนล่ะ คนขับจะได้เตรียมตัวตั้งแต่ก่อนมารับผู้โดยสาร พอผู้โดยสารขึ้นรถปุ๊บจะได้วิ่งฉิวออกไปเลย

จุดเปลี่ยนเล็กๆนี้ทำให้การเดินทางในแต่ละเที่ยวรถลงอย่างมาก ผลคือคนขับก็รับลูกค้าได้มากขึ้น และ Uber เองก็ได้เงินจากส่วนแบ่งค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามไป

และสิ่งนี้ทำให้ใครๆก็ขับรถแท็กซี่หรือ Uber ได้โดยที่ไม่ต้องมีความรู้ความชำนาญด้านเส้นทางอีกต่อไป อย่างที่อังกฤษคนขับแท็กซี่จะถูกทดสอบความรู้เรื่องเส้นทางต่างๆที่เรียกว่า The Knowledge แต่วันนี้แค่บังคับพวงมาลัยเป็น เร่งความเร็วได้ เบรกนุ่มนวล ก็สามารถขับรถรับจ้างได้แล้ว

Uber เองเคยบอกว่าแค่ดูจาก data การเรียกใช้งานก็บอกได้แล้วว่าใครเป็นพวก one-night stand เพราะดูจากว่าใครบ้างที่ชอบเรียกรถตอนดึกไปยังที่ๆไม่คุ้นเคย แล้วเรียกรถอีกทีตอนเช้ามืดเพื่อกลับบ้าน

data นี่น่ากลัวจริงๆนะครับ

Uber เองมีบริการแปลกๆแยกย่อยตามแต่ละพื้นที่ อย่าง UberHob ที่เปิดให้เจ้าของรถเปลี่ยนรถตัวเองให้กลายเป็นรถเมล์สายใหม่ได้ง่ายๆ โดยกำหนดเส้นทางที่จะวิ่งประจำไว้ จากนั้นก็คิดค่าบริการแบบตายตัวอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ต่อเที่ยว และตอนนี้ UberHop เปิดให้บริการอยู่เพียงที่เดียวในโลก ที่เมืองมะนิลา ฟิลิปปินส์เพื่อนบ้าน ASEAN เราเองครับ

Uber ครั้งนึงเคยสนใจจะร่วมกับ Tesla ในการสร้างรถยนต์ไร้คนขับ แต่ถูก Musk บอกปฏิเสธว่าไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่ไม่กี่วันถัดมา Musk ก็ประกาศว่ารถ Tesla ของตัวเองจะสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ และลองคิดถึงอนาคตการใช้รถยนต์ดูซิว่าคุณแค่กดแล้วมันก็วิ่งมารับคุณเอง จากนั้นมันก็ไป และไม่แน่ว่าอีกหน่อยคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์เป็นของตัวเองก็ได้

เป็นอะไรที่เกิดมาเพื่อฆ่า Uber แท้ๆครับ

แต่ทาง Uber ก็ไม่อยู่เฉยรอให้ใครมาฆ่า แต่เลือกที่จะลงมาฆ่าตัวเองก่อนใครด้วยการหาพันธมิตรร่วมพัฒนาระบบรถยนต์ไร้คนขับมากมาย ทั้ง Volvo หรือ Mercedes Benz ทั้งหมดนี้คือวิสัยทัศน์ในการมองเกมอนาคตของ Kalanick และ Uber ว่าคนขับจะไม่จำเป็นอีกต่อไป และใครไปถึงจุดนั้นได้ก่อน คนนั้นก็จะเป็นผู้ชนะเขียนกฏของเกมขึ้นมาใหม่ครับ

ตอน Uber ไปจีนเองก็กระอักไม่น้อย เพราะเจอคู่แข่งอย่าง Didi ที่ครองตลาดส่วนใหญ่ที่จีนอยู่ แถม Didi ยังใช้กลยุทธ์ในการทำให้ Uber อยู่ไม่ติดด้วยการไปร่วมลงทุนกับ Lyft กว่า 100 ล้านดอลลาร์ คู่แข่งหลักของ Uber ที่อเมริกา เพราะ Didi ให้เหตุผลว่าการลงทุนนี้จะทำให้ Uber ต้องกลับไปโฟกัสกับแผ่นดินแม่มากกว่าจะมาทุ่มเททำตลาดที่จีน

และก็เป็นแบบนั้นจริงๆครับ Uber ที่จีนไม่ได้โตขึ้นเลย แถมยังผลาญเงินทุนไปกว่าปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์ จนสุดท้าย Uber ต้องยอมแพ้กลับบ้านด้วยการขายกิจการให้ Didi

แต่ก็เป็นการแพ้อย่างผู้ชนะ เพราะ Uber ลงทุนในจีนไป 2,000 ล้านเหรียญ แต่กลับได้หุ้นของ Didi กลับมาเป็นมูลค่า 6,000 ล้านเหรียญ แถมยังได้เงินกว่า 1,000 ล้านเหรียญจากที่ Didi เอามาลงทุนเพิ่มกับ Uber ด้วย

แพ้แบบนี้ผมเชื่อว่าใครๆก็ยอมแพ้อย่างเต็มใจครับ

มาที่เรื่องพนักงานของ Uber เอง Travis Kalanick บอกไว้อย่างน่าสนใจว่าแม้คนหนุ่มสาวจะทุ่มเทกับงานมากกว่า มีชั่วโมงการทำงานมากกว่า แต่กลับเป็นกลุ่มที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องเลิกงานกลับบ้านไปอยู่กับลูกและครอบครัวที่ใช้เวลาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

ข้อนี้ทำให้รู้ว่ายิ่งมีเวลาน้อยกลับยิ่งรีดเค้นให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นลองตั้งเป้าชั่วโมงการทำงานของตัวเองให้ดีนะครับ ใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้มค่า แล้วก็กลับบ้านไปพักผ่อนซะ

และสุดท้ายต้องขอบคุณ Lyft คู่แข่งคนละตลาดของ Uber ที่ทำให้ Uber ต้องหันมาจับตลาด mass เพราะแม้ช่วงแรก Kalanick จะประกาศว่า Uber จะไม่ทำเพื่อทุกคน แต่จะทำเพื่อคนกลุ่มบนของตลาดเท่านั้น ผิดกับ Lyft ที่บอกว่าตัวเองไม่ใช่รถหรู ไม่ใช่โชว์เฟอร์ส่วนตัวสำหรับทุกคน แต่เป็นเหมือนการนั่งรถเพื่อนไปด้วยกัน

ผลคือ Lyft ขยายตลาดออกไปอีกมากจน Uber อดใจไม่ไหวที่ต้องลงมาร่วมแบ่งเค้กก้อนนี้ด้วย จนเกิดเป็น UberX ที่ให้บริการในราคาถูกกว่าตามมาครับ

บางครั้งคู่แข่งนี่แหละครับ คือแรงบันดาลใจชั้นดีให้เรา

และนี่คือหนังสือประวัติธุรกิจชั้นดีที่อยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน ถ้าคุณอยากรู้ว่ากว่าบริษัทหนึ่งจะตั้งต้น อยู่รอด เติบโตจนยิ่งใหญ่ได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้มีคำตอบให้ครับ

แถมหนังสือเล่มนี้ยังอ่านสนุก ไม่น่าเบื่อ เหมือนตามติดชีวิต CEO ของ Uber ไปกับเหตุการณ์ต่างๆตั้งแต่ก่อนจะเป็น Uber ยันเรื่องอื้อฉาวต่างๆของ Uber ทุกวันนี้ เขียนแบบไม่ลำเอียงให้เห็นทุกมิติของ Uber จริงๆ

ผมชอบประโยคตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้มาก “มุมมองที่คุณมีต่อ Uber ขึ้นอยู่กับที่นั่งของคุณ ถ้าคุณนั่งที่นั่งคนขับ คุณก็จะเห็นมุมนึง ถ้าคุณนั่งที่นั่งเบาะหลัง คุณก็จะเห็นอีกมุมนึง และถ้าคุณนั่งดู Uber จากหน้าจอสำนักงาน คุณก็จะเป็นอีกมุมนึง” บางครั้งเราต้องนั่งให้ครบทุกที่ เพื่อจะได้เข้าใจทุกมุมที่ๆนั่งเดิมไม่อาจให้เราได้ครับ

สรุปหนังสือ Uber กลยุทธ์ครองโลก

สรุปหนังสือ Uber กลยุทธ์ครองโลก
Wild Ride, Inside Uber’s Quest for World Domination
Adam Lashinsky เขียน
รัชยา เรืองศรี แปล
สำนักพิมพ์ Nation Books

อ่านสรุปหนังสือแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และ นักการตลาด New Gen ต่อ > https://www.everydaymarketing.co/category/book-recommended/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ > http://bit.ly/2TyXCSd

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่